ภาวะโลหิตจาง (Anemia) ที่เกิดขึ้นจากการขาดธาตุเหล็ก พบได้บ่อยในแม่ท้อง เนื่องจากตอนตั้งครรภ์ร่างกายมีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น สำหรับการสร้างรก และเม็ดเลือดแดงของทั้งแม่และลูกในครรภ์
ภาวะโลหิตจาง เกิดขึ้นได้อย่างไร?
หากตอนตั้งครรภ์มีธาตุเหล็กสะสมน้อย รับประทานอาหารมีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจาง จากการขาดธาตุเหล็กในขณะตั้งครรภ์ได้มากขึ้น และอาจทำให้มีโอกาสเสี่ยงแท้ง หรือตกเลือดระหว่างคลอดได้
ภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก คือ มีความเข้มข้นของเฮโมโกลบินในเลือดน้อยกว่า 11 กรัมต่อเดซิลิตร
ทำไมตอนตั้งครรภ์ถึงต้องการธาตุเหล็ก เพิ่มขึ้น
• ขณะตั้งครรภ์ จะมีปริมาณเลือดเพิ่มขึ้นราว 45%
• ต้องการธาตุเหล็กสำหรับการสร้างรก และทารก
• ต้องการธาตุเหล็กเตรียมไว้สำหรับการเสียเลือดขณะคลอด โดยหากคลอดปกติ จะเสียเลือดประมาณ 600 มิลลิลิตร และ เสียเลือดประมาณ 1,000 มิลลิลิตร สำหรับการผ่าคลอด
ปริมาณธาตุเหล็กที่แม่ท้องต้องการ
• ช่วงหลังไตรมาสแรก แม่ท้องต้องการธาตุเหล็กที่ดูดซึมแล้ว ประมาณวันละ 6-7 มิลลิกรัม
• หากรับประทานอาหารปกติอย่างเดียวจะได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ เพราะร่างกายดูดซึมไปใช้ได้เพียง 10% คือประมาณ 3 มิลลิกรัม จึงควรได้รับวิตามินเสริม หรือธาตุเหล็กเสริมวันละประมาณ 30 มิลลิกรัม
• หากตั้งครรภ์ลูกแฝด ควรรับประทานธาตุเหล็กวันละ 60-100 มิลลิกรัม
อาการของแม่ท้องที่มี ภาวะโลหิตจาง
• อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ
• หายใจลำบาก ช่วงหายใจสั้น เหนื่อยง่าย
• ปวดศีรษะ
• เบื่ออาหาร ท้องอืด
• มึนงง หน้ามืด เป็นลม
• มีอาการบวม ความดันโลหิตสูง
เมื่อแม่ท้องขาดธาตุเหล็ก มีภาวะโลหิตจาง
• อาจทำให้แท้งบุตร ตกเลือดระหว่างคลอด
• มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ภูมิคุ้มกันลดลง
ผลจากการขาดธาตุเหล็กต่อทารก
• ทารกเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ
• ทารกมีน้ำหนักแรกคลอดน้อย
• เด็กอาจคลอดก่อนกำหนด หรือเสียชีวิตเมื่อแรกคลอด
• ทารกแรกเกิดจะมีการสะสมธาตุเหล็กน้อย ส่งผลให้มีพัฒนาการล่าช้า
• เมื่อโตขึ้นความสามารถในการเรียน การทำกิจกรรมลดลง ขาดสมาธิในการเรียน ซึ่งเป็นผลเสียโดยตรงต่อเด็กในอนาคต
ดูแลแม่ท้องป้องกันภาวะโลหิตจาง
• รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงเพิ่มขึ้น เช่น ตับ เลือด เครื่องในสัตว์ หอยแครง หอยแมลงภู่ ผักใบเขียว
• รับประทานวิตามินเสริม ยาบำรุงธาตุเหล็ก เมื่อไปฝากครรภ์ คุณหมอจะมักจะจ่ายวิตามินรวม หรือยาบำรุง เสริมธาตุเหล็กสำหรับแม่ท้อง เพื่อป้องกันภาวะโลหิตจาง เพราะแค่รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อความต้องกายของร่างกาย โดยทั่วไปร่างกายจะดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น จากปริมาณธาตุเหล็กที่เรารับประทานเข้าไปจากอาหาร ดังนั้นควรรับประทานวิตามินอย่างสม่ำเสมอ
• ไปฝากครรภ์ตามหมอนัด ควรไปตรวจตามนัดหมอทุกครั้ง เพื่อดูผลการตรวจร่างกายว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะโลหิตจางหรือไม่ คุณหมอจะได้จ่ายยาบำรุงธาตุเหล็กให้ได้ และคอยติดตามผลของค่าเฮโมโกลบินให้เพิ่มขึ้นก่อนคลอด
“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี