คนไทยอาจตาบอดได้ง่ายขึ้นในยุคดิจิตอล ไม่ใช่คำกล่าวอ้างที่เกินจริง เพราะ คนไทยมีสถิติติดการเล่นโซเชียลมีเดียผ่านทางโทรศัพท์มือถือเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก!! ทำให้สายตาต้องเพ่งหน้าจออยู่แทบจะทั้งวันเลยทีเดียว วันนี้ GedGoodLife จึงขอแนะนำ วิธีดูแลสุขภาพตา และอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพตา โดยจักษุแพทย์ไทย
- เช็กให้ชัวร์! ตาแดงจากโควิด VS ภูมิแพ้ขึ้นตา ต่างกันยังไง รักษายังไงดี?
- มีอาการน้ำตาไหล ตาแดง คันตา อยู่บ่อย ๆ ใช่อาการ โรคภูมิแพ้ขึ้นตา หรือเปล่า?
- ขอบตาดำคล้ำ เพราะนอนไม่พอ อะหรือเป็น ภูมิแพ้ กันแน่!?
3 โรคทางสายตา ในยุคดิจิตอล!
การใช้งานคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ทำให้สายตาต้องเพ่งหน้าจออยู่แทบจะตลอดเวลา ยิ่งเพ่ง ก็ยิ่งมีอาการตาล้า ตาพร่า ตาเบลอ ปวดตา หรือแสบตา และอาจเป็นสาเหตุของ 3 โรคทางสายตา ดังต่อไปนี้
1. โรคตาจากจอคอมพิวเตอร์ (Computer vision syndrome)
โรคตาจากจอคอมพิวเตอร์ (CVS) เป็นภาวะที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลาติดต่อกันนานเกินไป และแสงไฟไม่เพียงพอ ซึ่งพบว่าผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเกิน 2 ชั่วโมง จะมีความเสี่ยงที่จะเป็น Computer Vision Syndrome ได้สูง
อาการของ Computer Vision Syndrome
- ตาพร่ามัว มองภาพไม่ชัด หรือเห็นภาพซ้อน
- อาการปวดบริเวณรอบดวงตา
- ตาฝืดแห้ง
- การระคายเคืองตา
- ตาแดง หรือตาแห้ง
- ปวดศีรษะ ปวดคอ หรือปวดหลัง
2. โรคจอประสาทตาเสื่อม (Age-Related Macular Degeneration or AMD)
โรคจอประสาทตาเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของจอประสาทตาในบริเวณจุดภาพชัด (Macula) ทำให้ผู้ป่วยมีสายตาเลือนราง หรือตาบอด โดยเฉพาะตรงกลางของภาพ (แต่ยังคงมองเห็นขอบด้านข้างของภาพได้ปกติ)
ถึงแม้โรคนี้จะพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี แต่จากพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ในปัจจุบัน ทำให้เป็นตัวเร่งให้เกิดความเสื่อมไวขึ้น และกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญให้จอประสาทตาเสื่อมก่อนวัยอันควรนั่นเอง
อาการของ โรคจอประสาทตาเสื่อม
- มองเห็นภาพไม่ชัด หรือตามัวลงเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงกลางของภาพ
- มองเห็นเป็นเงาดำ ๆ บังอยู่ตรงกลางภาพ หรือมองไม่เห็น
3. วุ้นตาเสื่อม (Eye floaters)
ผู้ที่เป็นโรควุ้นตาเสื่อม จะมองเห็นจุดดำเล็ก ๆ หรือวงใหญ่ ๆ ลอยผ่านไปมา โดยจะมีรูปร่าง และขนาดที่แตกต่างกันไป ในระยะหลังมักพบโรคนี้ในวัยหนุ่มสาว คนทำงานออฟฟิศกันมากขึ้น จนเป็นหนึ่งในโรค Office syndrome ไปแล้ว
อาการของ วุ้นตาเสื่อม
- มองเห็นเงาดำ คล้ายหยากไย่ หรือเส้นรูปร่างต่าง ๆ ลอยไปลอยมา เหมือนคราบที่ติดกระจก
- มองเห็นแสงเหมือนแสงแฟลช ทางหางตาในที่มืดไม่ว่าหลับตา หรือลืมตา
พักสายตาบ้าง! ด้วยกฎ 20-20-20 เพื่อสุขภาพดวงตาที่ดี
สถาบันวิชาการด้านจักษุวิทยาอเมริกัน (เอเอโอ) และสมาคมทัศนมาตรศาสตร์อเมริกัน (เอโอเอ) ได้ยืนยันว่า กฎ 20-20-20 สามารถลดอันตรายจากการใช้สายตาเป็นระยะเวลานานได้ โดยมีวิธีปฏิบัติตามดังนี้
- ทุก 20 นาที ควรละสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ หรือมือถือ
- ผ่อนคลายสายตาด้วยการมองวัตถุอื่น ๆ ที่ห่างออกไปประมาณ 20 ฟุต
- ลุกขึ้นเดินไปรอบ ๆ บริเวณที่นั่งอยู่ประมาณ 20 ก้าว เพื่อยืดอายุดวงตาให้เสื่อมช้าลง
การกระพริบตาต่อเนื่องก็สามารถป้องกันอาการตาแห้งได้เช่นกัน
จักษุแพทย์แนะ 10 วิธีดูแลสุขภาพตา อย่างมีประสิทธิภาพ
รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยและหัวหน้าศูนย์ตาธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของคนเรามีผลกระทบกับสุขภาพของดวงตา
ศูนย์ตาธรรมศาสตร์จึงจัดทำคลิปวิดีโอเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพดวงตาในอย่างถูกต้อง เพื่อให้ดวงตาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมคุณภาพชีวิต โดย รศ.นพ.ศักดิ์ชัย ได้แนะนำ “บัญญัติ 10 ประการ เพื่อสุขภาพตาที่ดี” ไว้ดังนี้
1. ใช้อุปกรณ์กันแดดเพื่อป้องกันอันตรายจากแสง UV เช่น ร่ม หมวกมีปีก แว่นกันแดด
2. ห้ามขยี้ตา เพราะดวงตาบอบบาง และฝุ่นอาจฝังลงในเนื้อกระจกตาเป็นอันตราย
3. ไม่ซื้อยาหยอดใช้เอง เพราะอาจเป็นอันตรายเช่นต้อหินจากยาสเตียรอยด์
4. ในเด็กควรมีกิจกรรมกลางแจ้งมากกว่าการใช้มือถือ หรือแท็บเล็ต เพราะอาจทำให้สายตาสั้นเร็วขึ้น
5. สังเกตพฤติกรรมการมองของเด็ก หากผิดปกติ เช่น ชอบดูทีวีใกล้ ๆ มองกระดานไม่เห็น หยีตามอง หรือเอียงคอมอง ควรพาไปพบแพทย์
6. ใช้กฏ 20-20-20 คือ ทุก 20 นาทีที่มองจอคอมพิวเตอร์ หรือมือถือ ควรหยุดพักสายตา 20 วินาที ด้วยการมองระยะไกลอย่างน้อย 20 ฟุต
7. ควรใช้คอนแทคเลนส์เฉพาะกรณีจำเป็น อย่างถูกวิธี และดูแลความสะอาด
8. หลีกเลี่ยงการรักษาลูกตาด้วยวิธีไม่ได้มาตรฐาน เช่น การนวดกดตา, การใช้อาหารเสริมมารักษาโรค หรือการใช้น้ำยาสกปรกหยอดตา
9. ยาหยอดตาควรเก็บในตู้เย็น ไม่ใช้ปะปนกัน รักษาความสะอาดขณะหยอดยา และใช้ตามคำแนะนำที่เหมาะสม
10. ควรตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป, มีโรคตากรรมพันธ์ในครอบครัวเช่นต้อหิน, เป็นโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายต่อตาเช่นโรคเบาหวาน, รับประทานยาที่อาจมีผลข้างเคียงต่อตาเช่นสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
หมอแนะ! สารอาหารสำคัญ บำรุงดวงตาให้มีสุขภาพดี ไม่เสื่อมก่อนวัย
ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นอกจากเราต้องปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตาอยู่หน้าจอแล้ว เราต้องรับประทานสารอาหารที่ช่วยดูแลดวงตาให้มีสุขภาพดี และลดความเสี่ยงในการเกิดโรครวมทั้งอาการผิดปกติกับดวงตา
1. ทานลูทีน ร่วมกับซีแซนทีน
National Eye Institute สหรัฐอเมริกา ระบุว่า การรับประทาน ลูทีน 10 มิลลิกรัม ร่วมกับซีแซนทีน 2 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมและปลอดภัย จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้
ซึ่งร่างกายของเราไม่สามารถสร้างลูทีน และซีแซนทีนได้เอง จำเป็นต้องได้รับจากอาหารที่เรารับประทานเท่านั้น
- ลูทีนพบมากในหน่อไม้ฝรั่ง และบรอกโคลี
- ซีแซนทีนพบมากในพริกหวานสีส้ม ข้าวโพด น้ำส้ม และองุ่นเขียว
แต่เราต้องรับประทานผัก และผลไม้เหล่านี้จำนวนมากเพื่อให้ได้รับลูทีน และซีแซนทีน ที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม
- โดยลูทีน 10 มิลลิกรัม ต้องรับประทานหน่อไม้ฝรั่ง 1.1 กิโลกรัม บรอกโคลี 1.4 กิโลกรัม
- ซีแซนทีน 2 มิลลิกรัม ต้องรับประทานพริกหวานสีส้ม 125 กรัม ข้าวโพด 400 กรัม น้ำส้ม 10 ลิตร หรือ องุ่นเขียว 33 กิโลกรัม
ปัจจุบันอาหารเสริมจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ได้รับความนิยม เพื่อให้ได้สาระสำคัญในปริมาณที่มีประสิทธิผลตามการศึกษาวิจัย และสะดวกกับคนทำงานที่ใช้ชีวิตรีบเร่งในแต่ละวัน
2. สารอาหารอื่น ๆ ที่ช่วยดูแลสุขภาพดวงตา
ช่วยในการมองเห็น เพิ่มความชุ่มชื้นของตา ปกป้องสายตาจากแสงแดด และชะลอความเสื่อมของเลนส์ตา เช่น
- วิตามินเอ
- วิตามินซี
- วิตามินอี
- เบต้าแคโรทีน
- ดีเอชเอ
- และแอนโธไซยานิน
อ้างอิง : 1. สสส. 2. mgronline 3. theworldmedicalcenter 4. med.swu.ac.th