สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงน่าเป็นห่วง มีทั้งผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน และถ้าสังเกตกัน ก็จะพบว่า ผู้เสียชีวิตหลายร้อยรายมักจะมีโรคประจำตัวร่วมด้วย ฉะนั้นวันนี้ GedGoodLife จึงได้รวบรวม 9 โรคประจำตัว กลุ่มเสี่ยงตายสูง จากโรคโควิด-19 !! มาฝากกัน พร้อมวิธีป้องกันจากทั้ง 9 โรคนี้ด้วย จะมีอะไรบ้าง มาติดตามกันได้เลย
เรียงอันดับโรคประจำตัวตายสูงสุด จากรายงานผู้เสียชีวิตในวันที่ 1-6 พ.ค. 64
GedGoodLife ได้รวบรวมข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ในวันที่ 1-6 พ.ค. 64 จาก ศบค. “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” พบว่า มีผู้เสียชีวิตจำนวน 133 ราย และสามารถเรียงอันดับโรคประจำตัวตายสูงสุดใน 6 วันดังกล่าว ได้ดังนี้
อันดับที่ 1 โรคความดันโลหิตสูง – เสียชีวิตรวม 73 ราย
อันดับที่ 2 ไขมันในเลือดสูง – เสียชีวิตรวม 29 ราย
อันดับที่ 3 โรคเบาหวาน – เสียชีวิตรวม 25 ราย
อันดับที่ 4 โรคหัวใจ – เสียชีวิตรวม 22 ราย
อันดับที่ 5 โรคไตเรื้อรัง – เสียชีวิตรวม 20 ราย
อันดับที่ 6 โรคอ้วน – เสียชีวิตรวม 16 ราย
อันดับที่ 7 โรคปอดเรื้อรัง – เสียชีวิตรวม 10 ราย
อันดับที่ 8 โรคมะเร็ง – เสียชีวิตรวม 7 ราย
อันดับที่ 9 โรคหลอดเลือดสมอง – เสียชีวิตรวม 5 ราย
อันดับที่ 10 ออทิสติก / Scleroderma /ความจำเสื่อม / โรคไทรอยด์ – เสียชีวิตรวมโรคละ 1 ราย
จะเห็นได้ว่า 5 อันดับแรกมักเกิดจาก โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ซึ่งถือเป็นโรคอันตราย เสี่ยงตายสูง
9 โรคประจำตัว กลุ่มเสี่ยงตายสูง จากโรคโควิด-19
งานวิจัยล่าสุดจาก คณะนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ประเทศออสเตรเลีย ค้นพบว่า โรคมะเร็ง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง คือ 4 โรคร่วมหลัก ที่นำไปสู่การเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
ศาสตราจารย์ซูเรช มาห์ลินกัม ผู้เขียนหลักของงานวิจัย กล่าวว่า “โรคโควิด-19 เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของลิ่มเลือด ซึ่งผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนของลิ่มเลือดอุดตันอันเป็นอันตรายต่อชีวิต”
และ 8 โรคประจำตัวที่ต้องระวังไม่ให้ติดโควิด-19 พร้อมวิธีป้องกันโรคแบบง่าย ๆ มีดังนี้
1. โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension / High Blood Pressure)
ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เมื่อป่วยด้วยโรคโควิด-19 อาจมีความเสี่ยงนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย และเสียชีวิตได้สูง เนื่องจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 (โรคโควิด-19) ส่งผลให้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ 17% กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 7% ส่งผลให้เกิดระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว 9%
องค์การอนามัยโลก กำหนดไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2542 ว่า… “ผู้ใดก็ตามที่มีความดันโลหิตวัดได้มากกว่า 140/90 มม.ปรอท ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง”
3 วิธีง่าย ๆ ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน ทานผัก-ผลไม้ งดเค็ม งดสุรา
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความเครียด
- ตรวจเช็คร่างกาย และวัดความดันโลหิตเป็นประจำ
อ่านเพิ่มเติม – “อาหารดี ความดันลด” ความดันโลหิตสูง ควรกิน-ควรเลี่ยง อะไรบ้าง?
2. ไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
จากสถิติผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มักมีโรคประจำตัวเกี่ยวเนื่องกับโรคอ้วน เช่น ภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
โรคไขมันในเลือดสูง คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
3 วิธีง่าย ๆ ป้องกันโรคไขมันในเลือดสูง
- เลี่ยงอาหารที่มีโคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ สูง
- รับประทานอาหารที่มีเส้นใยมาก ๆ เช่น ผัก ผลไม้ เป็นต้น
- ออกกําลังกายอย่างสมํ่าเสมอ
อ่านเพิ่มเติม – ไขมันในเลือดสูง โรคยอดฮิตของคนไทย! สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
3. โรคเบาหวาน (Diabete)
เบาหวานหนึ่งในโรคยอดฮิตที่คนไทยเป็นกันเยอะมาก และข้อมูลจาก สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงไว้ว่า “ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ถ้าติดเชื้อแล้วจะมีอาการ หรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่าผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน เนื่องจากผู้เป็นเบาหวาน หากควบคุมน้ำตาลไม่ดี จะมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าคนปกติ และเชื้อไวรัสจะเจริญเติบโตได้ดี ในสภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง”
3 วิธีง่าย ๆ ป้องกันโรคเบาหวาน
- งดกินอาหารที่มีน้ำตาล และไขมันสูง อาหารหมัก ดอง เค็มจัด
- เพิ่มการกินผัก ผลไม้ หลากหลายชนิด เป็นประจำทุกวัน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ สร้างสุขภาพให้แข็งแรง อย่างน้อยวันละ 30 นาที
อ่านเพิ่มเติม – โรคเบาหวาน เกิดจากอะไร ? พร้อมอาหารที่ควร-ไม่ควรทาน สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
4. โรคหัวใจ (heart disease)
โรคหัวใจ เป็นโรคที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 1 ของคนทั่วโลก รวมทั้งคนไทย และถ้าผู้ป่วยโรคหัวใจ ติดเชื้อโควิด-19 ร่วมด้วย จะมีอัตราการเสียชีวิต และระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลก็มากกว่าผู้ป่วยทั่วไป โดยสถิติผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ที่เป็นโรคหัวใจมีจำนวนมากถึง 13% และอาจมีภาวะทางหัวใจ และหลอดเลือดที่กำเริบขึ้นได้ ในขณะติดเชื้อ COVID-19 ได้อีกด้วย
3 วิธีง่าย ๆ ป้องกันโรคหัวใจ
- ควบคุมน้ำหนักให้ดี ลดละของหวาน และหมั่นออกกำลังกายให้แข็งแรง
- ไม่สูบบุหรี่ เพราะ บุหรี่ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจน้อยลง
- ลดความเครียด นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
อ่านเพิ่มเติม – เคลียร์ทุกข้อสงสัย! ถาม-ตอบ เรื่อง วัคซีนโควิด-19 โดยกรมควบคุมโรค
5. โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease, CKD)
ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรัง จะไม่สามารถกรองเลือดได้ตามปกติ และโรคนี้ยังเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย และจากสถิติ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง มีโอกาสติดโควิด-19 สูง จึงจำเป็นต้องดูแลตนเองให้ดีที่สุด เลี่ยงอาหารที่มีโซเดียม โพแทสเซียม ฟอสเฟตสูง
3 วิธีง่าย ๆ ป้องกันโรคไตเรื้อรัง
- เลี่ยงอาหารเค็มจัด หวานจัด และงดสูบบุหรี่
- ดื่มน้ำเปล่าให้ได้วันละ 8 แก้ว
- เลี่ยงการรับประทานยาแก้อักเสบ ยาชุด ติดต่อกันเป็นเวลานาน
อ่านเพิ่มเติม – “โซเดียม” ยาพิษในทุกจานโปรด “8 วิธีลดความเค็ม” ก่อนไตพัง!
6. โรคอ้วน
ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวว่า
“คนอ้วนเมื่อได้รับเชื้อโควิด -19 เชื้อจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นในร่างกาย ซึ่งในคนอ้วน เซลล์ไขมันในร่างกายจะมีตัวรับเชื้อโควิด-19 มากกว่าในปอด นอกจากนี้ความอ้วนถือเป็นการอักเสบเรื้อรัง หากเกิดการอักเสบเฉียบพลันจากโควิด-19 หรือปอดอักเสบก็จะรุนแรงกว่าคนอื่น ซึ่งเกี่ยวพันกับการเป็นโรคเบาหวาน ความดัน และหัวใจด้วย”
ผศ.นพ.สมเกียรติ แนะนำในเรื่องภาวะโรคอ้วนว่าให้คำนวณจากดัชนีมวลกาย โดยการเอาส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง x 25 ตัวเลขที่ออกมาจะเป็นน้ำหนัก ถ้าเกิน 25 กก./ตรม. ถือว่าอ้วน
3 วิธีง่าย ๆ ป้องกันโรคอ้วน
- คุมอาหาร กินแต่พอดี และควรลด ละ น้ำตาล แป้ง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือหมั่นเดินให้ได้บ่อย ๆ
- ชั่งน้ำหนักตัวเป็นประจำ ศึกษาข้อมูลแคลอรีจากอาหารต่าง ๆ
อ่านเพิ่มเติม – อันตราย! อยู่บ้านกินแล้วนอน เสี่ยงหลายโรคเลยนะ!
7 โรคปอดเรื้อรัง (COPD)
โรคปอดเรื้อรัง หรือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นภาวะที่มีการอุดกั้นในปอดอย่างถาวร มีอาการไอมีเสมหะอย่างน้อย 3 เดือนใน 2 ปีติดกัน การสูบบุหรี่ คือพฤติกรรมสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้ ผู้ที่มีโรคนี้แล้วติดโควิด-19 จะทำให้ปอดถูกทำลายได้อย่างรวดเร็ว และเป็นเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด
3 วิธีง่าย ๆ ป้องกันโรคปอดเรื้อรัง
- ใครที่สูบบุหรี่อยู่ ให้งดสูบบุหรี่ให้ได้ และหมั่นออกกำลังกายให้แข็งแรง
- หลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศทั้งฝุ่นละออง และควันพิษ
- สวมใส่หน้ากากอนามัยเสมอ เมื่อต้องออกไปเผชิญกับฝุ่นอย่าง PM2.5
อ่านเพิ่มเติม : 9 วิธีดูแลปอด ให้แข็งแรงสุขภาพดี พร้อมสู้ภัยโควิด19
8. โรคมะเร็ง
นพ.ธนุตม์ ก้วยเจริญพานิชก์ รองผู้อำนวยการแพทย์เฉพาะทางด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา รพ.มะเร็งชีวามิตรา กล่าวว่า “ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่กำลังอยู่ระหว่างการรักษา ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเป็นคนที่มีภูมิต้านทานในร่างกายในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งปอด หากติดเชื้อ COVID-19 อาการอาจหนักกว่า 2 เท่า”
3 วิธีง่าย ๆ ป้องกันโรคมะเร็ง
- งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา
- รับประทานผักใบเขียวให้มาก
- หลีกเลี่ยงรังสี แสงแดดจัด และฝุ่นพิษ PM2.5
9. โรคหลอดเลือดสมอง (stroke)
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต (Stroke) เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งของโรคทางระบบประสาท และเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญในอันดับต้น ๆ ของประเทศ เป็นโรคที่ต้องรีบรักษา เพราะหากรักษาช้าจะทำให้เซลล์สมองตาย เกิดความพิการ อัมพาตตามมาได้
3 วิธีง่าย ๆ ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
- ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล และความดันโลหิต
- เลี่ยงอาหารไขมันสูง เน้นผัก-ผลไม้ ที่มีประโยชน์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดเหล้า และบุหรี่
อ่านเพิ่มเติม : โรคหลอดเลือดสมอง รู้ทัน ป้องกันอัมพาตได้! : สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
สุดท้ายนี้ GedGoodLife ขอให้ทุกท่านดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็จะห่างไกลจาก 9 โรคประจำตัว กลุ่มเสี่ยงตายจากโรคโควิด-19 สูง
และอย่าลืม ปฏิบัติตนให้ห่างไกลจากโรคร้ายโควิด-19 ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เมื่อต้องออกไปนอกบ้าน และไม่อยู่ใกล้ชิด หรือไปในสถานที่เสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
อ้างอิง : 1. กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค 2. เพจกรมควบคุมโรค 3. โรงพยาบาลรามคำแหง 4. news.griffith 5. xinhuathai 6. workpointnews
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife