หอบเหนื่อย เหนื่อยง่าย หายใจไม่สุด หายใจได้แค่ครึ่งปอด หรือมีอาการเพลียง่าย ทำงานรู้สึกเหนื่อยง่าย อาจเป็นสัญญาณเตือนได้ว่าร่างกายของคุณอาจมีโรคร้ายซุกซ่อนอยู่ก็เป็นได้ มาดูกันว่าอาการ หอบเหนื่อย เตือนเราถึงโรคร้ายอะไรบ้าง GedGoodLife มีคำตอบมาฝากทุกคนแล้ว
เพลีย หรือ หอบเหนื่อย กันแน่ ต้องแยกให้เป็น
อันดับแรก เราต้องแยกให้ออกก่อนว่า เพลีย กับ เหนื่อย แตกต่างกันอย่างไร เรื่องนี้จะมีประโยชน์เมื่อเราไปพบแพทย์ จะทำให้แพทย์เข้าใจอาการของเรามากขึ้นนั่นเอง
- อาการเพลีย คือ อาการที่เหมือนหมดพลัง หมดแรง เช่น ไปวิ่งมาเยอะ ๆ เสียเหงื่อ เสียเกลือแร่ เหล่านี้คือ อาการเพลีย
- อาการเหนื่อย คือ การหายใจไม่ทัน รู้สึกหายใจไม่คล่อง ฉะนั้น คำว่าเหนื่อย จะอยู่ที่การหายใจ
หอบเหนื่อย เกิดจากอะไร ?
หอบ เหนื่อย Shortness of Breath (Dyspnea) คือ อาการหายใจลำบาก มักมีหายใจเร็วร่วมด้วย ผู้ป่วยที่มีอาการหอบ สังเกตได้จากการหายใจเร็วขึ้น ซี่โครงบานออก ทรวงอกยกสูงขึ้นขณะหายใจเข้า ช่องที่อยู่ระหว่าง และเหนือซี่โครงบุ๋มลง มักมีจมูกบานถ้าหอบเหนื่อยมาก อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หายใจเสียงดัง เป็นต้น
คนปกติต้องหายใจ เมื่อหายใจเข้าร่างกายจะนำออกซิเจนซึ่งมีอยู่ในอากาศไปให้ร่างกายใช้ และเมื่อหายใจออกเพื่อนำเอาคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นของเสียที่สร้างขึ้นในร่างกายออกไป การหายใจควบคุมโดยศูนย์ควบคุมการหายใจในสมอง ซึ่งควบคุมให้ปริมาณการหายใจเป็นสัดส่วนกับความต้องการของออกซิเจนในร่างกาย โดยที่ตัวเองไม่ต้องรับรู้
เมื่อร่างกายต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น ศูนย์ควบคุมการหายใจก็จะกระตุ้นให้หายใจเพิ่มขึ้นตาม เมื่อต้องการออกซิเจนน้อยลง ศูนย์ควบคุมการหายใจจะสั่งให้หายใจน้อยลง โดยไม่รู้สึกตัวว่าหายใจมาก หรือหายใจน้อย แต่ตัวเองสามารถควบคุมการหายใจได้เช่นกัน เช่น ถ้าต้องการจะกลั้นหยุดหายใจ หรือจะหายใจเร็วก็สามารถทำได้ การหายใจต้องใช้พลังงานโดยมีกล้ามเนื้อช่วยการหายใจ ได้แก่ กล้ามเนื้อที่ยึดซี่โครงของทรวงอก และกระบังลมหดตัว ทำให้ทรวงอกเคลื่อนไหวเป็นตัวสำคัญ
อาการหอบเหนื่อย เตือนโรคร้ายอะไรบ้าง ?
อาการหอบ เหนื่อยง่าย เป็นอาการที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคร้ายต่าง ๆ ดังนี้
1. โรคปอด
จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เมื่อปีพ.ศ. 2561 พบว่ามีผู้ป่วยโรคปอดอักเสบมากถึง 131,247 ราย เสียชีวิต 96 ราย โดยกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป ถือเป็นกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปี มีความต้านทานโรคต่ำ จึงมีความเสี่ยงเกิดความรุนแรงของโรคถึงขั้นเสียชีวิตมากที่สุด
สำหรับโรคปอดในผู้ป่วยที่อายุน้อย และหนุ่มสาวมักเป็น โรคหอบหืด ส่วนคนอายุมากมักจะเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และถุงลมปอดโป่งพอง การตรวจเอกซเรย์ปอด และตรวจสมรรถภาพปอดจะตรวจพบผู้ป่วยได้เกือบทั้งหมด แต่บางครั้งแพทย์อาจต้องการการตรวจเพิ่มเติม เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอน และเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
2. ภาวะโลหิตจาง
ถ้าหากสังเกตตัวเองแล้วพบว่า มีอาการตัวซีด หายใจหอบเหนื่อย เวียนหัวง่าย ใจสั่น หน้ามืด มือเย็น เท้าเย็น อาการเหล่านี้ กำลังบ่งชี้ว่าเราเป็นโรคโลหิตจาง โรคนี้ถ้าเป็นมาก ก็อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้เลยทีเดียว ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด งดดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่
3. โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ
เป็นโรคที่ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย ผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 25 ปีมีโอกาสเป็นโรคเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ 0.2 รายต่อประชากร 100,000 ราย อายุ 35 – 44 ปีมีโอกาสเป็น 14.7 รายต่อประชากร 100,000 ราย อายุ 75 – 84 ปี มีโอกาสเป็น 1252.2 รายต่อประชากร 100,000 ราย
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าผู้ป่วยมีอายุน้อยกว่า 44 ปี ไม่มีอาการเจ็บ ไม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูง โดยเฉพาะมีเอกซเรย์หัวใจและคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ปกติแล้วอาจพูดได้เลยว่า โอกาสที่อาการเหนื่อยง่ายจะเป็นจากโรคหัวใจนั้นน้อยมาก แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจก็มีความจำเป็นที่ต้องให้แพทย์ผู้ชำนาญการทางโรคหัวใจตรวจหาสาเหตุที่แน่นอนและรักษาอย่างต่อเนื่อง
4. โรคหอบหืด
โรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้เยื่อบุและผนังหลอดลมตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นจากภายใน และจากสิ่งแวดล้อมมากกว่าปกติ ส่งผลให้หายใจไม่สะดวกและมีเสียงหวีด เหนื่อยหอบ ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก โดยเฉพาะตอนกลางคืนและช่วงเช้ามืด หรือในสภาพอากาศที่เย็นและแห้ง ปราศจากความชื้น ก็สามารถกระตุ้นให้หลอดลมเกิดการหดตัว ส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจลำบากและมีอาการหอบหืดกำเริบได้ โดยหอบหืดสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย และทำให้เสียชีวิตได้หากอาการรุนแรง
ผู้ป่วยโรคหอบหืด มักพบว่ามีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วยถึงร้อยละ 50-85 เมื่อผู้ป่วยมีอาการทางจมูกมากขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบมากขึ้นได้ และในทางตรงกันข้าม ถ้าได้ควบคุมอาการของโรคจมูกได้ดี ก็จะทำให้อาการหอบหืดน้อยลงด้วย
5. โรคเบาหวานเป็นพิษ
ซึ่งเกิดจากการควบคุมโรคเบาหวานไม่ดี ทำให้เกิดของเสีย และกรดคั่งในร่างกาย จึงเกิดอาการหอบเหนื่อย และอาจหมดสติได้ โรคคอพอกเป็นพิษที่เป็นมากก็จะทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยได้ ซึ่งเมื่อมีอาการหอบเหนื่อยแล้ว อาการอื่น ๆ ของโรคคอพอกเป็นพิษ มักจะปรากฏให้เห็นชัดเจน เช่น ผอมลงมาก ชีพจรเต้นเร็ว ผิวหนังจะเนียนละเอียดกว่าคนอื่นในเพศ และวัยเดียวกัน ตาดุ และอาจจะตาโปนด้วย มือสั่น หงุดหงิดง่าย เป็นต้น
6. โรคระบบไต ภาวะไตวาย
ถ้าเป็นมากจะทำให้เกิดการคั่งของเกลือ และน้ำในร่างกาย ถ้าน้ำ และเกลือคั่งมาก ก็จะทำให้เท้าบวม หน้าบวม และปอดบวมน้ำจนเกิดอาการหอบเหนื่อยได้ โรคไตยังทำให้ของเสียคั่งในร่างกาย เมื่อของเสียคั่งมาก ๆ จะทำให้เลือดเป็นกรด ซึ่งทำให้ต้องหายใจเร็ว และลึก
7. โรคหลอดลมอักเสบ
คือโรคที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งเป็นท่อที่นำอากาศที่เราหายใจเข้าสู่ปอด ทำให้เยื่อบุหลอดลมบวม มีเสมหะในหลอดลม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ มีเสมหะ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก อาจหายใจมีเสียงดังหวีดได้ อาจมีอาการเจ็บคอ แสบคอ หรือเจ็บหน้าอกได้ ผู้ป่วยอาจมีไข้ รู้สึกครั่นเนื้อ ครั่นตัวได้
8. ภาวะหัวใจโต
หัวใจโตผิดปกติ อันตราย ถ้ารักษาไม่ทัน อาจถึงชีวิตได้เลย โดยภาวะหัวใจโต มักมีอาการ หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ เวียนศีรษะ อ่อนเพลียง่าย
9. โควิด-19
ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ โดยอาการเบื้องต้นอาการของโรค คือ มีไข้สูงเกินกว่า 37.5 องศา มีอาการไอแห้ง ๆ ไอแบบมีเสมหะ เจ็บคอ มความรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว และหายใจเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก
หมอแนะนำ! แสงแดด ช่วยลดอาการหอบเหนื่อยได้
หมอวินัย โบเวจา หมอโรคปอด และทางเดินหายใจ ได้ให้คำแนะนำวิธีลดอาการ หอบเหนื่อย ด้วยแสงแดด ไว้ว่า…
“แสงแดดอยู่คู่กับมนุษย์มานาน แต่ที่ผ่านมาก็มีกระแสทำให้คนกลัวแสงแดดมากขึ้น คือ ผิวดำ ผิวคล้ำ มะเร็งผิวหนัง และฮีทสโตรก แต่แสงแดดที่ดี มีปริมาณพอเหมาะ คือ แสงแดดตอนเช้า ก่อน 9 โมงเช้า หรือ 8 โมง สัก 15-20 นาที เพราะ วิตามินดีเพิ่มความแข็งแรง ลดอาการหอบเหนื่อยได้ บำรุงกระดูก ลดการอักเสบในร่างกาย ลดความเสี่ยงกำเริบในคนไข้โรคปอด และทางเดินหายใจ
แสงแดดยังสามารถเพิ่มสมรรถภาพหัวใจ กระตุ้นให้หัวใจแข็งแรง สุขภาพดี และคนไข้โรคปอดถุงลมโป่งพอง อาจจะมีอารมณ์วิตกกังวลสูง ซึมเศร้าสูง ร่วมด้วย ซึ่งคุณหมอวินัย กล่าวว่า แสงแดดยังรักษาโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย เพราะ แสงแดดจะช่วยกระตุ้น จัดระเบียบฮอร์โมนตื่น และฮอร์โมนนอน ให้มีความสมดุลมากขึ้น สามารถใช้ได้กับคนไข้ทุกคน โดยเฉพาะชาวออฟฟิศ ที่นอนดึก
คุณหมอกล่าวต่อว่า แสง UVB สามารถกระตุ้นให้ผิวหนังหลั่งสารบางตัวให้ระงับ หรือลดอาการปวดในร่างกายได้ ฉะนั้น คนเมือง city life ผู้ที่อยู่แต่ในตึก ในบ้าน ในคอนโด ลองออกมาโดนแดดตอนเช้าบ้าง แล้วลองดูว่าคุณภาพชีวิตดีขึ้นไหม”
วิธีหายใจลดอาการ หอบเหนื่อย
นิดา วงศ์สวัสดิ์ นักกายภาพบำบัด ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า
หากตัวเรามีอาการหอบในช่วงระหว่างที่กำลังทำกิจกรรม ควรหยุดกิจกรรมนั้นทันที แล้วให้พักจัดท่าทางโดยโน้มลำตัวมาด้านหน้า เพื่อให้อวัยวะภายในช่องท้องดันความโค้งของกะบังลมให้ความยาวอยู่ในช่วงที่เหมาะสมสำหรับการทำงาน ช่วยให้หายใจได้ง่ายขึ้น และลดการทำงานของกล้ามเนื้อเสริมในการหายใจ
ให้หายใจเข้าทางจมูกตามปกติ และหายใจออกทางปาก วิธีการคือ ช่วงที่เราหายใจออกห่อปากจู๋แล้วค่อย ๆ ปล่อยลมหายใจออกช้า ๆ ทางปากให้นานที่สุดอาจใช้การนับเลขในใจเพื่อเป็นการควบคุมความยาวในการหายใจออก เช่น หายใจเข้านับเลข 1-2 หายใจออกยาว ๆ นับ 1-4 เพื่อลดการตีบแคบของทางเดินหายใจ และช่วยให้ผ่อนคลายทำให้ลดอาการปวดได้
อ้างอิง
1. โรคปอดและทางเดินหายใจ หมอวินัยโบเวจา 1/2 2. thaihealth 3. bangkokhospital 4. mahidol 5. rama 6. malengpod 7. โรคปอดอักเสบ
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife