สีของปัสสาวะ ถือเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ถึงสุขภาพของคนเราได้ จะเห็นได้จากโปรแกรมตรวจสุขภาพตามโรงพยาบาลต่าง ๆ มักจะมีการตรวจปัสสาวะแทบทุกครั้ง โดยโรคที่สามารถบ่งชี้ได้ด้วยลักษณะของปัสสาวะได้ คือ โรคไต โรคเบาหวาน โรคตับ โรคกระเพาะ ปัสสาวะอักเสบ โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น งั้นมาดูกันว่า “สีปัสสาวะ” แต่ละสีบ่งบอกถึงโรคอะไรได้บ้าง?
สีปัสสาวะ เกิดจากอะไร?
สีของปัสสาวะ (Urine color) เกิดจากสีของสารยูโรบิลิน (Urobilin) ซึ่งได้มาจากสารฮีม (Heme) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง เมื่อเม็ดเลือดแดงตายตามอายุขัย สารฮีมจะสลายตัวให้เป็นสารยูโรบิลิน ซึ่งร่างกายจะกำจัดออกทางปัสสาวะและทางน้ำดีของตับ
สีปัสสาวะปกติเป็นสีอะไร?
สีปัสสาวะที่ปกติ จะเป็นสีเหลืองใส แต่ถ้าดื่มน้ำเข้าไปมากระหว่างวัน แล้วปัสสาวะตอนนั้น ก็อาจจะมีสีขาวใสได้ ถือเป็นปกติ ไม่ต้องตกใจ บางคนปัสสาวะออกมามีสีเหลืองสดหรือสีนีออน ก็อาจจะเกิดจากการทานวิตามินบีรวมเข้าไป หรือการทานอาหารต่าง ๆ ก็อาจทำให้สีและกลิ่นของปัสสาวะเปลี่ยนได้ชั่วขณะเช่นกัน
ทั้งนี้ ถ้าดื่มน้ำมากแต่ปัสสาวะยังคงเป็นสีเหลืองขุ่น หรือดื่มน้ำน้อยแต่ปัสสาวะเป็นสีขาวใส อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังมีปัญหาสุขภาพแล้วนะ ฉะนั้นควรหมั่นสังเกตสีปัสสาวะตัวเองเป็นประจำที่เข้าห้องน้ำ
สิ่งที่ควรสังเกตเมื่อปัสสาวะ
สิ่งที่ต้องสังเกตลักษณะความผิดปกติของปัสสาวะได้แก่
- ปริมาณปัสสาวะ
- สี ความขุ่น
- กลิ่นของปัสสาวะ
- จำนวนครั้งที่ปัสสาวะแต่ละวัน
โดยทั่วไปปัสสาวะของคนปกติจะมีสีเหลืองอ่อนใส ถ่ายปัสสาวะได้คล่องไม่ติดขัด และความถี่ของการถ่ายปัสสาวะโดยปกติทั่วไปตอนกลางวันประมาณ 4-6 ครั้ง ตอนเย็นไปจนถึงเข้านอนประมาณ 1-2 ครั้ง และระหว่างนอนหลับหากเป็นผู้สูงอายุประมาณ 1-2 ครั้ง
สีปัสสาวะ แต่ละสี บ่งบอกโรคอะไรได้บ้าง?
1. ใส ไม่มีสี
แสดงว่าคุณดื่มน้ำปริมาณมากกว่าปริมาณที่แนะนำให้ดื่มในแต่ละวัน ทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายต่ำเกินไป ในบางกรณีระดับเกลือแร่ที่ต่ำมากอาจทำให้เสียชีวิตได้เลยทีเดียว หากปัสสาวะของคุณใสเป็นบางครั้งบางคราวถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากปัสสาวะของคุณใสอยู่ตลอดเวลา คุณควรลดปริมาณการดื่มน้ำ นอกจากนี้ปัสสาวะใสยังบอกถึงโรคบางอย่างได้ เช่น โรคเบาหวาน การกินยาขับปัสสาวะ โรคไต เป็นต้น
2. สีขาวขุ่น หรือสีคล้ายน้ำนม
พบได้ในคนที่ดื่มนมปริมาณมากจนทำให้เกิดผลึกของฟอสเฟต หรือเกิดจาก โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคกรวยอักเสบ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ รวมถึงอาจเกิดจากการมีน้ำเหลืองปนอยู่ในปัสสาวะ หรือมีโปรตีนมากเกินไปร่างกาย
3. สีเหลืองอ่อนไปจนถึงสีเหลืองทอง
หมายถึงระดับน้ำในร่างกายของคุณอยู่ในระดับปกติ คุณควรสังเกตว่าปัสสาวะสีที่ปกติของคุณเป็นอย่างไรเพื่อให้คุณบอกได้ว่าเมื่อใดที่สีปัสสาวะของคุณผิดปกติไป
4. สีเหลืองเข้ม
เป็นสีปัสสาวะที่ปกติ แต่คุณควรดื่มน้ำให้มากขึ้น แต่ถ้าเข้มมากจนคล้ำก็อเกิดจากโรคไวรัสตับอักเสบ โรคตับอักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ ดีซ่าน การอุดกั้นทางเดินน้ำดี หรือมีน้ำดีออกมาในปัสสาวะ หรือเกิดจากโรคมะเร็งตับชนิดเกิดจากท่อน้ำดีในตับ โรคตับอ่อนอักเสบ โรคมะเร็งตับอ่อน
5. สีเหลืองสด
ปัสสาวะเป็นสีเหลืองสด หรือสีนีออนเกิดจากการกินวิตามิน และอาหารเสริม ซึ่งไม่เป็นอันตรายใด ๆ แค่เป็นอาการที่บอกว่าคุณกินวิตามินมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ดังนั้นคุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะเริ่มกินวิตามินหรืออาหารเสริมใด ๆ
6. สีส้ม
ปัสสาวะสีส้มอาจหมายถึง ร่างกายขาดน้ำ และอาจหมายถึงมีปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดี หรือตับ รวมถึงอาจเกิดจากการกินแครอท การกินวิตามินบี 2 ในปริมาณมาก ยาบางชนิดที่ทำให้ปัสสาวะเป็นสีส้ม เช่น ยาซัลฟาซาลาซีน ยาฟีนาโซไพริดีน ยาไอโซไนอาซิด ยาระบายบางชนิด เป็นต้น
7. สีส้มเข้ม หรือสีน้ำตาล
สาเหตุเกิดขึ้นได้จากการขาดน้ำอย่างรุนแรง เป็นดีซ่าน มีภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (rhabdomyolysis) นอกจากนี้ยาบางชนิดยังทำให้ปัสสาวะมีสีน้ำตาลได้ เช่น ยาเมโทรนิดาโซลที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย หรือยาควีนินซึ่งใช้ป้องกันโรคมาลาเรีย
8. สีน้ำตาลเข้ม หรือดำ
อาจเกิดจากการกินถั่วบางชนิด เช่น ถั่วปากอ้า ในปริมาณมาก ผักรูบาร์บ ว่านหางจระเข้ หรือแสดงถึงโรคบางชนิด เช่น โรคตับ โรคมะเร็งผิวหนัง นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากผลข้างเคียงของยา เช่น ยาควีนินซึ่งใช้ป้องกันโรคมาลาเรีย ยาปฏิชีวนะเมโทรนิดาโซล และยาอื่น ๆ เป็นต้น
9. สีชมพู และสีแดง
ปัสสาวะสีชมพูไปจนถึงสีแดงอาจหมายถึงการมีเลือดเจือปนอยู่ในปัสสาวะหรือเป็นสัญญาณของโรคไต โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคนิ่วในไต เนื้องอกหรือมะเร็งที่ไต กระเพาะปัสสาวะหรือต่อมลูกหมาก รวมถึงการกินอาหารบางชนิด เช่น บลูเบอร์รี่ รูบาร์บ บีทรูท หรือหลังการออกกำลังกายอย่างหนักทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ซึ่งไม่เป็นอันตรายใด ๆ
10. สีเขียว
ผักแอสพารากัสอาจทำให้ปัสสาวะมีสีเขียวและมีกลิ่น ยาบางชนิดและสีผสมอาหารสีเขียวอาจทำให้ปัสสาวะเป็นสีเขียวได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะได้
11. สีฟ้า
อาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิกที่หายากซึ่งทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงผิดปกติ (familial hypercalcemia หรือ blue diaper syndrome) หรือเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ส่วนใหญ่แล้ว เกิดจากยาหรือสีผสมอาหารสีน้ำเงิน เช่น ยาแก้ปวดอินโดเมทาซิน ยารักษาอาการซึมเศร้าอะมิทริปไทลีนและยายับยั้งการหลั่งกรดไซเมทิดีนและยาระงับความรู้สึกโปรโพฟอล เป็นต้น
12. สีม่วง
ปัสสาวะสีม่วงมีชื่อเรียกเฉพาะว่า อาการปัสสาวะในถุงเป็นสีม่วง (purple urine bag syndrome) ซึ่งพบได้ไม่บ่อยในผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะที่มีอาการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะทำให้ปัสสาวะเป็นสีม่วง
นอกจากสีฉี่แล้ว การสังเกตอาการร่วม หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น ๆ เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อยขึ้น มีอาการปวดแสบขัดเวลาปัสสาวะ ปวดเอวหรือท้องน้อย รวมไปถึงชนิดของอาหาร และยาที่รับประทาน ก็สามารถทำให้คุณประเมินระดับสุขภาพของคุณได้อย่างคร่าว ๆ ว่าปกติดี หรือว่ามีปัญหาจนต้องไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง และได้รับการรักษาที่ทันท่วงที
ปัสสาวะเปลี่ยนสีหลังกินยา อันตรายไหม?
การเปลี่ยนสีของปัสสาวะจากยานั้น มักไม่ก่อให้เกิดอันตราย โดยอาจพบได้หลายสี เช่น สีส้ม-ชมพู-แดง หรือ สีน้ำตาล-ดำ หรือ สีเขียว-น้ำเงิน หรือ สีขาวขุ่น ทั้งนี้ ขึ้นกับชนิดของยา แต่บางครั้ง แม้เป็นยาชนิดเดียวกันก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของปัสสาวะได้แตกต่างกันในแต่ละคน
อย่างไรก็ตาม หากมีปัสสาวะเปลี่ยนสีขณะใช้ยา และไม่เคยทราบข้อมูลนี้มาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาหรือเภสัชกร เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม
การดูแลตนเองให้สีปัสสาวะเป็นปกติอยู่เสมอ
การป้องกันการเกิดสีปัสสาวะผิดปกติ และอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่
1. ควรดื่มน้ำสะอาดให้ได้ตามมาตรฐานวันละ 8 แก้ว / วัน หรือตามปริมาณการดื่มน้ำที่เหมาะสมมีดังนี้
- สำหรับผู้ที่อายุ 4-8 ปี 5 แก้วต่อวัน (ประมาณ 1,200 มล.)
- สำหรับผู้ที่อายุ 9-13 ปี 7-8 แก้วต่อวัน (ประมาณ 1,600-1,900 มล.)
- สำหรับผู้ที่อายุ 14-18 ปี 8-11 แก้วต่อวัน (ประมาณ 1,900-2,600 มล.)
- สำหรับผู้หญิงที่อายุ 19 ปีขึ้นไป 9 แก้วต่อวัน (ประมาณ 2,100 มล.)
- สำหรับผู้ชายที่อายุ 19 ปีขึ้นไป 13 แก้วต่อวัน (ประมาณ 3,000 มล.)
2. ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน โซดา หรือน้ำอัดลมต่าง ๆ เพราะอาจทำปฏิกิริยาต่อกระเพาะปัสสาวะจนเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมาได้
3. ควรตรวจสุขภาพประจำปี หรือ ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรคให้แข็งแรงอยู่เสมอ ส่วนการตรวจสุขภาพประจำปี จะทำให้เรารู้ว่าร่างกายของเราสุขภาพดีมากน้อยแค่ไหน และการตรวจสุขภาพก็มักจะใช้ปัสสาวะ ในการทดสอบหรือตรวจสุขภาพด้วยเช่นกัน
4. รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงเพื่อป้องกันอาการท้องผูก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออาการอื่น ๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะได้ด้วย
5. ไม่กลั้นปัสสาวะ และขับถ่ายเมื่อรู้สึกปวด
6. ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะนั่นเอง อาจใช้สบู่อ่อน ๆ ในการทำความสะอาด
อ้างอิง :
1. https://medthai.com
2. www.bumrungrad.com
3. www.thaihealth.or.th
4. pharmacy.mahidol.ac.th
5. https://www.pobpad.com/
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife