เด็กแก้มแดง ใครเห็นก็ว่าน่ารัก น่าเอ็นดู มีสุขภาพดี แต่ที่เห็นนั้นอาจไม่ใช่แก้มแดงที่เกิดจากสุขภาพผิวดีเสมอไป เพราะ อาจเกิดจาก ผื่นแดง คัน ที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ทางการแพทย์เรียกอาการเหล่านี้ว่า “โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ” โรคนี้จะมีสาเหตุ อาการ วิธีรักษาอย่างไร มาดูคำตอบกัน
- น้ำนมแม่ เสริมภูมิลูกพิชิตภูมิแพ้
- ภูมิแพ้อาหารในเด็ก จะรู้ได้ยังไงว่าเด็กแพ้อะไรบ้าง?
- 4 โรคภูมิแพ้ผิวหนังที่พบบ่อย มีอะไรบ้าง แตกต่างกันยังไง?
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก คืออะไร?
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ (Atopic Dermatitis / atopic eczema) เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่เป็น ๆ หาย ๆ เป็นแบบเรื้อรัง โดยจะเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่อายุ 2-3 เดือนแรก พบถึง 60% ในช่วงขวบปีแรกของผู้ป่วยเด็ก
เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ มักจะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมอยู่เป็นพื้นฐาน ถ้าความบกพร่องทางพันธุกรรมของพ่อแม่มีมาก เด็กคนนั้นก็อาจจะมีอาการมากตามเช่นกัน ยิ่งคนในครอบครัวมีประวัติกลุ่มโรคภูมิแพ้ เช่น ผื่นแพ้อักเสบ หอบหืด ลมพิษ ภูมิแพ้จมูกอักเสบ จะมีโอกาสเป็นโรคผื่นแพ้อักเสบสูงกว่าปกติ
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก มีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดโรคนี้ สามารถแบ่งออกเป็นปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก ดังนี้
- ชนิดที่เกิดจากปัจจัยภายใน เช่น ลักษณะทางพันธุกรรม ความผิดปกติของผิวหนัง ความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
- ชนิดที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ ความร้อน มลภาวะเป็นพิษ แพ้สบู่ น้ำ ผงซักฟอก เป็นต้น
โรคผื่นแพ้ผิวหนังในเด็ก มีโอกาสเกิดจาก ภูมิแพ้อาหารในเด็ก ได้เช่นกัน โดยมักพบมีอาการร่วมกับระบบอื่นของร่างกาย เช่น มีอาการหายใจครืดคราดหรือถ่ายอุจจาระมีเลือดปนร่วมด้วย ในกรณีนี้แพทย์อาจทำการซักประวัติอาหารเพิ่มเติม หาสาเหตุ เพื่อรักษาตามอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อไป
อาการ และบริเวณที่มักพบผื่นภูมิแพ้ในเด็กตามช่วงวัย
– ในเด็กเล็ก อายุ 3 เดือน ถึง 2 ปี
- บริเวณที่พบบ่อย มักเกิดบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะที่แก้ม และคาง เพราะเด็กมักจะเอาแก้มหรือศีรษะถูกไถกับหมอน ผ้า ที่นอน
- อาการที่พบ มีผื่น ผิวแดงบวม อาจมีตุ่มน้ำเหลือง ซึ่งในบางครั้งอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนร่วมด้วย ถ้าเป็นมากอาจพบรอยโรคตามตัวได้
– ในเด็กโต อายุ 2 ถึง 12 ปี
- บริเวณที่พบบ่อย มักจะเกิดในบริเวณซอกพับ ได้แก่ ซอกคอ ข้อพับ แขน และขาทั้ง 2 ข้าง
- อาการที่พบ มักมีผิวแห้ง และเกิดการระคายเคืองได้ง่าย
ผื่นจะเป็นมากเวลามีการเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น ฤดูร้อนทำให้เหงื่อออกมาก หรืออากาศแห้งในฤดูหนาว โดยทั่วไปผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ มักจะดีขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีอายุมากขึ้น เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นอาการมักหายไป หรือมีอาการลดน้อยลงอย่างมาก ในช่วงอายุ 12 ปี ถึงวัยผู้ใหญ่
การรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก
1. หัวใจหลักของการรักษา คือ การดูแลผิวของลูกน้อยให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอ เช่น
- ไม่ควรใช้ร้อนจนเกินไป และไม่ขัดถูผิวแรง ๆ ขณะอาบน้ำในเด็ก
- เลือกใช้สบู่อ่อนๆ ที่เหมาะสมกับผิวแพ้ง่าย
- ใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื่นผิวสำหรับเด็ก หลังอาบน้ำทันที อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
- ให้แพทย์สอนวิธีการทาครีม และสอนวิธีปฏิบัติตัวในการดูแลผิวอย่างถูกต้อง
2. ใช้ยาทาเพื่อลดการอักเสบตามที่แพทย์สั่ง ไม่ควรซื้อยามาทาเอง และควรขอคำแนะนำในการทายาอย่างถูกต้องจากแพทย์
3. รับประทานยา เพื่อลดอาการคัน โดยปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
- ลูกวัยเรียน อาจแนะนำให้กินยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วง เช่น ยาแก้แพ้ลอราทาดีน สามารถช่วยบรรเทาอาการคันทางผิวหนังได้
องค์การอนามัยโลกแนะ! ดื่มนมแม่ป้องกันโรคภูมิแพ้ผิวหนังได้
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) มีนโยบายส่งเสริม ให้นมแม่กับทารกเพียงอย่างเดียวในช่วงเวลา 6 เดือนแรก เพราะน้ำนมแม่มีคุณค่าสูง สามารถลดอัตราเสี่ยง โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ภูมิแพ้อาหาร และโรคหอบหืดได้ ส่วนเด็กที่ได้รับนมแม่น้อยกว่า 6 เดือน จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็ก 1.15-2.00 เท่า ของเด็กที่ได้รับนมแม่ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
อ่านเพิ่มเติม -> เคล็ดลับ! ชนะภูมิแพ้ เสริมภูมิลูกด้วยนมแม่
สามารถป้องกันไม่ให้เด็กเป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ได้หรือไม่?
แม้ในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการป้องกันโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็กได้แบบ 100% เพราะโรคนี้อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เกิดจากพันธุกรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็พอมีทางป้องกันไม่ให้อาการของโรคกำเริบหนัก หรือเป็นมากกว่าเดิม ดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงสภาพอากาศร้อน
- เลี่ยงการสัมผัสสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดผื่น
- เลือกใช้สบู่อ่อนในการอาบน้ำ ทำความสะอาดผิว
- ไม่ปล่อยให้ผิวเด็กแห้ง ทาครีมที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้เด็กเสมอ
- ตัดเล็บเด็กให้สั้นอยู่เสมอเพื่อป้องกันการเกาที่รุนแรง
ข้อควรระวัง! เมื่อเป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ไม่ควรเกา เพราะการเกาจะส่งผลให้ผิวหนังสูญเสียน้ำเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นการชักนำให้เชื้อโรคเข้าสู่ผิวหนังทางรอยแผล หรือรอยถลอดจากการเกา อันอาจนำมาซึ่งการติดเชื้อ และกระตุ้นให้โรคเป็นมากขึ้น
บทสรุป โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก ถือเป็นโรคเรื้อรัง แต่มีความรุนแรงแตกต่างกันในเด็กแต่ละคน พ่อแม่ หรือผู้ปกครองควรรู้วิธีดูแลผิวหนังเด็ก และแนะนำให้เด็กเลี่ยงการสัมผัสสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดผื่น ร่วมกับติดตามการรักษากับแพทย์อย่างใกล้ชิด ก็จะช่วยให้อาการแพ้ดีขึ้นได้ และกว่า 80% จะหายได้เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
อ้างอิง : 1. สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย 2. รพ.ศิครินทร์ 3. หัวเฉียวแพทย์แผนจีน 4. Sutat Clinic