นิ้วล็อค (Trigger Finger) โรคของคนที่ต้องใช้งานเกร็งมือ หรือนิ้วมือบ่อย ๆ เป็นระยะเวลาต่อเนื่องนาน ๆ ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเยื้อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้ว ซึ่งอยู่ที่บริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้ว
โดยส่วนใหญ่เกิดในผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะแม่บ้านที่ใช้มือทำงานอย่างหนัก เช่น หิ้วตะกร้าจ่ายกับข้าว ชอปปิ้ง บิดผ้า ส่วนในผู้ชายมักพบในอาชีพที่ใช้มือทำงานหนัก ๆ มีการจับ ออกแรงบีบอุปกรณ์ซ้ำ ๆ เช่น คนทำสวนใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ช่างที่ใช้ไขควง หรือเลื่อย พนักงานพิมพ์ดีด นักกอล์ฟ ช่างงานฝีมือ นักยูโด และหมอนวดแผนโบราณ เป็นต้น
อาการนิ้วล็อค
อาการนิ้วล็อคจะมีอาการหลายระยะ ไล่ตั้งแต่เริ่มต้นระยะแรกๆ คือมีอาการปวดที่โคนนิ้วมือ ซึ่งถ้ายังปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาอาการนิ้วล็อคก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปอาจจะมีอาการสะดุด อาการปวด และเวลาขยับนิ้ว จะงอจะเหยียดก็รู้สึกสะดุด
หลังจากนั้นระยะต่อมาคือขั้นที่เรียกว่าไม่สามารถงอ หรือเหยียดนิ้วได้เอง เพราะนิ้วติดล็อคจนต้องค่อย ๆ พยายามง้างนิ้วออกมา สุดท้ายก็จะมีอาการปวดอักเสบมากขึ้น และนิ้วก็ยังไม่สามารถงอได้เหมือนเดิม
ในปัจจุบันนิ้วล็อคเป็นกันเพิ่มมากขึ้น ไม่เฉพาะผู้สูงอายุ โดยเฉพาะคนทำงานออฟฟิศที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ใช้คีย์บอร์ดพิมพ์งาน หรือคนรุ่นใหม่ที่ใช้มือถือ เล่นแท็บเล็ตกันเป็นระยะเวลานานในแต่ละวัน มีโอกาสเกิดอาการนิ้วล็อคได้สูง สำหรับใครที่เริ่มมีอาการนิ้วล็อค หากเพิ่งเริ่มเป็นในช่วงเริ่มแรก ยังแก้ไขได้ด้วยตัวเองค่ะ
วิธีแก้นิ้วล็อคด้วยการบริหารนิ้วป้องกันนิ้วล็อค
หากไม่อยากมีอาการนิ้วล็อคควรเริ่มบริหารกล้ามเนื้อมือแต่เนิ่น ๆ อย่ารอจนมีอาการ เพราะการบริหารมือ นอกจากจะเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ฝึกกล้ามเนื้อมือให้แข็งแรง ยังช่วยการไหลเวียนของเลือดอีกด้วย ซึ่งหากทำเป็นประจำจะดีกับกล้ามเนื้อเมื่ออายุมากขึ้นด้วย
กำ และ แบมือ ในน้ำอุ่นประมาณวันละ 5 นาที ป้องกันนิ้วล็อค ที่สำคัญ คือน้ำต้องเป็นน้ำอุ่นไม่ร้อนจัดจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้อาการอักเสบเป็นเพิ่มมากขึ้น ทำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
บริหารนิ้วโดย การกำ และ แบมือ ป้องกันนิ้วล็อค ท่านี้สามารถทำได้ระหว่างวัน โดยเมื่อรู้สึกเมื่อยล้าให้พยายามกำ และแบนิ้วมือ กางให้สุด และค่อย ๆ กำนิ้วแต่ละข้อนิ้วเข้ามา จนกลายเป็นกำปั้นให้แน่น และค่อย ๆ คลายแบออก ทำซ้ำไปแต่ละข้าง นอกจากนี้อาจจะใช้อุปกรณ์ช่วย เช่นกำขวดหรือกระป๋องทรงกลม บิดผ้าขนหนู เพื่อให้นิ้วได้ยืดเหยียดไม่เกิดอาการนิ้วล็อค
นิ้วล็อค เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ แต่หากไม่ป้องกันอาการนิ้วล็อคแต่เนิ่น ๆ ปล่อยให้มีอาการมากขึ้น อาจต้องทำการรักษาด้วยการกินยา ฉีดยา หรืออาจถึงขั้นจำเป็นต้องทำการผ่าตัดแก้ไขอาการนิ้วล็อคเลยทีเดียว ดังนั้นหยุดจิ้มมือถือแล้วมาบริหารนิ้วกันเลยค่ะ!
ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี