เคยไหม? อาหารที่เคยชอบ เครื่องดื่มที่ดื่มบ่อย ๆ จู่ ๆ ก็เกิดอาการแปลก ๆ ขึ้นกับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นผื่นลมพิษ อาการท้องผูก จุกเสียดแน่นท้อง หรืออาจถึงขั้นท้องเสีย ทั้ง ๆ ที่ก็เคยทานมาแต่ไหนแต่ไร โดยที่ไม่มีอาการแพ้ ทราบหรือไม่ว่าอาการลักษณะนี้ในทางการแพทย์เรียกว่า กลุ่มอาการภูมิแพ้อาหารแฝง ซึ่งพบได้ประมาณ 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรไทย และมักพบบ่อยขึ้นโดยเฉลี่ยกว่า 50 – 80 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มผู้ที่เคยมีโรคลำไส้แปรปรวน ซึ่งในบทความวันนี้ เราจึงอยากชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับอาการ ภูมิแพ้อาหารแฝง ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสมหากพบเห็นอาการดังที่ว่ามา
- ภูมิแพ้อาหาร ต้องใส่ใจกว่าที่คิด กินผิดอาจถึงชีวิตได้! สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
- ภูมิแพ้อาหารทะเล รักษาได้ไหม ป้องกันได้เปล่า? มาดูคำตอบกัน
- เป็นภูมิแพ้ ควรเลือกกินยังไงดี?
ภูมิแพ้อาหารแฝง คืออะไร และแตกต่างจากการแพ้อาหารทั่วไปอย่างไร?
ภูมิแพ้อาหารแฝง (Food Intolerance) คือสภาวะที่กลไกในร่างกายไม่สามารถย่อยอาหาร หรือเมตาบอไลท์องค์ประกอบของอาหารบางชนิดที่เข้าสู้ร่างกายได้ จนทำให้เกิดความผิดปกติในระบบกระเพาะอาหาร ลำไส้ ซึ่งส่วนใหญ่อาการที่พบจะพบบริเวณทางเดินอาหารเป็นส่วนใหญ่ เช่น อาการท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย มีลมแก๊สในทางเดินอาหาร ตลอดจนส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
และคงต้องขออธิบายให้เข้าใจก่อนว่า มนุษย์ทุกคนบนโลกมีภาวะภูมิแพ้อาหารอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว หากแต่บางคนอาจจะแสดงอาการ หรือบางคนจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกให้เห็น ซึ่งผู้ที่ไม่มีอาการแสดงออกนั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องดีเท่าใดนัก เพราะกว่าจะรับรู้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น จึงถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่ารายที่แสดงอาการ
โดยความแตกต่างของอาการแพ้ที่เกี่ยวข้องกับอาหารทั้งสองประเภทนี้อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ
– ภูมิแพ้อาหารแฝง (Food Intolerance) ส่วนมากมักไม่แสดงอาการในทันทีทันใด อาการจะเริ่มปรากฏก็ต่อเมื่อรับประทานอาหารชนิดนั้นต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน ๆ ทานบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ หรือทานในปริมาณมาก ๆ ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะเกิดหลังทานอาหารไปแล้วอย่างน้อย 2 วัน โดยที่อาการโดยรวมไม่ได้มีความรุนแรง อาจเพียงแค่ก่อให้เกิดความรำคาญเล็กน้อย จนทำเอาหลายต่อหลายคนสับสนว่า “นี่เราแพ้อาหารประเภทนี้หรือไม่”
– ส่วนภูมิแพ้อาหาร (Food Allergy) โดยมากมักแสดงความผิดปกติแบบเฉียบพลัน อาจเกิดแบบทันทีหรือภายใน 2-4 ชั่วโมง หลังได้รับสารประกอบที่ทำให้แพ้เข้าสู่ร่างกาย ทั้งนี้เพราะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะแสดงปฏิกิริยาต่อต้านกับสารประกอบที่ทำให้แพ้ ออกมาในรูปแบบของความผิดปกติตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาการผื่นลมพิษ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก บริเวณเปลือกตาหรือปากบวม รวมถึงอาจหมดสติ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
กลไกการเกิดของภาวะ ภูมิแพ้อาหารแฝง
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารชนิดนั้นได้ตามปกติเนื่องจากการขาดเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยอาหารประเภทดังกล่าว ทำให้การย่อยอาหารในระบบไม่สมบูรณ์ ร่างกายดูดซึมไปใช้ไม่ดีโมเลกุลจากอาหารที่ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบ จึงหลุดลอดผ่านผนังลำไส้เข้าไปในกระแสเลือด จนทำให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน โดยการผลิตอิมมูโนโกบูลิน ออกมาต่อต้านอาหารชนิดนั้น จนทำให้เกิดอาการแพ้ปรากฏตามที่เราทราบกัน
นอกจากนี้ในสภาวะที่ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ เช่น กำลังตกอยู่ในความเครียด ทำให้ตับอ่อนไม่สามารถผลิตเอมไซด์ได้ตามปกติ หรือแม้แต่จากพฤติกรรมการเร่งรีบในการรับประทานอาหาร ทำให้เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด จนทำให้ช่องว่างระหว่างเซลล์ผนังเยื่อบุลำไส้หลวม จึงเป็นช่องทางให้โมเลกุลที่ยังไม่ย่อย หรือสิ่งแปลกปลอมสามารถเล็ดลอดเข้าสู่กระแสเลือด จนเกิดการอักเสบแบบทีละเล็กทีละน้อยอย่างไม่ทันรู้สึกตัว กว่าจะรู้อีกทีอาการแพ้ก็ปรากฏให้เห็นเด่นชัดจนเกิดความรำคาญแล้ว
กล่าวโดยสรุปคือ อาการภูมิแพ้อาหารแฝงมักมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับภาวะลำไส้รั่วซึม และภาวะลำไส้รั่วซึมก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพ้อาหารแบบแฝงได้นั่นเอง
ลักษณะอาการแพ้จากภาวะภูมิแพ้อาหารแฝงที่พบ มีดังนี้
- ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวน (IBS) ลำไส้อักเสบ ท้องผูก จุกเสียดแน่นท้อง บวมน้ำ น้ำหนักขึ้นง่าย ที่เกิดจากภาวะย่อยนมวัว น้ำตาลฟรักโทส หรืออาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตไม่ได้ โดยคนไข้มักจะมีอาการทางเดินอาหารหลังรับประทาน อาหารประเภทดังกล่าวนี้
- ปวดศีรษะเรื้อรัง ไมเกรน และภาวะสมาธิสั้น กระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ ที่เกิดขึ้นหลังจากทานอาหารกลุ่ม High Biogenic Amine เช่น แอลกอฮอล์, ช็อกโกแล็ต, ชีส, ผงชูรส, แอสปาแตม, คาเฟอีน, ถั่ว และอาหารที่มีส่วนผสมของไนไตรท์สูง
- สิว ผื่นลมพิษเรื้อรัง ผิวหนังอักเสบแข็ง สะเก็ดเงิน แผลพุพอง ที่เกิดจาก ภาวะที่ร่างกายย่อยแอลกอฮอล์ไม่ได้
- ระบบหายใจ ภูมิแพ้ หอบหืด ไอเรื้อรัง ไซนัส คัดจมูก น้ำมูกไหล
- กล้ามเนื้อและกระดูก ปวดข้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริว รูมาตอยด์
การดูแล และป้องกันจากภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง
1. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ง่าย เช่น ผงชูรส คาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารให้ความหวานเทียม อาหารหมักดอง สีผสมอาหาร สารกันบูด หรือสารปรุงแต่งกลิ่นรส ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบย่อยอาหารในร่างกายได้ง่าย รวมถึงการพกยาแก้แพ้ติดตัวในกรณีเกิดอาการแพ้อาหารที่ไม่คุ้นเคย และหากมีอาการแพ้อาหารที่รุนแรงควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจสอบและวินิจฉัยอาการเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน
2. การปรับพฤติกรรมการกิน อย่างที่กล่าวในข้างต้น ภาวะภูมิแพ้อาหารแฝงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับพฤติกรรมการบริโภค และแน่นอนว่าการดูแลรักษาจึงทำได้โดยไม่ต้องใช้ยาแก้แพ้ เพียงแค่หันมาเปลี่ยนพฤติกรรม งดเว้น หรือหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่แพ้อย่างน้อย 6 เดือน ก็จะสามารถกลับมาทานอาหารชนิดนั้นได้ ซึ่งข้อควรระวังคือ การรับประทานอาหารชนิดที่เคยแพ้แต่พอดี ไม่ควรทานซ้ำ ๆ หรือในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะโอกาสที่จะกลับมาแพ้ได้อีกเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
3. การตรวจ Food intolerance Test ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ซึ่งในปัจจุบัน หลายโรงพยาบาล มีแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงไว้ให้บริการ โดยขั้นตอนการไปตรวจก็ไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด ไม่ต้องงดน้ำหรืองดอาหารก่อนเข้าตรวจ ซึ่งหลังจากตรวจไปแล้วผลจะทราบภายใน 1 สัปดาห์ เพียงเท่านี้คุณก็จะทราบความเสี่ยงในการเกิดภูมิแพ้อาหารแฝงถึงกว่า 200 ชนิดเลยทีเดียว ซึ่งสามารถช่วยให้คุณป้องกันภาวะหรือความเสี่ยงในการแพ้อาหารชนิดเหล่านั้นได้ รวมถึงมีประโยชน์สำหรับวางแผนโภชนาการของคุณให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ป้องกันอาการป่วยซ้ำซากและเรื้อรัง อีกทั้งยังป้องลดโอกาสในการเกิดโรคร้ายในอนาคตนั่นเอง
ความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้จำนวนคนที่เชื่อว่าตนเองแพ้อาหารได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้อาการภูมิแพ้อาหารแฝงส่วนใหญ่จะไม่ได้มีความรุนแรง แต่ก็ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และการมีสุขภาพที่สมบูรณ์ดีอย่างยั่งยืน เราทุกคนจึงควรหันมาใส่ใจ และสังเกตความผิดปกติของร่างกายที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำ ๆ โดยยังหาสาเหตุไม่พบ และหนึ่งในสาเหตุดังกล่าวที่ว่านั้นอาจมาจากอาหารที่คุณรับประทานเข้าไปนั่นเอง
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife