“ยาแก้แพ้ตัวนี้ใช้ในคนท้องได้ไหมคะ?” “ยาจะมีผลอะไรกับเด็กไหมคะ?” 2 คำถามยอดฮิตของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการภูมิแพ้ เพราะ การใช้ยาในสตรีมีครรภ์เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะใช้ยาอะไรไม่ได้เลย มาดูกันว่า ยาแก้แพ้สำหรับแม่ตั้งครรภ์ ที่ใช้แล้วปลอดภัยต่อลูกในครรภ์มากที่สุด ควรเลือกใช้ยาอะไร? พร้อมวิธีหลีกเลี่ยงภูมิแพ้ระหว่างตั้งครรภ์
- กินยาแก้แพ้เป็นประจำ อันตรายไหม? แบบกินแล้วง่วง กับไม่ง่วง เลือกแบบไหนดีกว่ากัน?
- การเลือกใช้ยาแก้แพ้ในเด็ก ควรเลือกอย่างไรดี?
- ยาแก้แพ้ (ยาต้านฮีสตามีน) คืออะไร มีกี่ชนิด และผลข้างเคียงที่ควรรู้
แม่ท้องกินยาแก้แพ้ได้ไหม?
แม่ท้องสามารถกินยาแก้แพ้ได้ แต่ควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ที่ดูแลครรภ์ และเนื่องจากยาแก้แพ้ตามท้องตลาดก็มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น chlorpheniramine (CPM), loratadine, cetirizine และ fexofenadine เป็นต้น อาจทำให้คุณแม่สับสน เลือกไม่ถูก และบางตัวก็ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้รักษาอาการแพ้ในช่วง 3 เดือนแรกที่กำลังตั้งครรภ์ จึงเป็นเหตุผลที่แม่ท้องควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
“ลอราทาดีน” ยาแก้แพ้สำหรับแม่ตั้งครรภ์
แม้ว่า “ยาคลอร์เฟนิรามีน” สามารถช่วยแก้อาการแพ้ในหญิงตั้งครรภ์ได้ แต่ข้อเสียเปรียบที่สำคัญของยานี้คือ กินแล้วทำให้เกิดอาการง่วงนอน จึงได้มีการพัฒนายาแก้แพ้ชนิดใหม่ คือ “ยาลอราทาดีน (loratadine)” ที่ทำให้ง่วงนอนน้อยลง และมีความปลอดภัยสูง และยังเป็นยาที่ทางสมาคม American College of Allergy, Asthma & Immunology (ACAAI) แนะนำให้ใช้ในระหว่างตั้งครรภ์ได้
ดร. ภก. นิติ สันแสนดี อาจารย์พิเศษ ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้ให้ข้อมูลว่า “ยาลอราทาดีน” จัดเป็นยาในกลุ่ม B* ในทุกช่วงระยะของตั้งครรภ์ ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ และเมื่อมารดารับประทานยาแก้แพ้นี้ ตัวยาจะผ่านไปยังน้ำนมน้อยมาก จึงสามารถให้นมบุตรในระหว่างที่ใช้ยานี้ได้ แต่ควรเฝ้าระวังอาการที่ไม่พึงประสงค์ของทารก และไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องระยะยาวในระหว่างที่ให้นมบุตร
*U.S. Food and Drug Administration ได้จัดกลุ่มความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ไว้ 5 ประเภท คือ A, B, C, D และ X ซึ่ง category A จัดว่าปลอดภัยสุด และ X อันตรายที่สุดตามลำดับ (ยาแก้แพ้ที่ปลอดภัยต่อแม่ตั้งครรภ์ที่สุด จะอยู่ในกลุ่มB)
อ่านเพิ่มเติม -> รู้มั้ย ยาลอราทาดีน คืออะไร รักษาอาการอะไรได้บ้าง?
ในระยะ “สามเดือนแรก” ของการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งที่จะใช้ยาใดใด
เพราะช่วง 3 เดือนแรก (First trimester) เป็นระยะที่มีการก่อร่างสร้างอวัยวะต่าง ๆ หากมีสิ่งใดที่มากระทบกระเทือนโอกาสเกิดความผิดปกติก็จะสูงที่สุด ยาที่ใช้ได้จะมีจำกัดมาก ๆ โดยภาพรวมแล้วหากจำเป็นต้องใช้ยาใด ๆ ขอแนะนำให้ปรึกษาเภสัชกร คุณพยาบาล หรือแพทย์ก่อนทุก ๆ ครั้ง จะดีต่อตัวคุณแม่ และทารกในครรภ์ที่สุด
ยาแก้ภูมิแพ้ที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์
- เซทิริซีน (cetirizine) – ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในไตรมาสที่ 1 ส่วนไตรมาสอื่นควรใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากข้อมูลการใช้ในหญิงมีครรภ์มีจำกัด
- เฟกโซเฟนาดีน (fexofenadine) – ควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากข้อมูลการใช้ในหญิงมีครรภ์มีจำกัด ส่วนข้อมูลจากสัตว์ทดลองคาดว่ายามีความเสี่ยงปานกลางที่จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์
- ยาหดหลอดเลือด (decongestant) – ควรหลีกเลี่ยงใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะมักจะมีผลข้างเคียงต่อทารก
- บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) – จัดเป็นยาแก้แพ้ที่อยู่ในประเภท C ที่แม่ท้องควรระวังในการใช้ยานี้
- การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (allergen immunotherapy) – ไม่แนะนำให้เริ่มต้นการรักษานี้ หากกำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนว่าจะมีครรภ์ เพราะมีความเสี่ยงของการแพ้อย่างรุนแรง
ข้อพึงระวัง : ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงจากการแพ้อย่างรุนแรง (anaphylaxis) แม้จะพบได้น้อยมากก็ตาม
วิธีหลีกเลี่ยงภูมิแพ้ขณะตั้งครรภ์
หากคุณแม่ท่านใดที่มีอาการแพ้ขณะตั้งครรภ์ นอกจากเรื่องการใช้ยาแล้ว การป้องกันอาการแพ้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ การปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ สามารถช่วยให้ห่างไกลจากภูมิแพ้ได้
1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ – เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่แม่ตั้งครรภ์ควรรู้ว่าตนเองแพ้อะไร เมื่อรู้แล้วก็ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ
2. สวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ – เมื่อต้องออกไปเผชิญกับฝุ่นควันนอกบ้าน โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 แม่ตั้งครรภ์จำเป็นต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ เพื่อป้องกันฝุ่นพิษเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และยังช่วยปกป้องลูกน้อยในครรภ์อีกด้วย
3. ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ – เป็นวิธีที่ช่วยลดอาการคัดจมูก และมีน้ำมูกมากอย่างได้ผล น้ำเกลือที่ผ่านเข้าไปในจมูกจะชะล้างน้ำมูก หนอง และสารที่ไม่ต้องการออกจากโพรงจมูก ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้นและหายจากโรคได้เร็วขึ้น
4. นอนศีรษะสูง – เพื่อระบายน้ำมูก
5. ติดตั้งเครื่องกรองอากาศไว้ในห้องนอน หรือภายในบริเวณบ้าน – เครื่องกรองอากาศ เป็นอีกหนึ่งไอเทมที่ชาวภูมิแพ้ควรมีติดบ้านไว้ โดยเฉพาะในห้องนอน เพราะจะช่วยให้ฝุ่นควันในห้องลดน้อยลง โอกาสเกิดภูมิแพ้ก็ลดลงตามไปอีกด้วย
6. ไม่เครียดจนเกินไป และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ – รู้หรือไม่!? ผลการศึกษาจากงานวิจัย 21 ใน 25 เรื่อง พบว่าภาวะเครียดในมารดาที่ตั้งครรภ์ ส่งผลทำให้ลูกเป็นภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ เช่นโรคหืด ผื่นแพ้ผิวหนัง จมูกอักเสบภูมิแพ้ เนื่องจากภาวะจิตใจของคุณแม่นั้นมีผลต่อระบบอิมมูนของร่างกายของคุณลูกใน ครรภ์ ทำให้เกิดเป็นภูมิแพ้ได้ง่ายขึ้น (จากวารสาร Allergy ปี 2016) จึงสรุปได้ว่า “ยิ่งแม่เครียด ก็ยิ่งแพ้ไปถึงลูก” จึงควรหลีกเลี่ยงไม่เครียดจนเกินไปขณะตั้งครรภ์
อ้างอิง : 1. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 1/2 2. babycenter 3. รพ.กรุงเทพ 4. acaai