ใกล้เปิดเทอม เป็นช่วงที่พ่อแม่กำลังวุ่นวายเพื่อเตรียมตัวลูกสำหรับไปโรงเรียน แต่เรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ การดูแลสุขภาพลูกในช่วงเปิดเทอม เด็กหลายคนไปโรงเรียนแล้วป่วยกลับมาตลอด โรคเด็กช่วงเปิดเทอม ที่ต้องเฝ้าระวังมีอะไรบ้าง พ่อแม่จะรับมืออย่างไรดี
3 โรคเด็กช่วงเปิดเทอม ที่พบเจอบ่อย
1. โรคมือเท้าปาก โรคมือเท้าปาก (Hand, Foot and Mouth Disease) เป็น โรคเด็กช่วงเปิดเทอม ที่พบเจอส่วนใหญ่ในเด็กเล็ก และยิ่งเมื่อเริ่มเข้าโรงเรียน มือเท้าปากเป็นโรคติดต่อจากกลุ่มเชื้อไวรัสเอนเทอโรไวรัส (enterovirus) แพร่ระบาดได้เกือบทั้งปี แต่ที่พบมากคือในช่วงหน้าฝน หรือเปิดเทอมใหญ่ของเด็ก ๆ นั่นเอง
โรคมือเท้าปาก ติดต่อกันได้จากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ละอองจากการไอจาม แผล หรืออุจจาระ โรคมือเท้าปาก ไม่มียารักษาเฉพาะ แต่ส่วนใหญ่เด็ก ๆ จะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ คอยดูแลรักษาตามอาการ ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากเชื้อ อีวี 71(EV 71) ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
อ่านบทความ มือเท้าปาก ที่นี่ –> https://www.gedgoodlife.com/health/5030-มือเท้าปาก
อาการของมือเท้าปาก
- มีอาการไข้ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยไม่สบายตัว และเจ็บคอ
- เริ่มมีแผลในปาก เจ็บแผล แผลเป็นจุดแดง ๆ มีเม็ดพองใส ต่อมาจะแตกออกกลายเป็นแผล พบส่วนใหญ่ที่ในปาก ลิ้น กระพุงแก้ม
- บริเวณผิวหนังอาจมีผื่นเป็นจุดแดง นูน ไม่มีอาการคันที่ผื่น ส่วนใหญ่พบที่ฝ่าเท้า
วิธีป้องกันโรคมือเท้าปาก
- ให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ
- สวมใส่หน้ากากอนามัย ปิดปาก ป้องกันการรับเชื้อจากการไอจาม
- หยุดเรียน ถ้าที่โรงเรียนมีการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปาก
- ทำความสะอาดของเล่น ข้าวของเครื่องใช้เป็นประจำ
2. เชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) เป็นอีกหนึ่ง โรคเด็กช่วงเปิดเทอม ที่เด็ก ๆ ป่วยกันเยอะ โดยไวรัส RSV พบการระบาดได้เกือบทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงอากาศชื้นอย่างเช่นในหน้าฝน ซึ่งไวรัส RSV ติดต่อกันผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ หรือทางน้ำลาย น้ำมูก หรือจับสัมผัสของเล่น สิ่งของที่มีเชื้อไวรัสก็ติดต่อกันได้
การติดเชื้อไวรัส RSV อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ ที่พบมากคือ หูชั้นกลางอักเสบ หรือ ติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลมอักเสบ หรือปอดบวม
อ่านบทความเรื่อง RSV เพิ่มเติมได้ที่ —> https://www.gedgoodlife.com/health/6623-ไวรัส-rsv
อาการเมื่อติดเชื้อไวรัส RSV
- ช่วงแรกมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ซึม กินอาหารได้น้อย
- หลังจากนั้น 1-2 วัน มีไข้ มีอาการไอรุนแรง หายใจลำบาก หายใจเร็ว มีเสียงวี๊ดเวลาหายใจ
วิธีป้องกัน ไวรัส RSV
- ล้างมือ ฟอกสบู่ให้สะอาด
- ไม่ให้คนแปลกหน้า หรือผู้ใหญ่ที่ป่วย จูบ หอมแก้ม สัมผัสลูกโดยตรง อาจทำให้ลูกติดเชื้อไวรัส RSV ได้
- ทำความสะอาดข้าวของ เครื่องใช้ ของเล่น เฟอร์นิเจอร์เป็นประจำ
- ดูแลบ้านให้ปลอดโปร่ง ระบายอากาศ
- ถ้าที่โรงเรียนมีเด็กป่วยจากไวรัส RSV ควรให้ลูกหยุดเรียนเพื่อป้องกันการติดต่อ
3. ไข้หวัด เป็นอาการป่วยที่เจอได้ทุกฤดูกาล แต่ช่วงเปิดเทอม ในโรงเรียนเด็ก ๆ มารวมกันมาก ๆ มีโอกาสเกิดไข้หวัดติดต่อกันเพิ่มขึ้น ไข้หวัดจากเชื้อไวรัสไม่มียารักษา แต่ว่าสามารถหายได้เอง เพียงดูแลรักษาตามอาการ ให้ยาแก้ไอ ยาลดไข้ เช็ดตัวเมื่อมีไข้ แต่หากลูกมีไข้สูง ซึม อ่อนเพลียมาก ควรพาไปพบแพทย์
อาการของไข้หวัด
- มีอาการไอ จาม เจ็บคอ
- อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
- มีไข้
วิธีป้องกันโรคไข้หวัด
- ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
- ทำความสะอาดอุปกรณ์ ของเล่นของลูก ทุกครั้งหลังใช้งาน
- หากมีคนใกล้ชิดเป็นไข้หวัดก็ไม่ควรให้คลุกคลีกับลูกด้วย
- ให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ ก่อนกินอาหาร หยิบของเข้าปาก
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี