ปลายฝนต้นหนาว คือช่วงรอยต่อระหว่างฤดูฝนกับฤดูหนาว และแน่นอนว่าอากาศในช่วงนี้ จะลดต่ำลงเกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทย แถมยังมีมรสุมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สภาพอากาศแปรปรวนบ่อย เป็นสาเหตุทำให้เจ็บป่วยได้หลายโรค! วันนี้ Ged Good Life จึงได้รวบรวม 8 โรคยอดฮิต ช่วงปลายฝนต้นหนาว มาฝาก พร้อมคำแนะนำให้การดูแลสุขภาพในช่วงนี้ มาติดตามกันเลย…
– 6 โรค ทำให้ไอบ่อย ไอกำเริบ ในหน้าฝน
– 8 โรคหน้าหนาว ที่ต้องระวัง! พร้อมอาการบอกโรค
– 4 โรคภูมิแพ้ ยอดฮิตของคนไทย! สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
8 โรคยอดฮิต ช่วงปลายฝนต้นหนาว
1. โรคไข้หวัดใหญ่ (Flu)
โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) สามารถติดต่อกันได้ง่าย จากการไอ จาม ใส่กัน โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย
อาการ : หลังรับเชื้อมักมีอาการทันที หรือประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการไข้สูง 38-41 องศาเซลเซียส หลายวัน ตัวร้อน หนาวสั่น มีน้ำมูก ปวดหัวรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก เบื่ออาหาร
วิธีรักษา : รักษาตามอาการ หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ ห้ามใช้ยาแอสไพริน หากทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ภายใน 2 วัน ควรรีบพบแพทย์
2. โรคปอดบวม (Pneumonia)
โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ เป็นโรคที่มีการติดเชื้อหรืออักเสบของปอด เกิดได้จากการติดเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา โรคนี้พบได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะจะพบมากในเด็กเล็ก
อาการ : ไอ มีเสมหะ มีไข้ เหนื่อย หายใจลำบาก หายใจหอบเร็ว เจ็บหน้าอก นอกจากนี้บางคนอาจมีอาการอื่น เช่น ปวดท้อง อาเจียน หรือถ่ายเหลวร่วมด้วย โดยเฉพาะในเด็ก
วิธีรักษา : ทุกคนที่มีอาการไข้ไอ เหนื่อย หรือหายใจเร็ว ควรเข้าพบแพทย์
3. โรคไข้หวัด (Common cold)
ไข้หวัด เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบริเวณ ทางเดินหายใจส่วนบน เช่นจมูก คอ ไซนัส และกล่องเสียง เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัด มีสายพันธุ์ย่อย ๆ มากกว่า 200 ชนิดเลยทีเดียว แต่ไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัดได้มากที่สุด คือ ไรโนไวรัส
อาการ : มีไข้ต่ำ ๆ น้ำมูกไหล คัดจมูก ไอแห้ง ๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย
วิธีรักษา : นอนพักผ่อนให้มาก ๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอ กินยาลดไข้ ห้ามใช้ยาแอสไพริน
อ่านเพิ่มเติม -> โรคไข้หวัด โรคยอดฮิตตลอดปี! เป็นกี่วันหาย กินยาอะไรดี? สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
4. โรคหอบหืด (asthma)
โรคหอบหืด ก็เป็นอีกหนึ่งภัยร้ายที่มาพร้อมหน้าฝน เพราะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความชื้นที่ทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย ล้วนเป็นสาเหตุหลักที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหอบหืดเฉียบพลัน โรคหอบหืดยังไม่มีการรักษาโรคให้หายขาดได้
อาการ : หอบ หายใจลำบาก ไอในตอนเช้า ตอนกลางคืนมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล โดยทุก 2 ใน 3 รายมักมีโรคภูมิแพ้หูคอจมูกร่วมด้วย
วิธีรักษา : ผู้ป่วยโรคหอบหืด จะมียาประจำในการรักษา ได้แก่ ยากิน ยาฉีด และยาสูดพ่น
อ่านเพิ่มเติม -> โรคหอบหืด รู้ทันอาการ เซฟชีวิตคุณได้!
5. โรคไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus)
ในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ เป็นฤดูกาลระบาดของเชื้อไวรัส RSV โดยเฉพาะในทารก หรือเด็กเล็ก จะเป็นโรคนี้กันเยอะมาก โดยเชื้อนี้สามารถทำให้เกิดอาการปอดอักเสบได้
อาการ : มีไข้ ไอ จาม หอบเหนื่อย หายใจเร็ว มีเสมหะมาก มีเสียงหวีดในปอด หากมีอาการคล้ายปอดอักเสบร่วมด้วยควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์
วิธีรักษา : รักษาแบบประคับประคองตามอาการป่วย เช่น ให้ ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม ยาแก้หวัด ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม -> วิธีป้องกัน ไวรัส RSV มัจจุราชคร่าลูกน้อย!
6. โรคอุจจาระร่วง (diarrhea)
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนทำให้มีความชื้นในอากาศมากเชื้อโรคเจริญเติบโต และแพร่เชื้อได้ดี ทำให้อาหาร และน้ำดื่ม มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดโรคของระบบทางเดินอาหารได้ง่าย โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
อาการ : ถ่ายเหลว 3 ครั้งขึ้นไป คลื่นไส้ มีไข้สูง อาเจียนบ่อย รับประทานอาหารไม่ได้
วิธีรักษา : ดื่มเกลื่อแร่โออาร์เอส รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่ายมากกว่าปกติ
7. โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot Mouth Disease)
อีกหนึ่งโรคฮิตของเด็กในหน้าฝน สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส มีหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง ติดต่อผ่านทางระบบทางเดินอาหาร และการหายใจ โรคมือเท้าปากมักระบาดในโรงเรียน ชั้นอนุบาลเด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก
อาการ : มีไข้ เจ็บปาก น้ำลายไหล มีผื่นเป็นจุดแดง หรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า กินอาหารได้น้อย อาจมีผื่นตามลำตัว
วิธีรักษา : โรคมือเท้าปาก ยังไม่มียารักษาจำเพาะ หลักการรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาชาเฉพาะที่สำหรับแผลในปาก ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ
อ่านเพิ่มเติม -> โรคมือเท้าปาก โรคร้ายที่มากับหน้าฝน!
8. โรคหัด (Measles / Rubella)
โรคหัดถือเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในเด็กเล็กรวมทั้งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของเด็ก การติดเชื้อเกิดจากการรับเชื้อไวรัสผ่านทางอากาศ การสัมผัสละอองน้ำลาย และน้ำมูกของผู้ป่วย ซึ่งช่วง 4 วัน ทั้งก่อน และหลังเกิดผื่นนั้น ถือเป็นระยะเวลาของการแพร่เชื้อ
อาการ : มีไข้สูง มีน้ำมูก ไอ ตาแดง มีผื่นเป็นปื้นสีแดง บริเวณไรผม มาที่หน้า ลำตัว แขน ขา
วิธีรักษา : ยังไม่มีตัวยาที่สามารถรักษา หรือกำจัดเชื้อไวรัสโรคหัดอย่างเฉพาะเจาะจง ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการดื่มน้ำวันละ 6–8 แก้ว พักผ่อนให้เพียงพอ หากมีผื่นขึ้น ควรอยู่ในบ้าน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4 วันหลังจากผื่นเริ่มปรากฏ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้คนรอบข้าง
วิธีดูแลตนเองในช่วง ปลายฝนต้นหนาว
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมทั้งไม่ใช้สิ่งของรวมกับผู้ป่วย เช่น จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ ถ้ามีผู้ป่วยในบ้าน ควรให้ปิดปากด้วยหน้ากากอนามัย เวลาไอ หรือจาม
2. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
3. ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนแออัดอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
4. กินอาหารที่มีประโยชน์ งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากจะทำให้ระบบภูมิต้านทานโรคในร่างกายต่ำลง และติดเชื้อได้ง่าย
5. ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่น และไม่ใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้น
5. เมื่อเริ่มมีอาการไข้หวัด ควรนอนพักมาก ๆ และดื่มน้ำบ่อย ๆ ถ้าตัวร้อนมาก กินยาลดไข้ และใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือถ้าอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีอาการไอมากขึ้น แน่นหน้าอก มีไข้นานเกิน ๒ วัน ควรไปพบแพทย์ทันที
6. หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ควรไปพบแพทย์ทันที
7. เตรียมพร้อมใน 5 สิ่ง ได้แก่…
- เตรียมเสื้อผ้า และผ้าห่มกันหนาว
- เตรียมยารักษาโรคเรื้อรังที่จำเป็น
- เตรียมของใช้ที่จำเป็นสำหรับตนเอง และครอบครัว
- เตรียมฟังข้อมูลข่าวสาร เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
- เตรียมตัว โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยง ควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลทุกปี
อ้างอิง : 1. รพ. ราชวิถี 2. กรมการแพทย์ 3. รพ. เวชศาสตร์เขตร้อน 4. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 5. รพ. ขอนแก่น ราม 6. สธ. จ.สระบุรี
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife