“หวัด” มีโอกาสเป็นได้ทั้งปี ต้องดูแลตัวเองให้ดี! ยิ่งในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หน้าฝน หน้าหนาว ยิ่งทำให้ป่วยเป็นไข้ได้ โดยเฉพาะอาการ ตัวร้อน มีไข้! แต่ไม่ต้องกังวลไป วันนี้ GedGoodLife มีวิธีดูแลตัวเองมาฝากแล้ว
– โรคไข้หวัด โรคยอดฮิตตลอดปี! เป็นกี่วันหาย กินยาอะไรดี? สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
– 8 สมุนไพรต้านหวัด ต้านไวรัส แก้ปวด ลดไข้ และยังช่วยต้านโควิด-19 ได้อีกด้วย!
– วิธีเสริมภูมิคุ้มกันในฤดูฝน ให้ห่างไกลหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล เป็นไข้!
อุณหภูมิสูงแค่ไหนถึงเรียกว่ามีอาการ ตัวร้อน มีไข้ ?
“ตัวร้อน มีไข้” เป็นอาการที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่าปกติ หรือสูงเกินกว่า 37.5 องศาเซลเซียส เป็นการตอบสนองของร่างกาย เมื่อมีการอักเสบ ติดเชื้อ หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาโดยไข้จะเกิดอยู่เพียงชั่วคราวเฉพาะในช่วงที่เกิดโรค หรือมีการเจ็บป่วยเท่านั้น
อุณหภูมิร่างกายเท่าไหร่ถึงเรียกว่า เป็นไข้ ?
โดยทั่วไป ถ้าอุณหภูมิร่างกายสูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ถือว่าเรากำลังเป็นไข้
- ถ้าอุณหภูมิร่างกายสูงไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส จะเรียกว่า “ไข้ต่ำ”
- ถ้าสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ถือว่ามี “ไข้สูง”
- ถ้าเกิน 41.5 องศาเซลเซียส จะถือว่ามี “ไข้สูงอย่างรุนแรง” ควรรีบพบแพทย์ด่วน เพื่อป้องกันการเสียชีวิตตามมา
ความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับไข้
ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า “เวลามีไข้ไม่จำเป็นว่าทุกส่วนของร่างกายจะต้องร้อนเท่ากันหมด อาจร้อนที่ศีรษะ ลำตัว และแขนขา แต่ฝ่ามือฝ่าเท้าเย็น ในสังคมไทยมีความเชื่อที่สืบทอดมาแต่โบราณว่า การที่ศีรษะร้อนแต่เย็นที่ฝ่ามือฝ่าเท้าหมายถึงว่า ผู้ป่วยมีอาการหนัก ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง และก่อความทุกข์ใจให้แก่คนเชื่อมาก”
ข้อควรรู้เรื่องไข้ : แท้จริงแล้วอาการตัวร้อน มีไข้ ไม่ได้เป็นโรคตามที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นอาการของโรคเท่านั้น จึงไม่ควรวิตกเรื่องไข้ แต่ควรหาสาเหตุว่า โรคอะไรที่ทำให้เรามีไข้มากกว่า จะเป็นการแก้ที่ถูกจุด ถ้ามีสาเหตุจากโรคหวัด ที่เกิดจากเชื้อไวรัส มักไม่มีโรคแทรกซ้อนใดๆ และไข้จะหายได้เองใน 3-4 วัน
วิธีรักษาอาการ ตัวร้อน มีไข้ อย่างเห็นผล!
1. กินยาลดไข้ – ยาลดไข้ เป็นยาบรรเทา (ไม่ใช่ยารักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้) ยาจะออกฤทธิ์ ลดไข้อยู่ได้นาน 4-6 ชั่วโมง ต่อการกินยา 1 ครั้ง ถ้าสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ยังไม่หาย เมื่อยาหมดฤทธิ์แล้วไข้ก็จะปรากฏใหม่
หากมีอาการน้ำมูกไหลร่วมด้วย สามารถใช้ ยาสูตรผสม ชนิดที่มีตัวยา 2 ชนิด ใน 1 เม็ด ประกอบด้วย
1. ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ปริมาณ 500 มิลลิกรัม สำหรับบรรเทาอาการปวด ลดไข้
2. ผสมกับยาคลอเฟนิรามีน มาลีเอต (Chlopheniramine maleate) ปริมาณ 2 มิลลิกรัม
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยากลุ่มนี้ คือดีคอลเจน ชนิดเม็ด (DECOLGEN) เหมาะกับผู้เป็นไข้หวัดที่มีอาการแพ้ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ปวด น้ำมูกไหล จาม เป็นต้น
- ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง
- เด็กอายุ 7-12 ปี รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง
2. พักผ่อนมาก ๆ – วิธีที่ดีที่สุดในขณะที่ยัง ตัวร้อน มีไข้ คือ การนอนพักผ่อนให้มาก ๆ เพราะจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูจากอาการไข้ ได้ไวขึ้น
3. กินอาหารอ่อน ๆ – ระหว่างที่มีไข้ ควรเลือกรับประทานอาหารที่เคี้ยวง่าย กลืนง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก อาหารเหลว (ประเภททางการแพทย์) เป็นต้น
4. ไม่เครียด ไม่หักโหมงานหนัก – ไม่ควรเครียด หรือ หักโหมงานหนักในระหว่างที่ ตัวร้อน มีไข้ เพราะจะทำให้อาการแย่ลงได้
5. กินวิตามินซี – เพื่อเสริมภูมิต้านทานโรคให้แข็งแรง แต่ไม่ควรกินเกินวันละ 2000 มิลลิกรัม
6. ดื่มน้ำบ่อย ๆ – โดยให้ดื่มครั้งละน้อย ๆ แต่ตลอดทั้งวัน วันละประมาณ 8 แก้ว เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ ซึ่งจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไข้ลงช้า
7. สวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ – เพื่อให้ระบายความร้อนในร่างกายได้ดี
8. บำรุงร่างกายให้แข็งแรง – เมื่อหายจากอาการตัวร้อน เป็นไข้แล้ว ควรบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารที่มีวิตามินซีสูง ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด
อ่านเพิ่มเติม – เป็นหวัด ควรกินยาอะไรดี? แล้วอะไรคือสาเหตุของไข้หวัด?
หากเด็กมีไข้ ควรดูแลอย่างไร?
ในผู้ป่วยเด็ก หรือทารก ผู้ปกครองควรเช็ดตัวลดไข้ให้ถูกวิธี เพราะถ้าทำผิดอาจทำให้เด็กมีอาการชักจากภาวะไข้สูงได้ การเช็ดตัวลดไข้อย่างถูกวิธี สามารถทำได้ดังนี้
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมเพื่อใช้เช็ดตัวลดไข้เด็ก
1. เตรียมอ่างใส่น้ำอุ่น หรือน้ำอุณหภูมิห้อง (ทดสอบว่าน้ำไม่ร้อนเกินไปโดยการใช้หลังมือแตะ) ไม่ควรใช้น้ำเย็น
2. ผ้าขนหนูสะอาดผืนเล็ก 2-4 ผืน
3. ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ 1 ผืน
วิธีเช็ดตัวลดไข้เด็กที่ถูกต้อง
1. เตรียมสถานที่ ที่จะเช็ดตัวเด็ก และควรปิดแอร์
2. ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วย
3. ปูผ้าเช็ดตัวรองส่วนที่เช็ด เพื่อป้องกันน้ำเปียกที่นอน
4. ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นบิดน้ำให้หมาดพอควร เริ่มเช็ดบริเวณใบหน้า และพักไว้ที่หน้าผาก ซอกคอ ทำซ้ำ 3-4 ครั้ง
5. เช็ดบริเวณหน้าอกและลำตัว
6. เช็ดแขนด้านไกลตัว จากปลายแขนเข้าหาต้นแขน และรักแร้เป็นการเช็ดในลักษณะย้อนรูขุมขน เพื่อระบายความร้อนทำซ้ำ 3-4 ครั้ง และพักผ้าไว้บริเวณข้อพับแขน และรักแร้
7. เช็ดแขนด้านใกล้ตัว โดยทำเช่นเดียวกัน
8. เช็ดขาด้านไกลตัว จากปลายขาเข้าหาต้นขา และขาหนีบ 3-4 ครั้ง และพักผ้าบริเวณใต้เข่า ขาหนีบ
9. เช็ดขาด้านใกล้ตัว โดยทำเช่นเดียวกัน
10. นอนตะแคงเช็ดบริเวณหลัง ตั้งแต่ก้นกบขึ้นบริเวณคอทำซ้ำ 3-4 ครั้ง
11. เช็ดตัวให้แห้ง แล้วใส่เสื้อผ้าผู้ป่วยให้เรียบร้อย
ควรพบแพทย์โดยเร็ว เมื่อมีไข้ร่วมกับอาการดังต่อไปนี้
- ปวดศีรษะรุนแรง อาจร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน
- คอบวมมาก หายใจไม่ออก แน่น อึดอัด
- หายใจลำบาก หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก ตัวเขียว มือเท้าเขียวคล้ำ
- สับสน กระสับกระส่ายมาก
- ไอเป็นเลือด
- ปวดท้องมากโดยเฉพาะปวดบริเวณสะดือ และ/หรือช่องท้องด้านขวาตอนล่าง
- อาเจียนรุนแรงตลอดเวลา
- ชัก
- คอแข็งร่วมกับปวดศีรษะมาก และ/หรือแขน/ขาอ่อนแรง
- อาการอื่น ๆ ที่รุนแรง
อ้างอิง: 1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 2. โรงพยาบาลท่าตูม 3. สสส.
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่