โรค กรดไหลย้อน หรือโรคเกิร์ด (GERD) โรคสุดยอดแห่งความทรมาน ที่แม้ว่าจะเป็นโรคที่ไม่รุนแรง และไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่ก็เป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตมากทีเดียว เกิดจากภาวะน้ำย่อยในกระเพาะอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด ไหลย้อนกลับขึ้นไปสร้างความระคายเคืองในหลอดอาหาร และลำคอ มีน้ำรสเปรี้ยว หรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาทางปาก ทำให้เกิดอาการระคายบริเวณลำคอ และแสบอก หรือจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ และมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วย มักพบในผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อย
โรค กรดไหลย้อน เกิดจากอะไร?
สาเหตุหลักของ กรดไหลย้อน มาจากความผิดปกติในการทำหน้าที่ของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง ทำให้ไม่สามารถต้านแรงดันในช่องท้อง และการบีบตัวของกระเพาะอาหารได้ มักมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับความอ้วน โรคเบาหวาน โรคไส้เลื่อนกะบังลม และปัจจัยอื่น ๆ เช่น พฤติกรรมการกิน การทานอาหารอาหารรสจัด อาหารไขมันสูง อาหารทอด ชา กาแฟ น้ำอัดลม การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การนอน หรือเอนหลังทันทีหลังทานอาหาร ความเครียด ตลอดจนการสวมเสื้อผ้าคับ และรัดเข็มขัดที่รัดแน่นเกินไป
การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขยายหลอดลม ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นเบตา และกลุ่มต้านแคลเซียม ยาต้านคอลิเนอร์จิก ตลอดจนฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ก็มีผลกระตุ้นให้เกิดการคลายตัวของหูรูดหรือมีการหลั่งกรดเพิ่มมากขึ้นได้
ทำอย่างไรกรดไหลย้อนจึงจะหายไป
โรคกรดไหลย้อนเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะเมื่อมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้โรคกำเริบ แต่สามารถบรรเทาหรือยับยั้งให้ไม่เกิดอาการได้ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง การรักษาโรคกรดไหลย้อนมีอยู่ 2 วิธีหลักๆ คือ รักษาด้วยการใช้ยาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
สำหรับการใช้ยานั้น ในเบื้องต้นสามารถทานยาต้านกรดหรือยาลดกรด ร่วมกับยาลดการสร้างกรดกลุ่มต้านเอช 2 เพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ถ้าไม่ได้ผล ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างถูกต้อง
การป้องกันการกลับมาของ โรค กรดไหลย้อน
การรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และความเคยชินในการใช้ชีวิตที่ทำให้เกิดโรค สามารถช่วยป้องกันการเกิดกำเริบของโรคกรดไหลย้อนโดย ผู้ป่วยควรพยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยง รวมถึงอาหารที่ทำให้อาการกำเริบด้วยการ
• สังเกตว่าอาหารชนิดใดทำให้อาการกำเริบ แล้วหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านั้น รวมถึงสังเกตปริมาณที่ทานเข้าไปด้วย
• ไม่ควรทานอาหาร และดื่มน้ำมาก ๆ ระหว่างทานอาหาร
• ทานอาหารช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด หลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มเสี่ยง
• หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยการทอด อาหารมัน อาหารย่อยยาก อาหารที่มีรสจัด ช็อกโกแลต ถั่ว ลูกอม เปปเปอร์มินต์ เนย ไข่ นม กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์
• ทิ้งช่วงเวลาทานอาหารจากเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
• ห้ามเครียด หรือพยายามลดความเครียดลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
• งดสูบบุหรี่
• หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับแน่น โดยเฉพาะบริเวณรอบเอว
• ถ้ามีน้ำหนักเกิน ควรพยายามลดน้ำหนัก
• เวลานอนควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้นจากพื้นราบประมาณ 6-10 นิ้ว
• ทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ไม่ลดขนาดยา หรือหยุดยาเอง และมาพบแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับขนาดยา
• หากป่วยอย่าซื้อยามาทานเอง เนื่องจากยาบางชนิดทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้น หรือทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวมากขึ้น
ข้อแนะนำเหล่านี้เป็นเพียงการปฏิบัติตัวเบื้องต้น และในผู้ป่วยที่ใช้ยาไม่ได้ผล หรือมีภาวะแทรกซ้อน อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง
ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife