การใช้ยา กินยา จำเป็นต้องมีความรู้ ใช้ให้ถูกวิธี เพื่อความปลอดภัย และรักษาอาการของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้ GedGoodLife จึงขอนำข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการรับประทานยาที่ถูกต้องมาฝาก พร้อมเคล็ดลับต่าง ๆ ในการใช้ยา มาติดตามกันเลย!
ทำความเข้าใจเรื่อง การใช้ยา อย่างถูกต้อง
ข้อสำคัญที่สุดใน การใช้ยารักษาโรค คือ การเลือกใช้ยาอย่างถูกต้องกับอาการของโรคนั้น ๆ ถ้าใช้ถูก อาการก็หาย แต่ถ้าใช้ผิด นอกจากจะไม่หายจากโรค ยังอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้อีกด้วย!
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยกินยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาโรคหวัด เช่น ยาเพนนิซิลิน และอะม็อกซีซิลิน เป็นต้น ซึ่งเป็นการกินยาที่ผิดโรค เพราะ ยาเหล่านี้เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่ได้ฆ่าเชื้อไวรัสที่ต้นเหตุหลักของ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ นั่นเอง
การเลือกใช้ยาเบื้องต้น กับ 4 โรคยอดฮิต ที่คนไทยเป็นกันบ่อย!
อาการยอดฮิต หรือ โรคยอดฮิตของคนไทย มักจะมีหลัก ๆ อยู่ 4 โรคด้วยกัน ดังนี้
1. โรคไข้หวัด
ไข้หวัด โรคยอดฮิตตลอดปี เป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย เกิดจากการติดเชื้อ ทางเดินหายใจส่วนบน
ยาที่ควรใช้รักษา – โรคไข้หวัด ถ้ารักษาได้ถูกต้องจะหายได้ไว เมื่อเป็นไข้หวัดควรรับประทาน ยาแก้ปวด ลดไข้ ที่มีส่วนผสมของตัวยาพาราเซตามอล และที่สำคัญควร นอนหลับพักผ่อน ให้มาก ๆ ก็สามารถหายได้ภายใน 3-4 วัน หรือไม่เกิน 1 สัปดาห์
* โรคไข้หวัดไม่จำเป็นต้องทานยาปฏิชีวนะ และไม่ควรทานยาแอสไพริน เพราะผลข้างเคียงสูง
- โรคไข้หวัด โรคยอดฮิตตลอดปี! เป็นกี่วันหาย กินยาอะไรดี? สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
- เป็นหวัด ควรกินยาอะไรดี? แล้วอะไรคือสาเหตุของไข้หวัด? เรื่องควรรู้ก่อนซื้อยา
2. โรคภูมิแพ้
ทุกวันนี้คนไทยเป็นภูมิแพ้กันมากขึ้น โดยเฉพาะ แพ้อากาศ แพ้อาหาร แพ้ขนสัตว์ เป็นต้น อาการหลัก ๆ ของภูมิแพ้ คือ มีน้ำมูกใส ๆ ไหล ไอ จาม แต่ไม่มีไข้
ยาที่ควรใช้รักษา – ยาที่ดีที่สุดในการใช้รักษาโรคภูมิแพ้ ก็คือ ยาแก้แพ้ โดยยาแก้แพ้จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. แบบกินแล้วง่วง 2. แบบไม่ง่วง (หรือง่วงน้อย) ซึ่งแบบไม่ง่วงเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจากกินแล้วสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และที่สำคัญ หากรู้ว่าแพ้อะไร ให้เลี่ยงสิ่งที่แพ้ อาการแพ้ก็จะไม่กำเริบขึ้นมาอีก
- ภูมิแพ้ คืออะไร มีสาเหตุ อาการอะไรบ้าง หายขาดได้หรือไม่? พร้อมวิธีรักษาภูมิแพ้
- ยาแก้แพ้ มีกี่ชนิด และควรเลือกอย่างไรดี?
3. อาการไอ
ไอ เจ็บคอ ไอกลางคืน คืออาการยอดฮิตที่ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้าพบแพทย์ หรือเภสัชกร อยู่เสมอ และยังเป็นอาการหลักของโรคโควิด-19 อีกด้วย
ยาที่ควรใช้รักษา – อาการไอ เป็นอาการที่ต้องใส่ใจ และเข้าใจอย่างถูกต้อง เช่น ถ้าไอมีเสมหะ ก็ควรเลือกกิน ยาแก้ไอขับเสมหะ แต่ถ้ามีอาการไอมาก ๆ พร้อมกับมีอาการอื่นร่วมด้วย ควรรีบเข้าปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร
4. ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง กรดไหลย้อน
อาการปวดท้อง เป็นหนึ่งในอาการที่มีผู้ป่วยถามเข้ามามากที่สุดในบอร์ด GED : AskExpert เพราะเป็นโรคที่ค่อนข้างยากที่จะวินิจฉัยด้วยตัวเอง
ยาที่ควรใช้รักษา – อาการปวดท้องต่าง ๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา และถ้ามีอาการท้องเสีย ควรกินเกลือแร่แก้ท้องเสีย ห้ามกินเกลือแร่ออกกำลังกาย เพราะไม่สามารถทดแทนกันได้
- อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง ต้องการความใส่ใจมากกว่าที่คิด
- 15 คำถามเรื่องกรดไหลย้อน สาเหตุ อาการ วิธีรักษา มีคำตอบที่ GED : Ask Expert
2. ปรึกษาแพทย์ และเภสัชกร ก่อนใช้ยาเสมอ
ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาหลายรายการ ไม่ควรปรับเปลี่ยนยาด้วยตัวเอง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อาการป่วยกำเริบมากขึ้น มักจะคิดว่า ปรับยากินเองให้มากขึ้น อาการป่วยก็จะหายไว ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด และอันตราย! และไม่ควรแนะนำผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายกัน กินยาประเภทเดียวกันกับเรา ควรแนะนำให้ไปพบแพทย์จะดีกว่า
ภญ.จันทิมา โยธาพิทักษ์ ผู้ช่วยนายกสภาเภสัชกรรม ฝ่ายวิชาการ แนะแนวทาง การใช้ยา เพื่อให้สามารถเลือกยาได้ถูกกับโรค ถูกขนาด ถูกเวลา และถูกวิธี ดังนี้…
• หลังได้รับยาควรตรวจดูยา และอ่านฉลากยาให้เข้าใจทุกครั้ง ถ้ามีข้อสงสัยสอบถามแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกรทันที และรับประทานยาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
• หากผู้ป่วยมีปัญหาในการใช้ยา เช่น กลืนยาลำบาก ต้องแจ้งเพื่อจะได้เปลี่ยนเป็นยาน้ำ
• ในระหว่างการใช้ยา หากพบอาการที่ผิดปกติ เช่น ใช้ยาไปแล้วขาบวม ปัสสาวะบ่อย ไอเรื้อรัง เป็นต้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะอาจเกิดจากยาที่ใช้อยู่
• ใช้ยาเท่าที่จำเป็นไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะยาบางชนิดมีความเสี่ยงในการใช้ จำเป็นต้องติดตามการใช้อย่างใกล้ชิด อีกทั้งอาจตีกันกับยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่เป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ และเภสัชกรก่อนการใช้ยาใหม่ ๆ
• เมื่อต้องไปพบแพทย์ หรือไปโรงพยาบาล ต้องนำยาทุกชนิด ซึ่งรวมถึงสมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้อยู่ไปแสดงแก่แพทย์ หรือเภสัชกรเสมอ
คำถามสำคัญที่ต้องถามแพทย์ หรือเภสัชกรทุกครั้ง
– ชื่อสามัญ และชื่อการค้าของยาชนิดนี้คืออะไร (ถ้าถามแล้วลืม สามารถหาข้อมูลจากการพิมพ์ชื่อยา ยี่ห้อยา ในอินเตอร์เน็ตได้)
– ยาออกฤทธิ์อย่างไร มีผลอยู่ได้กี่ชั่วโมง
– ยาทำให้เกิดอาการข้างเคียงหรือไม่ และถ้ามีผลข้างเคียง มีอะไรบ้าง
– ต้องกินยาวันละกี่ครั้ง กินอย่างไร และนานเท่าใด (ให้แพทย์ หรือเภสัชกรเขียนลงถุงใส่ยาก็ได้)
– ระหว่างการใช้ยา ต้องงดอาหาร หรือเครื่องดื่มชนิดใดหรือไม่
– ถ้าลืมกินยา ควรทำยังไง
– อย่าลืมดู วดป ที่ผลิต ก่อนนำยากลับบ้าน
การใช้ยา ประเภทต่าง ๆ ควรใช้อย่างไร?
ยารักษาโรคมีอยู่หลากหลายชนิด และหลากหลายวิธีการใช้ ผู้ป่วยจึงต้องมีความรู้ วิธีใช้ยา ก่อนรับประทานด้วยเสมอ ข้อมูลจาก สสส. ได้ระบุวิธีใช้ยาตามหัวข้อต่าง ๆ ไว้ ดังนี้
1. รู้ชื่อยา
เมื่อใช้ยาใดต้องรู้ชื่อยา ซึ่งต้องเป็นชื่อทางยาไม่ใช่ชื่อการค้า เช่น แอสไพริน พาราเซตามอล ฯลฯ เพราะอาจแพ้ หรือเกิดอันตรายจากยา ถ้าไม่รู้ชื่อยาก็ยากแก่การแก้ไขช่วยเหลือให้ทัน และเมื่อแพ้ยานั้นแล้วก็ต้องจดจำชื่อไว้ ไม่ใช้ยานั้นอีก
2. วิธีใช้
ให้ใช้ตามหลัก 5 ถูก คือ 1. ถูกโรค 2. ถูกคน 3. ถูกขนาด 4. ถูกเวลา 5. ถูกวิธี และแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนใช้ยา เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด และใช้อย่างถูกต้อง
• ถูกโรค เช่น เมื่อปวดหัวก็ต้องกินยาแก้ปวด ลดไข้ ไม่ใช่กินยาแก้ปวดท้อง เวลาปวดท้องก็ไม่ใช่กินยาแก้ปวดลดไข้ เป็นต้น
• ถูกคน โดยดูว่ายาชนิดใด ใช้กับเพศใด วัยใด เช่น ยาคุมกำเนิดสำหรับผู้หญิง ผู้ชายไม่ควรกิน หรือยาสำหรับผู้ใหญ่ ก็ไม่ควรให้เด็กกิน เป็นต้น
• ถูกขนาด ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัช ว่าควรกินอย่างไร โรคชนิดไหนต้องใช้ยาปริมาณเท่าไร นานเท่าไร ถี่แค่ไหน เช่น ยาปฏิชีวนะต้องกินอย่างน้อยประมาณ 5-7 วันติดต่อกัน หลังอาหาร 3 มื้อ และก่อนนอน เป็นต้น
การใช้ยาน้ำที่บอกขนาดเป็นช้อนชา ช้อนโต๊ะ เป็นปัญหาเข้าใจกันผิด ๆ เพราะไม่เท่ากับช้อนกาแฟ หรือช้อนกินข้าว คือ
– 1 ช้อนชา เท่ากับ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนสังกะสี เท่ากับ 1 ช้อนชาครึ่ง
– 1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 15 มิลลิลิตร เท่ากับ 3 ช้อนชา หรือ เท่ากับ 2 ช้อนสังกะสี
ถ้าเป็นไปได้ควรซื้อช้อน หรือถ้วยยาที่บอกขนาดจากร้านขายยามาเก็บไว้ประจำตู้ยา
• ถูกเวลา เช่น ยาก่อนอาหาร ยาหลังอาหาร ก็ต้องกินตามเวลา เพื่อให้ยาดูดซึมได้ดีที่สุด ลดอาการข้างคียงอื่น ๆ ให้ยาออกฤทธิ์ต่อร่างกายได้เหมาะสม
• ถูกวิธี เช่น ยาลดกรดชนิดเม็ดต้องใช้เคี้ยวก่อนกลืน ยาโรคหัวใจบางอย่างต้องอมใต้ลิ้น ยาแก้ปวดต้องกินหลังอาหาร หรือดื่มน้ำตามมาก ๆ เพราะยาอาจจะระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ยาน้ำ แขวนตะกอนต้องเขย่าขวดก่อนใช้ เป็นต้น
3. ข้อห้าม
ข้อห้าม ข้อควรระวังในการใช้ยาแต่ละชนิด ซึ่งอาจดูได้จากฉลาก หรือสอบถามจากผู้รู้ เช่น
- ยาแก้ปวดพวกแอสไพริน ห้ามกินในคนเป็นโรคกระเพาะ หอบหืด โรคเลือดไหลไม่หยุด ไข้เลือดออก
- ยาลดน้ำมูก อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม ไม่ควรขับขี่ยวดยาน หรือทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักร
- ยาลดกรดต้องไม่ใช่ร่วมกับยาปฏิชีวนะพวกเตตร้าซัยคลีน ยาบำรุงเลือด
- หญิงมีครรภ์ แม่ระยะให้นมลูก และเด็ก ต้องระมัดระวังในการใช้ยาให้มากขึ้น ยาบางชนิดห้ามใช้เด็ดขาด เพราะจะเป็นอันตรายต่อเด็กได้ เป็นต้น
4. วันหมดอายุ
ยาทุกชนิดมีวันหมดอายุ ยาทั่วไม่ควรเก็บไว้ใช้เกิน 5 ปี ส่วนยาปฏิชีวนะ ให้สังเกตที่ฉลากจะบอกวันหมดอายุ เป็นภาษาอังกฤษ เช่น Expiry Date
- 6/12/64 แสดงว่า ยาหมดอายุ วันที่ 6 เดือนธันวาคม ปี2564 หรือ…
- 0620/0522 แปลว่า ยาผลิตเดือน 6 ปีค.ศ. 2020 และหมดอายุ เดือน 5 ปีค.ศ. 20222
ไม่ควรใช้ยานั้นหลังวันหมดอายุ นอกจากถ้าเก็บยาไว้ไม่ดี เช่น ในที่อับชื้น ยาอาจเสื่อมสภาพ สังเกตได้จาก สี กลิ่น รส หรือลักษณะภายนอกเปลี่ยนแปลงไป เช่น ชื้น เยิ้ม เหลว เกาะกันแข็งเป็นก้อน มีผลึกวาว กลิ่นน้ำส้ม ต้องทิ้งไป ไม่นำมาใช้อีก เพราะนอกจากรักษาโรคไม่หายแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดพิษภัยแก่ร่างกายอีกด้วย
5. ไม่ใช้ตามคำโฆษณาโดยไม่ศึกษา
เพราะโฆษณามักพูดแต่สรรพคุณด้านดีต่าง ๆ นานา ทำให้ไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง นอกจากนั้นเมื่อใช้แล้วอาจไม่ได้ผล สิ้นเปลืองเงินทอง และอาจเกิดโรคอื่น ๆ ตามมาอีก
หลักการใช้ยาให้ถูกต้องตามเวลาต่าง ๆ
จากหลักการใช้ยา 5 ถูก ที่กล่าวไปข้างต้น ข้อที่เกิดความสับสนกับผู้ใช้ยามากที่สุด คือ “ถูกเวลา” โดยเฉพาะยาชนิดกิน เนื่องจากไม่ทราบว่ากินยาเวลาใดจึงจะเหมาะสม และถูกต้อง ซึ่งถ้ากินยาไม่ถูกเวลา ก็จะส่งผลต่อการรักษาได้
ยาก่อนอาหาร
ควรกินก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง เนื่องจากยาเหล่านี้จะดูดซึมได้ดีตอนท้องว่าง หรือ อาหารมีผลรบกวนการดูดซึม จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา เช่น
- ยาฆ่าเชื้อบางชนิด ควรกินก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมียาบางชนิด เช่น ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด (ชนิดกินก่อนอาหาร)
- ยาแก้อาเจียน มีความจำเป็นต้องให้กินยาก่อนอาหารประมาณ 30 นาที เนื่องจากเหล่านี้ใช้เวลาออกฤทธิ์ประมาณ 30 นาที
ยาหลังอาหาร – การกินยาหลังอาหารมี 2 กรณี
- กรณีที่ 1 อาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมของยาสามารถกินยาหลังอาหารทันที หรือหลังอาหารประมาณ 15 นาทีก็ได้
- กรณีที่ 2 ยาที่ระคายเคืองทางเดินอาหารอาจจะทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหารได้ เช่น ยาแก้ปวดบางชนิด จึงต้องกินหลังอาหารทันที เพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร
ยาระหว่างมื้อ
ให้รับประทานยาก่อน หรือ หลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง โดยถ้าเลือกรับประทานยาก่อนอาหารแล้ว ครั้งต่อไปก็ต้องรับประทานก่อนอาหารทุกครั้งของการรักษาคราวนั้น ๆ
ยาก่อนนอน – การกินยาก่อนนอนมี 2 กรณี
- กรณีที่ 1 กลุ่มยานอนหลับ ควรกินก่อนที่จะนอนประมาณ 15 – 30 นาที เพื่อให้ยา ออกฤทธิ์ในการนอนหลับได้พอดีกับการนอน
- กรณีที่ 2 ยาที่ไม่ใช่กลุ่มยานอนหลับ ควรเว้นระยะห่างจากยาหลังอาหารมื้อเย็นประมาณ 4 ชั่วโมง (เนื่องจากมีบางท่านนอนดึกมาก หรือทำงานในช่วงกลางคืนจนไม่ได้นอน จึงไม่แน่ใจว่าจะกินยาตอนไหนดี)
ยาที่ต้องกินให้ครบระยะเวลา
มักเป็นยาที่ต้องการให้มีปริมาณอยู่มากพอในกระแสเลือดตลอดเวลา เช่น ยาปฏิชีวนะต้องกินติดต่อกันอย่างน้อย 5-7 วัน หรือยาคุมกำเนิดที่ต้องกินวันละ 1 เม็ดก่อนนอนทุกวัน เพื่อให้ระดับฮอร์โมนของยาในร่างกายอยู่ในระดับสม่ำเสมอ
ยากินเมื่อมีอาการเท่านั้น
ยาพวกนี้เป็นยาบรรเทาอาการ เมื่ออาการดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องกินอีก ได้แก่ ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาแก้ไอ ยาขับเสมหะ ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ฯลฯ
เคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนกลืน
ยาบางกลุ่ม เช่นยาลดกรด ก่อนกลืนควรเคี้ยวให้ละเอียดเพื่อที่ตัวยาจะได้กระจายตัวทั่วส่วนต่าง ๆ ของระบบทางเดินอาหารได้ทั่วถึง และทำให้ยาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด
* ยาลดกรดบางยี่ห้อ ไม่จำเป็นต้องเคี้ยว ซึ่งจะมีระบุไว้หน้าซอง เช่น ยาลดกรดยี่ห้อ เครมิล (kremil)
ยาเม็ด ยาน้ำ ยาผง ยาอม ฯ ใช้อย่างไรให้ถูกต้อง?
ยาเม็ดหรือแคปซูล – กลืนยาทั้งเม็ด หรือแคปซูลพร้อมน้ำโดยไม่ต้องเคี้ยวยา ยกเว้นยาที่ระบุว่า “ควรเคี้ยวยาก่อนกลืน” เช่นยาลดกรดในกระเพาะ เป็นต้น
ยาผงสำหรับรับประทาน – หากทางแบรนด์ระบุให้ละลายน้ำก่อนกิน ก็ต้องละลายน้ำก่อนเสมอ ไม่ควรกินทั้งที่ยังเป็นผงอยู่
ยาน้ำสำหรับรับประทาน – เขย่าขวดก่อนกินทุกครั้ง เพื่อให้ตัวยาไม่นอนก้น และกระจายทั่วขวด และควรใช้ช้อนตวงยา หรือหลอดยาที่ติดมากับขวดยา ห้ามใช้ช้อนกาแฟ หรือช้อนรับประทานอาหาร เพราะทำให้มีขนาดยาไม่ถูกต้อง
ยาขี้ผึ้ง หรือครีม – เป็นยาที่ใช้กับผิวภายนอกร่างกาย เวลาใช้ให้ทาบาง ๆ วันละ 2-3 ครั้ง โดยไม่ต้องถู หรือนวด ยกเว้นเมื่อมีระบุไว้ในฉลากเท่านั้น
ยาประเภทหยอดหู ตา จมูก ยาเหน็บ – ควรอ่านฉลากแนะนำให้เข้าใจก่อนใช้
ยาอม – เป็นยาที่ต้องการให้ละลายในปาก ห้ามเคี้ยว หรือกลืนยาทั้งเม็ด
ยาแผ่นชนิดปิดผิวหนัง – ควรปิดแผ่นยาเวลาเดียวกันอย่าสม่ำเสมอ อย่ารอให้มีอาการแล้วค่อยปิด เพราะจะได้ผลช้า
ยาหยอดตา – เมื่อเปิดยาใช้แล้ว ควรทิ้งหลังจาก 1 เดือน และล้างมือให้สะอาดก่อนใช้ยา
จะเห็นได้ว่า การอ่านฉลากก่อนใช้ยา เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อกันไม่ให้ใช้ยาผิด ๆ นั่นเอง
แพ้ยา VS ผลข้างเคียงจากยา แตกต่างกันอย่างไร?
ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า… คนส่วนใหญ่มักเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการแพ้ยา หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยา เพราะเมื่อไหร่ที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เช่น หลังทานยาแล้วง่วงนอน ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน แสบท้อง มักจะเข้าใจกันว่าเป็นอาการแพ้ยา
ซึ่งความจริงแล้วอาการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(Adverse Drug Reaction) หรือ ADR แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ 1. การแพ้ยา (Drug allergy) และ 2. อาการข้างเคียงจากยา (Side effect)
1. การแพ้ยา (Drug allergy)
เป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อต้านยาที่ได้รับเข้าไป ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าผู้ใช้ยาจะแพ้ยาตัวไหน ลักษณะอาการจะมีตั้งแต่เป็นผื่นแดงตามผิวหนัง ผื่นคัน ริมฝีปากบวม ตาบวม มีแผลบริเวณเยื่ออ่อน ไปจนถึงผิวหนังไหม้ หลอดลมตีบหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก
ดังนั้น ผู้ที่แพ้ยาควรจดจำชื่อยาที่แพ้ให้ได้ และควรพกบัตรแพ้ยาติดตัวไว้เสมอ เพื่อป้องกันการแพ้ยาซ้ำ
2. อาการข้างเคียงจากยา (Side effect)
หมายถึง อาการที่เกิดจากฤทธิ์ของยา จะเกิดขึ้นมากน้อย หรือแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละบุคคล เช่น ทานยาแก้ปวด Ibuprofen แล้วมีอาการแสบท้องเนื่องจากยาระคายกระเพาะอาหาร เรียกว่าเป็นผลข้างเคียงจากยา และอาจแก้ไขโดยทานยาหลังอาหารทันที หรือห้ามทานตอนท้องว่าง ในผู้ที่เคยเป็นโรคกระเพาะอาหารอาจต้องทานยาลดการหลั่งกรดร่วมด้วย
อย. แจงข้อเท็จจริงเรื่องยา ที่ประชาชนมักเข้าใจผิด!
สำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงข้อมูลเรื่องยาต่าง ๆ ที่ประชาชนมักมีความเข้าใจผิด ไว้ดังนี้
1. ยาฉีดไม่ได้ดีกว่ายารับประทานเสมอไป
ยาฉีดเป็นยาที่ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ยารับประทานได้ หรือจะต้องได้รับยาในระดับสูงทันทีเท่านั้น เนื่องจากตัวยาจะมีความรุนแรงในการรักษามากกว่า และแก้ไขได้ยากหากเกิดการผิดพลาดในการใช้
2. ยาแพงไม่ได้ดีกว่าเสมอไป
ราคาของยาไม่ได้บ่งชี้ถึงคุณภาพของยา เพราะบางครั้งยาตัวเดียวกันอาจจะมีราคาแตกต่างกัน เพราะค่าใช้จ่ายในการผลิต หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้ ยาบางชนิดอาจจะมีราคาที่ถูกกว่า แต่ให้ผลการรักษาที่ดีกว่าก็เป็นได้
3. ยาตัวใหม่อาจส่งผลข้างเคียงได้มากกว่า
หลายคนอาจจะคิดว่ายาตัวใหม่จะสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้ดีกว่า แต่จริง ๆ แล้วยาตัวใหม่อาจส่งผลข้างเคียงได้มากกว่า หรือรักษาอาการป่วยได้ช้ากว่า เนื่องจากยาตัวใหม่ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ออกฤทธิ์ดีเท่ายาตัวเก่าที่มีการพัฒนาจนสมบูรณ์แล้ว
4. ยาขนานแรงไม่เหมาะกับทุกคน
ยาขนานแรงไม่ใช่ยาที่ดีที่สุดค่ะ เพราะถึงแม้ว่าจะขนานแรง แต่ถ้าไม่ใช่ยาที่รักษาได้ตรงอาการก็ไม่สามารถหายป่วยได้เช่นกัน แถมยังอาจจะส่งผลเสียทำให้ยาเกิดการตกค้างในร่างกายได้อีกด้วย
5. ยาชุดอาจจะเป็นอันตรายกว่ายาทั่วไป
ยาชุดบางชนิดมีการเพิ่มตัวอย่างบางอย่างเข้าไปจนกลายเป็นอันตราย อย่างเช่นสารสเตียรอยด์ เพื่อให้ยาเหล่านั้นแรงขึ้น และทำให้หายป่วยไว แต่ถ้าหากรับประทานบ่อย ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ การรับประทานเพียงชนิดเดียวสามารถรักษาให้หายป่วยได้เช่นกัน และปลอดภัยกว่ามาก
6. รับประทานยาไม่ตรงเวลา ยาที่ใช้ก็ไร้ประโยชน์
ยาหลายชนิดมีการระบุเวลาการใช้ยาเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งควรทำตาม เพราะหากรับประทานยาไม่ตรงเวลา ยาเหล่านั้นก็อาจจะออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ หรือไม่มีผลต่อการรักษาเลยก็ได้ หรือยาบางชนิดอาจจะมีผลข้างเคียงซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้หากรับประทานยาผิดเวลา
7. ยาถ่ายไม่สามารถทำให้น้ำหนักลดได้
ความจริง… “ยาถ่าย” มีข้อบ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการท้องผูก โดยยาจะกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวแล้วถ่ายอุจจาระออกมา แต่ไม่มีผลช่วยให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญ
ดังนั้นยาถ่ายจึงไม่มีผลทำให้น้ำหนักลดลงได้ ที่สำคัญ การใช้ยาถ่ายบ่อย ๆ จะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ คือ ทำให้ลำไส้เฉื่อยไม่สามารถถ่ายอุจจาระได้เอง ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ และเกลือแร่ รวมถึงส่งผลต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ ได้
จะรู้ได้อย่างไร ว่ายาเสียแล้ว?
นอกจากการดู วันเดือนปี ผลิตแล้ว แนะนำให้สังเกตลักษณะของยาดังนี้
ยาเม็ด – มีลักษณะแตกกร่อน กะเทาะ เปลี่ยนสี หรือสีซีด
ยาเม็ดเคลือบ – มีลักษณะเยิ้มเหนียว
ยาแคปซูล – มีลักษณะบวม โป่งพอง ผงยาภายในจะจับกันเป็นก้อน เปลี่ยนสี หรืออาจมีเชื้อราขึ้นบนเปลือกแคปซูล
ยาน้ำเชื่อม – มีลักษณะขุ่น มีตะกอน เปลี่ยนสี มีกลิ่นบูด หรือเหม็นเปรี้ยว
ยาน้ำแขวนตะกอน – มีลักษณะตะกอนจับตัวเป็นก้อนแข็ง เขย่าแรง ๆ ก็ไม่กระจาย
ยาน้ำอีมัลชั่น – มีลักษณะเขย่าแล้วไม่รวมตัวเป็นเนื้อเดียวกัน
ยาครีม – มีลักษณะแยกชั้น ไม่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อครีมเปลี่ยนสี
ยาหยอดตา – เปลี่ยนจากน้ำใส ๆ เป็นน้ำขุ่น หรือหยอดตาแล้วมีอาการแสบตามากกว่าปกติ โดยทั่วไปยาหยอดตาจะมีอายุไม่เกิน 1 เดือน หลังการเปิดใช้ (หากเป็นชนิดไม่เติมสารต้านเชื้อควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน)
เก็บยาอย่างไรให้ถูกต้อง
1. เก็บให้พ้นแสงแดด ไม่เก็บไว้ในรถ
2. เก็บยาไว้ในอุณหภูมิที่ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส
3. ปิดฝาให้สนิทเมื่อไม่ได้ใช้ยา
4. ใช้ภาชนะเก็บยาที่เหมาะสม
5. ตรวจสอบวันหมดอายุของยาเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันยาเสื่อมคุณภาพ
6. อย่าเก็บยาใช้ภายนอกรวมกับยากิน
7. อย่าเก็บยาในที่ชื้น
8. เก็บยาให้พ้นมือเด็ก
อ่านวิธีเก็บยาให้ถูกต้องเพิ่มเติม ได้ที่นี่ -> เภสัชกรแนะนำ วิธีเก็บยา อย่างถูกวิธี พร้อมไขความเชื่อเรื่อง เก็บยาในตู้เย็น ดีจริงหรือ?
อ้างอิง :
1. dailynews 2. thaihealth 3. anamaimedia 4. healthserv 5. hosthai 6. oryor 1 / 2 7. rongreinkhongnoo
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife