เมื่อตั้งครรภ์ แม่หลายคนอาจจะมีข้ออ้างเพื่อกินได้มากขึ้น ไม่ใช่เรื่องผิด แต่การเลือกกินอาหารในช่วงตั้งครรภ์ไม่ได้เน้นแค่ปริมาณ แต่ต้องมีคุณภาพด้วย ควรเลือกอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน วิตามินต้องครบ วิตามินคนท้อง อะไรบ้างที่จำเป็นเพื่อบำรุง และส่งเสริมพัฒนาการ การเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ เรามาดูกัน!
10 วิตามินคนท้อง ที่จำเป็นมีอะไรบ้าง?
1. ธาตุเหล็ก (Iron) ธาตุเหล็กเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาของตัวอ่อน และรก รวมถึงการเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงของแม่ ที่ต้องสูญเสียธาตุเหล็กระหว่างตั้งครรภ์ ตอนคลอด และช่วงการให้นมลูก
คุณหมอมักจะให้วิตามินเสริมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ เสริมธาตุเหล็กให้แม่ตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันภาวะโลหิตจางด้วย โดยถ้าแม่ตั้งครรภ์มีภาวะโลหิตจาง จากการขาดธาตุเหล็ก ควรที่จะได้รับการเสริมธาตุเหล็ก 30 – 120 มิลลิกรัม/วัน จนกระทั่งความเข้มข้นของเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ธาตุเหล็ก พบได้ใน ตับ เนื้อสัตว์สีแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เป็นต้น
2. แคลเซียม (Calcium) ช่วยในการเจริญของระบบกระดูกของทารก แต่ต้องการในปริมาณไม่สูงมาก ดังนั้นหากแม่ตั้งครรภ์สุขภาพแข็งแรง ปกติดี การรับประทานอาหารแต่ละวัน จะได้แคลเซียมที่เพียงพออยู่แล้ว โดยปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับต่อวันของหญิงตั้งครรภ์ช่วงอายุ 19 – 50 ปี คือ 1,000 มิลลิกรัม/วัน แต่การเสริมด้วยวิตามินแคลเซียม อาจมีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษในมารดาที่มีความเสี่ยงสูง
แคลเซียม พบได้ใน นม ผลิตภัณฑ์จากนม เนย โยเกิร์ต ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งฝอย
3. กรดโฟลิก (Folic Acid) เป็นวิตามินสำคัญ ที่แม่ตั้งครรภ์ควรได้รับตั้งแต่วางแผนก่อนตั้งครรภ์ โดยควรได้รับการเสริมโฟลิก 0.4 – 0.8 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 1 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ หรือในช่วง 3 เดือนแรกของของการตั้งครรภ์ เพื่อลดโอการการเกิดภาวะหลอดประสาทไม่ปิดของทารก ที่ทำให้ทารกมีความพิการตั้งแต่เกิด และโฟลิกยังลดความเสี่ยงการเกิดโรคอื่น ๆ เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ โรคหัวใจแต่กำเนิด เป็นต้น
กรดโฟลิก พบได้ใน ผักใบเขียว ผักโขม บรอกโคลี ดอกกุ้ยช่าย มะเขือเทศ และ วิตามินรวมคนท้อง ที่คุณหมอให้ระหว่างตั้งครรภ์
4. สังกะสี (Zinc) สังกะสีนั้นช่วยให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตได้เป็นปกติ เพราะหากขาดสังกะสี อาจทำให้เกิดภาวะทารกเจริญเติบโตช้า
สังกะสี พบได้ใน ข้าวกล้อง เมล็ดทานตะวัน เมล็ดพืช เนื้อสัตว์ ตับ นม
5. ไอโอดีน (Iodine) เป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของระบบประสาททารกตั้งแต่ในครรภ์ ทารกควรได้รับไอโอดีนเพื่อพัฒนาเซลล์ประสาทและสมอง เพราะหากขาดไอโอดีน อาจทำให้แท้ง เสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิด หรือเกิดภาวะพิการทางสมอง ร่างกายเล็กผิดปกติ เติบโตช้าได้
ไอโอดีน พบได้ใน อาหารทะเล เกลือ น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง หรือ ยาเสริมธาตุไอโอดีน ที่คุณหมอจ่ายให้
6. วิตามินเอ (Vitamin A) สำคัญต่อการมองเห็น การเจริญเติบโตของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกัน การสร้างเม็ดเลือด การเจริญพันธุ์ ปริมาณวิตามินเอที่แม่ตั้งครรภ์ควรได้รับคือ ประมาณ 800 ไมโครกรัม/วัน
วิตามินเอ พบได้ใน เครื่องใน ตับของสัตว์ต่าง ๆ ผักที่มีสีเขียวเข้ม และสีเหลืองส้ม เช่น ตำลึง กวางตุ้ง ฟักทอง มะเขือเทศ เป็นต้น
7. วิตามินบี 1 หรือ ไทอามีน (Thiamine) แม่ตั้งครรภ์จะต้องการไทอามีนมากในช่วงไตรมาสสุดท้าย หรือ 3 เดือนก่อนคลอด ไทอามีนจะช่วยให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดี การขาดไทอามีนในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้เป็นตะคริว เหน็บชา และครรภ์เป็นพิษได้ ในแต่ละวันของแม่ตั้งครรภ์ ต้องการไทอามีนประมาณ 1.4 มิลลิกรัม/วัน
ไทอามีน พบได้ใน เนื้อหมู ข้าวซ้อมมือ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง งา เป็นต้น
8. วิตามินบี 2 หรือ ไรโบฟลาวิน (Riboflavin) ช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน ทำให้ร่างกายเติบโตและพัฒนาอย่างเหมาะสม ช่วยส่งเสริมระบบประสาท ผิวหนัง และตา ช่วยป้องกันเซลล์ถูกทำลาย ตอนตั้งครรภ์ร่างกายต้องการวิตามินบี 2 ประมาณ 1.4 มิลลิกรัม/วัน
วิตามินบี 2 พบได้ใน ตับไก่ ตับหมูไข่ เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อปลา นม
9. วิตามินบี 6 หรือ ไพริดอกซีน (Pyridoxine) ทำหน้าที่สังเคราะห์และเผาผลาญกรดอะมิโน การสลายไกลโคเจนในกล้ามเนื้อและการสังเคราะห์กลูโคสจากกระอะมิโนในกล้ามเนื้อ สังเคราะห์สารสื่อประสาทหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาท เช่น ซีโรโทนิน (Serotonin) ทอรีน (Taurine) โดปามี (Dopamine) ตอนตั้งครรภ์ร่างกายต้องการวิตามินบี 6 ประมาณ 1.9 มิลลิกรัม/วัน
วิตามินบี 6 พบได้ใน เนื้อสัตว์กล้วย ถั่วเมล็ดแห้ง ไข่แดง เป็นต้น
10. วิตามินซี (Vitamin C) มีความสำคัญต่อการสังเคราะห์คอลลาเจน คาร์นิทีน สารเหนี่ยวนำกระแสประสาท เพิ่มภูมิต้านทาน และช่วยการดูดซึมเหล็ก ถ้าตอนตั้งครรภ์ขาดวิตามินซี อาจทำให้มีภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อขณะคลอด คลอดก่อนกำหนด และภาวะครรเป็นพิษได้ ปริมาณวิตามินซีที่แม่ตั้งครรภ์ควรได้รับ คือ 85 ไมโครกรัม/วัน
วิตามินซี พบได้ใน ผักผลไม้ต่าง ๆ เช่น ฝรั่ง มะนาว ส้ม สตรอเบอรี่ มะเขือเทศ เป็นต้น พยายามกินผักผลไม้แบบสด ๆ แทนการปรุงที่อาจทำให้สูญเสียวิตามินไปกับความร้อน
นอกจากนี้ยังมีสารอาหาร และวิตามินอื่น ๆ ที่จำเป็นอีก ดังนั้นแม่ตั้งครรภ์ควรเอาใจใส่อาหารในทุก ๆ มื้อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน เลือกวัตถุดิบที่มีประโยชน์ รับประทานที่ปรุงสุกใหม่ทุกวัน หากไม่มั่นใจว่าได้รับสารอาหารเพียงพอหรือไม่ อาจเสริมด้วยวิตามินรวมสำหรับคนท้องได้ ซึ่งคุณหมอมักจะจ่าย วิตามินคนท้อง เสริมให้รับประทาน ควรรับปรทานอย่างสม่ำเสมอเพื่อ สุขภาพของตัวเอง และพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรงของลูกน้อย
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife