“สวัสดีค่ะ เราติดต่อมาจากศาลอาญา คุณมีหมายศาลเรียกนะคะ” “สวัสดีครับ พัสดุของคุณมียาเสพติดผิดกฎหมาย ขอให้มารายงานตัวที่…” ประโยคยอดฮิต ที่แก๊งคอลเซนเตอร์มักใช้หลอกเหยื่อเหล่านี้ เราฟังแล้วต้องมีสติให้ดี เพราะ ถ้าเผลอหลงเชื่อ อาจทำให้คุณหมดตัวได้! และเพื่อป้องกันการถูกหลอกเงิน วันนี้ Ged Good Life จึงขอแนะนำ “วิธีรู้เท่าทันแก๊งคอลเซ็นเตอร์” ไม่ว่าจะเป็นมุขเด็ดที่เหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชอบใช้ และข้อควรรู้อื่น ๆ มาติดตามกันเลย!
วิธีรู้เท่าทันแก๊งคอลเซ็นเตอร์
แก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center Gang) คือ ขบวนการหลอกลวงเหยื่อทางโทรศัพท์ โดยสร้างสถานการณ์ปลอมขึ้นมาให้เหยื่อเกิดความตื่นตระหนก หรือเข้าใจผิดว่าได้รับผลประโยชน์บางอย่าง และเมื่อเหยื่อหลงเชื่อ ก็จะดำเนินการหลอกให้โอนเงินในลำดับถัดไป…
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นแก๊งคอลเซนเตอร์ โทรมาหาเรา?
1. ส่วนใหญ่เป็นเบอร์จากต่างประเทศ ซึ่งมักจะขึ้นต้นด้วย +830, +870 หรือเป็นเบอร์มือถือ หรือเบอร์จากต่างจังหวัดที่ไม่คุ้นเคย
วิธีแก้สถานการณ์
- ถ้าเจอเบอร์แปลก ๆ โทรมา ให้เราเอาเบอร์นั้นไปค้นหาใน Google ว่าตรงกับองค์กรที่แก๊งคอลเซนเตอร์อ้างอิงหรือไม่
- ให้วางสายทิ้งไปเลย ไม่ต้องไปสนใจ
2. มักเป็นระบบอัตโนมัติที่แอบอ้างว่ามาจากบริษัทขนส่ง หรือธนาคารชื่อดังรายใหญ่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ พร้อมด้วยข้ออ้างต่าง ๆ ที่ทำให้เราตื่นตกใจ เช่น ส่งพัสดุผิดกฎหมายไปยังต่างประเทศ และกำลังจะถูกดำเนินคดี, บัญชีธนาคารพัวพันกับธุรกิจผิดกฎหมาย, อ้างว่าเราเป็นหนี้กับหน่วยงานรัฐต้องชำระโดยด่วน เป็นต้น
3. มิจฉาชีพมักใช้ระบบตอบรับ และแนะนำตัวว่าติดต่อจาก “ศาลอาญาสูงสุด” และให้เหยื่อกด 9 เพื่อคุยกับโอเปอเรเตอร์ที่เป็นมนุษย์ ความจริงคือ ประเทศไทยไม่มี “ศาลอาญาสูงสุด” มีแต่ “ ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลปกครองสูงสุด”
4. มิจฉาชีพจะโน้มน้าวให้เหยื่อโอนเงิน ความจริงคือ ส่วนราชการไม่มีนโยบายให้ประชาชนโอนเงินแบบลอย ๆ เข้าบัญชีบุคคลธรรมดาคนใดทั้งสิ้น
รวม 14 มุกที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักใช้หลอกลวง
จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่ารูปแบบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกลวงประชาชน จำนวน 14 รูปแบบ ได้แก่
- หลอกขายของออนไลน์
- Call Center หลอกลวงข่มขู่ อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ให้เหยื่อโอนเงินให้
- เงินกู้ออนไลน์ดอกเบี้ยโหด
- เงินกู้ออนไลน์ที่ไม่มีจริง (เงินกู้ทิพย์)
- หลอกให้ลงทุนต่างๆ โดยอ้างผลตอบแทนสูงที่ไม่มีจริง
- หลอกให้เล่นพนันออนไลน์
- Romance scam หรือ Hybrid scam หลอกให้รักลวงเอาทรัพย์สิน ลวงให้ลงทุน
- ลิงก์ปลอมหลอกแฮกข้อมูลโทรศัพท์
- แชท Line/Facebook ปลอม Account ลวงยืมเงิน
- หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว – OTP
- ข่าวปลอม (Fake news) – ชัวร์ก่อนแชร์
- หลอกลวงเอาภาพโป๊เปลือยเพื่อใช้แบล็คเมล์
- โฆษณาออนไลน์ลวงทำงาน หลอกบังคับทำงานในต่างประทศ
- ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน หรือฟอกเงิน ซึ่งสำนักงานฯ และโอเปอเรเตอร์จะช่วยกันประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลอุบายของมิจฉาชีพ
ถ้าหลงเชื่อโอนเงินให้มิจฉาชีพไปแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำคืออะไร?
พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ตอท.) ได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้
สำหรับประชาชนหลงเชื่อโอนเงินให้มิจฉาชีพไปแล้ว สามารถแจ้งความทางกับตำรวจไซเบอร์ ได้ที่ thaipoliceonline.com จากนั้นทางเจ้าหน้าที่จะประสานไปกับทางเครือข่าย ซึ่งในอดีตเราให้ทางผู้เสียหายไปที่ธนาคารอายัดบัญชีเอง แต่ปัจจุบันเรามีการทำเอ็มโอยูกับทุกธนาคาร เมื่อผู้เสียหายแจ้งมาก็จะทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ถึงธนาคารทันทีทำให้การอายัดบัญชีมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว ทำให้คนร้ายไม่สามารถโอนเงินข้ามบัญชีได้ หากต้องการถอนอายัดต้องไปแสดงตัวตนกับทางธนาคาร แต่ไม่สามารถทำได้เพราะเป็นบัญชีที่ซื้อมา
วิธีป้องกันตน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซนเตอร์
– ควรมีสติให้มาก อย่าตื่นกลัว นึกทบทวนว่าสิ่งที่มิจฉาชีพบอกนั้นมีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
– อย่าให้ข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลทางการเงิน ไม่ทำรายการที่ตู้เอทีเอ็ม หรือเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ
– ควรสอบถามข้อเท็จจริงกับสถาบันการเงินที่ถูกอ้างถึง หรือใช้บริการ โดยติดต่อฝ่ายบริการลูกค้า
– ควรถามชื่อ นามสกุล และเบอร์โทรติดต่อของผู้ที่โทรมา ถึงแม้จะไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง แต่อย่างน้อยก็ทำให้พวกมิจฉาชีพรู้ตัวว่าเรารู้ทันเกม
– หากมั่นใจว่าเป็นแก๊งคอลเซนเตอร์โทรมา ให้วางสายทิ้ง ไม่ต้องไปพูดคุยด้วย แล้วจัดการบล็อคเบอร์โทรนั้น (blacklist number)
– ติดตามข่าวสารเรื่องแก๊งคอลเซนเตอร์เป็นระยะ จากช่องทางโซเชียลมีเดีย หรือทางทีวี ว่าแก๊งคอลเซนเตอร์มีมุกอะไรใหม่ ๆ มาอีกบ้าง
อ้างอิง : tnnthailand