อากาศเปลี่ยน ฝุ่นควัน มลพิษต่าง ๆ ที่ต้องเจอทุก ๆ วัน ทำให้หลายคนเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น บางคนป่วยไม่หาย มีอาการไอเรื้อรัง โดยที่คิดว่าแค่แพ้อากาศ หรือเป็นภูมิแพ้ แต่ในความจริง แล้ว อาการไอเรื้อรัง ไอจนมีเลือด อาจเป็นอาการเตือนของ โรคหลอดลมอักเสบ ได้นะ!
- หน้าฝนไอไม่หยุด ระวัง โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
- 6 อาหารช่วยลดเสมหะเหนียวข้น บรรเทาไอ ที่แพทย์แนะนำ!
- ยาแก้ไอละลายเสมหะ “คาร์โบซิสเทอีน” สรรพคุณ วิธีใช้ให้ถูกต้อง ปลอดภัย
โรคหลอดลมอักเสบ คืออะไร?
โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งเป็นท่อที่นำลม หรืออากาศหายใจเข้าสู่ปอด เมื่อเยื่อบุหลอดลมบวมมีเสมหะ ส่งผลให้อากาศไหลผ่านหลอดลมเข้าปอดได้ไม่ดี ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไอ หายใจลำบากได้ โรคหลอดลมอักเสบแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน และ โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง
1. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน (Acute bronchitis)
มีอาการไม่เกิน 3 สัปดาห์ เป็นภาวะปอดติดเชื้อที่พบได้บ่อยที่สุด สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นตามหลังไข้หวัด ซึ่งไม่ได้รับการรักษา หรือปฏิบัติตนอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้การติดเชื้อลามลงไปถึงหลอดลม ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นหวัด แล้วมีอาการไอ มีเสมหะเป็นระยะเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ อาจเป็นหลอดลมอักเสบเฉียบพลันได้
• ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ผู้ที่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโรคทางเดินหายใจ ผู้ที่อยู่ในช่วงที่มีการระบาดของโรคทางเดินหายใจ เช่น ไวรัสต่าง ๆ ผู้ที่มีสุขภาพอ่อนแอ หรือภูมิต้านทานโรคต่ำ การไปอยู่ในที่ที่แออัดสูง เช่น ในห้างสรรพสินค้า โรงหนัง โรงละคร ค่ายผู้อพยพ เป็นต้น
2. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic bronchitis)
มีอาการเกิน 3 สัปดาห์ อาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหืด, สูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน, สัมผัสกับมลภาวะ ฝุ่น ควัน สารเคมี สารระคายเคือง ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรังนี้ ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจทำให้เสมหะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือสีเขียวได้ และเป็นที่น่าเสียดายที่ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ
• ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดลมเรื้อรัง มักจะเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ การได้รับควันบุหรี่เรื้อรัง คนที่ได้รับฝุ่นละออง หรือมลภาวะทางอากาศเรื้อรัง มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกันกับมลพิษทางอากาศ เช่น การทำเหมืองแร่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการระคายเคืองเรื้อรัง นำไปสู่การเป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้
*ปอดบวม เป็นภาวะที่มีอาการคล้ายกับโรคหลอดลมอักเสบมาก หากแพทย์คาดว่าคุณเป็นโรคปอดบวม คุณต้องเข้ารับการเอกซเรย์หน้าอก และตรวจตัวอย่างเสมหะ
สาเหตุของ โรคหลอดลมอักเสบ
โรคหลอดลมอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากแบคทีเรีย และไวรัส แต่ส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) อะดิโนไวรัส (Adenovirus) ไรโนไวรัส (Rhinovirus) ที่ก่อให้เกิดไข้หวัด เป็นต้น บางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ทำให้ สีเสมหะ เปลี่ยนจากสีขาว (จากการติดเชื้อไวรัส) เป็นสีเหลือง หรือสีเขียว
อีกปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหลอดลมอักเสบ คือ การสูบบุหรี่หนัก สูบเป็นประจำ หรือผู้ต้องอยู่กับคนที่สูบบุหรี่บ่อย ๆ รวมไปถึงมลภาวะทางอากาศ ฝุ่น ก๊าซพิษต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมที่ต้องพบในชีวิตประจำวัน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเป็นโรคได้
ใครคือกลุ่มเสี่ยงของโรคหลอดลมอักเสบ?
โรคหลอดลมอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่จะพบได้มากกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป พบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาว และมักเกิดขึ้นหลังจากเป็นหวัด หรือมีอาการเจ็บคอทั่วไป โดยกลุ่มคนที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้สูงได้แก่
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคตับ
- สูบบุหรี่จัด
- ทำงานในสถานที่ที่มีฝุ่นควันมาก
- เจ้าหน้าที่ฉีดยาฆ่าแมลง และสารเคมีต่าง ๆ
- ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน
- ผู้ที่เป็นหวัดบ่อย มีอาการไอเป็นประจำ
อาการต่าง ๆ ของโรคหลอดลมอักเสบ
อาการของโรคหลอดลมอักเสบอาจเริ่มต้นด้วยการเป็นหวัด ครั่นเนื้อครั่นตัว มีน้ำมูก แสบคอ หากเริ่มรู้สึกแน่นหน้าอกพร้อมกับไอมีเสมหะ (หรืออาจไอแห้ง)โดยเฉพาะตอนกลางคืน นั่นอาจเป็นอาการที่แสดงของโรคหลอดลมอักเสบในเบื้องต้น
หลอดลมอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง มีอาการที่สำคัญดังนี้
- ไอ มีเสมหะเหนียว เป็นสีขาวเกิดจากเชื้อไวรัส หรือขุ่นข้นเป็นสีเหลืองเขียวเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
- ไอเป็นเลือด
- ไอเรื้อรังต่อเนื่องตั้งแต่ 3 เดือนถึง 1 ปี หรือ 2 ปี
- หายใจลำบาก หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงดังหวีด
- มีอาการเจ็บคอ แสบคอ หรือเจ็บหน้าอก
- บางครั้งมีไข้ รู้สึกครั่นเนื้อ ครั่นตัว
- ปวดหัว ปวดตามร่างกาย
- ในกรณีที่ผู้ป่วยสูงอายุไอมาก ๆ อาจทำให้กระดูกอ่อนซี่โครงหักได้ (rib fracture)
ในเด็กอาจไอจนอาเจียน อาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีก็ได้ บางรายอาจมีอาการหอบหืดร่วมด้วย เรียกว่า หืดจากหลอดลมอักเสบ (asthmatic bronchitis)
อาการไอแบบนี้ต้องรีบไปพบแพทย์!
- มีอาการไอเรื้อรัง ไม่หายภายใน 2 สัปดาห์
- มีอาการไอเป็นเลือด
- มีอาการที่สงสัยว่า อาจเป็นปอดอักเสบร่วมด้วย เช่น มีไข้ ไอ และหอบเหนื่อย
- มีอาการไอหนักมากจนกินข้าว หรือนอนหลับพักผ่อนไม่ได้
วิธีรักษา ดูแล ป้องกัน โรคหลอดลมอักเสบ
• ดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ เพราะน้ำอุ่นจะช่วยละลายเสมหะได้
• ลดละเลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควัน ฝุ่นละออง สารเคมี สารระคายเคืองต่าง ๆ ที่สูดดมเข้าไป เพราะจะไปกระตุ้นให้หลอดลมเกิดการอักเสบเพิ่มขึ้นได้ และเป็นการรักษาอาการเรื้อรังที่ดีที่สุด
• สวมใส่หน้ากากอนามัย เมื่อต้องไปเผชิญกับควันพิษ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ควันธูป ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ เป็นต้น
• พยายามหลีกเลี่ยงที่อากาศเย็น และแห้ง ไม่เปิดแอร์เย็นเกินไป ควรเปิดแอร์ระหว่าง 25-27 องศาเซลเซียส ระวังไม่ให้ไอจากแอร์ หรือลมจากพัดลมเป่าโดนตัวโดยตรง ซึ่งจะทำให้มีอาการไอมากขึ้น
• ทำร่างกายให้อบอุ่น หากเปิดแอร์นอนกลางคืน ควรนอนห่มผ้า สวมเสื้อผ้าหนา ๆ สวมถุงเท้าเวลานอน
• หมั่นล้างมือให้สะอาด ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ เพื่อลดโอกาสเชื้อโรค เชื้อไวรัส เข้าสู่ทางเดินหายใจ
• กินยาลดไข้ บรรเทาหวัด ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะเอง หรือปรึกษาแพทย์ เภสัชกรก่อนใช้ยา
• ถ้ามีอาการไอมาก จนรบกวนการนอน อาจรับประทานยาลด หรือระงับอาการไอ หรือยาขยายหลอดลม แต่ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
• ถ้าไอแบบมีเสมหะ ควรเลือกกิน ยาแก้ไอละลายเสมหะ
ข้อควรระวัง! โรคหลอดลมอักเสบ ถ้ารักษาไม่ถูกต้อง เช่น เลือกกินยาเองแบบผิด ๆ ไปกินอาหารเสริมตามโฆษณา เป็นต้น การติดเชื้อจากหลอดลม อาจลามไปที่ปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบ (pneumonia) ได้ หรือจากหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน อาจกลายเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือ โรคถุงลมโป่งพอง ได้
อ้างอิง :
1. www.rajavithi.go.th 2. www.pobpad.com 3. www.si.mahidol.ac.th 4. medicine.swu.ac.th 5. mayoclinic.org
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife