โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่คนไทยมีแนวโน้มเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสภาวะอากาศ มลพิษ PM2.5 ที่นับวันมีแต่จะแย่ลง และสารก่อภูมิแพ้อื่น ๆ ส่งผลให้เกิดอาการแพ้ น้ำมูกไหล จาม คัดจมูก คันตา เป็นต้น บทความนี้ GED good life จะพาไปเคลียร์ให้ชัดทุกประเด็นเกี่ยวกับ โรคภูมิแพ้ ว่ามีกี่ประเภท และมีสาเหตุ อาการ วิธีดูแลรักษาอย่างไรให้หายดี
- น้ำตาไหล ตาแดง คันตา อยู่บ่อย ๆ ใช่อาการ ภูมิแพ้ขึ้นตา หรือเปล่า?
- โรคไข้หวัด VS โรคภูมิแพ้อากาศ ต่างกันอย่างไร?
- เช้าแสบจมูก ตอนเย็นเพลีย ตกดึกน้ำมูกไหล นี่เราเป็นหวัด หรือ ภูมิแพ้อากาศ กันแน่นะ!?
โรคภูมิแพ้ คืออะไร?
ภูมิแพ้ (Allergy) คือโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง เกิดจากร่างกายไวต่อสิ่งกระตุ้น หรือ สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ (Allergens) ส่งผลให้มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในอวัยวะที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น เชื้อราในอากาศ อาหาร ขนสัตว์ รังแคของสัตว์ เกสรดอกไม้ เป็นต้น
โรคนี้เป็นได้ตั้งแต่เด็ก และผู้ใหญ่ บางคนมาเป็นภูมิแพ้ตอนโต บางคนก็เป็นตั้งแต่เด็กยันโต โรคนี้หากมีอาการแพ้เล็กน้อย ก็แค่มีน้ำมูกไหล ไอ จาม แต่ถ้ามีอาการแพ้รุนแรง ปากบวม หน้าบวม หายใจลำบาก หอบ เป็นลม ก็อาจอันตรายต่อชีวิตได้เลยทีเดียว!
อาการของภูมิแพ้ มีอะไรบ้าง?
หมอกอล์ฟ นายแพทย์สิทธา ลิขิตนุกูล ได้กล่าวไว้ว่า อาการภูมิแพ้แบ่งออกเป็น 4 ระบบ ได้แก่
1. ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ (Allergic rhinitis)
- คัดจมูก มีน้ำมูกใส ๆ แต่ไม่มีไข้
- จามบ่อย
- มีเสมหะลงคอ
- คันตา
- หายใจเสียงดังวี๊ด ๆ
อาการดังกล่าวอาจเป็นแค่บางฤดูกาล และมักเป็นหนักในช่วงอากาศเย็น เช่น เช้าหรือกลางคืน อาจเป็นนาน 2-3 ชั่วโมง
2. ภูมิแพ้ผิวหนัง (Skin allergy)
- ผื่นนูนแดง หรือแข็งเป็นขุย
- บางรายเกาจนเป็นแผล
- เกิดได้ที่บริเวณ ข้อพับ แก้ม หรือตามลำตัว
อาการภูมิแพ้ผิวหนัง มักจะสัมพันธ์กับอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปกะทันหัน เช่น ร้อนแล้วมาเย็นทันที, สารเคมีที่สัมผัส, และความเครียด
3. ภูมิแพ้ทางเดินอาหาร (Food allergy)
- แบบฉับพลัน ทานอาหารที่แพ้เข้าไปไม่เกิน 2 ชั่วโมง จะบวมริมฝีปาก คันคอ คัดจมูก เกิดลมพิษ หอบหืด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน
- แบบแฝง ทานโปรตีนชนิดนั้นไปเรื่อย ๆ เช่น นม ไข่ จนเกินขีดภูมิต้านทานรับไหว ก็จะเกิดอาการรุนแรงมาในทันที อาจช็อคหมดสติ และเป็นสาเหตุของหลายโรค เช่น หวัดเรื้อรัง หูน้ำหนวกเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ข้ออักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ ซึมเศร้าเรื้อรัง สมาธิสั้น
4. โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง ภูมิแพ้หลายระบบร่วมกัน (Anaphylaxis)
เป็นอาการแพ้ที่รุนแรง รวดเร็ว และมีอาการหลายระบบ ทำให้มีอาการ
- คัน ปากบวม หน้าบวม
- รู้สึกแน่นในลำคอ
- จาม น้ำมูกไหล
- หายใจลำบาก ใครที่เป็นโรคหืด อาจไปกระตุ้นให้เป็นมากกว่าเดิมได้
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง ความดันโลหิตลดต่ำลง หมดความรู้สึก
- อาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
อ่านเพิ่มเติม : รู้จักกับโรคภูมิแพ้ โดยหมอกอล์ฟ นพ.สิทธา ลิขิตนุกูล
สาเหตุที่ทำให้เกิด โรคภูมิแพ้
หลังจากทราบกันแล้วว่า ภูมิแพ้คืออะไร คราวนี้มาดูสาเหตุที่ทำให้เป็นภูมิแพ้กันต่อเลยว่ามีอะไรบ้าง โดย 3 สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ มีดังนี้
1. พันธุกรรม : เป็นสาเหตุจากกำเนิด
- ลูกมีโอกาสเป็นภูมิแพ้ ร้อยละ 50-70 ถ้ามีทั้งพ่อและแม่ เป็นภูมิแพ้
- ลูกมีโอกาสเป็นภูมิแพ้ ร้อยละ 30-50 หากพ่อหรือแม่ คนใดคนหนึ่งเป็น ภูมิแพ้
- ลูกมีโอกาสเป็นภูมิแพ้ ร้อยละ 10 ถ้าคนในครอบครัวไม่เคยมีประวัติเป็นภูมิแพ้เลย
2. สิ่งแวดล้อม : เป็นสาเหตุโดยตรง
สารก่อภูมิแพ้มักจะอยู่ในอากาศที่เราหายใจตลอดเวลา และมลภาวะทางอากาศที่แย่ลงทุกวัน มีโอกาสทำให้คนเป็นภูมิแพ้ก็มีมากขึ้น หรือที่เรียกว่า “ภูมิแพ้อากาศ” โดยสารที่มักก่อให้เกิดภูมิแพ้ ได้แก่ ฝุ่นละออง ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง ขนสัตว์ เชื้อรา แมลงสาบ เกสรดอกไม้ กลิ่นบุหรี่ ควันธูป สารเคมีต่าง ๆ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น
3. การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย : เป็นสาเหตุเสริม
เมื่อร่างกายอ่อนเพลียจากการอดนอน ทำงานหนัก เครียด วิตกกังวลเป็นประจำ ไม่ได้ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีสารเคมีมาก เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้ภูมิต้านทานอ่อนแอ และทำให้เป็นภูมิแพ้ได้
* เมื่อมีความเครียด ร่างกายจะหลั่ง สารฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งสารฮิสตามีนนี้ คือสารกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้น
นอกจาก 3 สาเหตุหลักที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว โรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ไข้หวัด เจ็บคอ เป็นต้น ก็มีผลกระทบไปกระตุ้นให้โรคภูมิแพ้ มีอาการมากขึ้นได้
โรคภูมิแพ้ มีกี่ประเภท?
โรคภูมิแพ้แบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
- โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ หรือโรคแพ้อากาศ (Respiratory Allergy)
- โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Allergy)
- โรคภูมิแพ้อาหาร (Food Allergy)
- โรคภูมิแพ้ทางตา (Eye allergy)
- โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรงที่มีอาการหลายระบบ (anaphylaxis)
6 อันดับ ตัวการก่อภูมิแพ้ ที่คนไทยแพ้มากที่สุด!
- ไรฝุ่น
- แมลงสาบ
- ละอองเกสรดอกไม้
- ขนสัตว์
- ควันบุหรี่ / ควันธูป
- อาหารทะเล
โรคภูมิแพ้ที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ มีอะไรบ้าง?
ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดย…
- ในผู้ใหญ่ ทุก 1 ใน 5 ราย หรือร้อยละ20 จะป่วยเป็นภูมิแพ้ทางจมูก
- ในเด็กเล็ก พบว่า 4 ใน 10 ราย หรือร้อยละ 40 จะป่วยเป็นภูมิแพ้ทางจมูก
ส่วนโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยในเด็ก และผู้ใหญ่ จัดอันดับได้ดังนี้
อันดับ 1 : โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศ ร้อยละ 23-50
อันดับ 2 : โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคหอบหืด ร้อยละ 10-15
อันดับ 3 : โรคผื่นผิวหนัง อักเสบจากภูมิแพ้ ร้อยละ 15
อันดับ 4 : โรคแพ้อาหาร ร้อยละ 5
อ่านเพิ่มเติม : 4 โรคภูมิแพ้ ยอดฮิตของคนไทย! สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
ภูมิแพ้ เป็นโรคติดต่อหรือไม่?
คำตอบคือ ภูมิแพ้ ไม่ใช่โรคติดต่อ เพราะไม่ใช่โรคติดเชื้อ ไม่เหมือนโรคไข้หวัด, โควิด-19, หรือโรคติดต่ออื่น ๆ ที่สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ แต่โรคภูมิแพ้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น
เป็นภูมิแพ้บ่อย สามารถเป็นหวัดได้หรือไม่?
อาการภูมิแพ้ กับ ไข้หวัด อาจมีอาการคล้ายกันอยู่บ้าง แต่ภูมิแพ้จะไม่มีไข้ เสมหะไม่มีสี ทั้งนี้ภูมิแพ้อาจลามเป็นหวัดได้ถ้ามีการติดเชื้อ ต้องกินยาฆ่าเชื้อร่วมกับการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นเยอะ ๆ และสวมหน้ากากอนามัยเป็นประจำ ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้
โรคภูมิแพ้ รักษาหายขาดได้ไหม?
นายแพทย์สิทธา ลิขิตนุกูล กล่าวว่า
“ถ้าอยากรักษาภูมิแพ้ให้หายขาด ต้องหลีกเลี่ยงในสิ่งที่แพ้ โดยสังเกตว่าตนเองแพ้อะไร เช่น แพ้ควันบุหรี่ ควันรถยนต์ แพ้ฝุ่น ให้แก้ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ไม่ว่าจะเป็น หน้ากากผ้า หน้ากากN95 หรือหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ก็ช่วยได้หมด
แต่ถ้าภูมิแพ้เกิดจากความเย็น และความเครียด ต้องเสริมภูมิคุ้มกันตนเองด้วยการ ดื่มน้ำอุ่น ๆ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เสริมการรับประทานวิตามินซี ก็จะช่วยได้”
เป็นโรคภูมิแพ้ จำเป็นต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล หรือไม่?
ปกติแล้วอาการภูมิแพ้ไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรง สามารถรักษาตัวได้เองที่บ้าน เช่น เลี่ยงสิ่งที่แพ้ กินยาแก้แพ้ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
แต่อาการที่เข้าข่ายอันตราย ต้องไปโรงพยาบาล ก็มีได้เช่นกัน ดังอาการต่อไปนี้
- มีอาการคันที่ขอบตา มีลมพิษ ผื่นแดงขึ้นทั่วตัว หรือผิวหน้า
- มีอาการช็อค แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หอบเหนื่อย หายใจเสียงหวีด
- ความดันโลหิตลดต่ำลง
- ลิ้น ปาก หรือคอบวมมาก จากการแพ้อาหาร
- ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว
ถ้ามีอาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้ แนะนำให้รีบเข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านท่าน หรือ โทร 1669 โทรฟรี บริการฟรี 24 ชั่วโมง
6 วิธีป้องกัน และรักษาภูมิแพ้
สิ่งสำคัญที่สุดของการป้องกัน และรักษาภูมิแพ้ คือ การหลีกเลี่ยงในสิ่งที่เราแพ้ ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุด ง่ายที่สุด และไม่ต้องเสียเงินค่ารักษาด้วย และนอกจากหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้แล้ว ก็ยังมีอีกหลายวิธี ที่ผู้ป่วยภูมิแพ้ปฎิบัติตามแล้ว มีโอกาสหาย หรืออาการภูมิแพ้ดีขึ้นได้ ดังนี้
1. กินยาแก้แพ้ ยาแก้แพ้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ “แบบง่วง” และ “แบบไม่ง่วง” โดยปัจจุบันจะนิยมทานแบบไม่ง่วง เพราะ ไม่กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน และมีประสิทธิภาพในการรักษาภูมิแพ้สูง
2. การทดสอบทางผิวหนัง หากใครไม่แน่ใจว่าตนเองแพ้อะไรอยู่ อาจเข้าพบแพทย์ให้รับการทดสอบทางผิวหนัง แพทย์จะใช้เข็มสะกิดเล็ก ๆ เป็นการนำสารที่คนส่วนใหญ่แพ้มาทดสอบตรงบริเวณนั้นดู ก็จะทราบได้ว่าเราแพ้อะไรบ้าง (ข้อนี้ให้ทำโดยแพทย์เท่านั้น ไม่ควรทำเอง)
3. เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เครียดให้น้อยลง งดเหล้า งดบุหรี่ งดกินอาหารที่ทำให้เราแพ้ ออกกำลังกาย ดื่มน้ำ และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
4. กำจัดไรฝุ่น / ฝุ่นในบ้าน ด้วยการหมั่นทำความสะอาดห้องนอน ห้องนั่งเล่นบ่อย ๆ หรือจะติดตั้งเครื่องกรองอากาศเพื่อดักจับฝุ่น ลดปริมาณฝุ่นในบ้าน ก็จะช่วยได้ดี
5. การใช้ยาเฉพาะทาง เช่น การใช้ยาสูดเพื่อรักษาโรคหืดภูมิแพ้ การใช้ยาสเตียรอยด์เพื่อรักษาอาการภูมิแพ้รุนแรง ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
6. การฉีดวัคซีน หลักการคือ การใช้วัคซีนที่เตรียมจากสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้ มากระตุ้นให้ร่างกายของผู้ป่วยสร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ขึ้น โดยวิธีฉีดเข้าในผิวหนังทีละน้อย ๆ
เกร็ดความรู้เรื่องวัคซีนภูมิแพ้ : เป็นที่น่ายินดีว่าวัคซีนไรฝุ่น พบว่าโรงพยาบาลศิริราช เป็นโรงพยาบาลรายแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ผลิตวัคซีนไรฝุ่นเพื่อจำหน่ายอย่างครบวงจรได้สำเร็จ! โดยวัคซีนที่ผลิตได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก และองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา และผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข อีกเช่นกัน
รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงศกร ตันติลีปิกร ได้กล่าวว่า ในอนาคตทีมวิจัย และพัฒนาวัคซีนภูมิแพ้ของมหาวิทยาลัยมหิดล จะต่อยอดผลสำเร็จจากการพัฒนาวัคซีนภูมิแพ้ สู่การพัฒนาวัคซีนชนิดอื่น ๆ อาทิ วัคซีนสำหรับผู้ที่แพ้แมว และแพ้สุนัข วัคซีนสำหรับผู้ที่แพ้แมลงสาบ และวัคซีนสำหรับผู้ที่แพ้ละอองเรณูหญ้า และวัชพืช เป็นต้น ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของการแพทย์ไทยเลยทีเดียว
7 วิธีเสริมภูมิคุ้มกัน ต่อสู้กับโรคภูมิแพ้
1. กินผักผลไม้ 5 สี สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ได้กล่าวไว้ว่า การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระ จะช่วยต้านการอักเสบของเซลล์ และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้
2. กินผักตระกูลกะหล่ำชนิดต่าง ๆ เพราะ มีสารซัลโฟราเฟน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอการแก่ตัวของเซลล์ กะหล่ำที่มีสารซัลโฟราเฟนสูง คือ กะหล่ำปลีเขียว บร็อคโคลี กะหล่ำดาว
3. เสริมโอเมก้า 3 โอเมก้า 3 ในน้ำมันปลา มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ ป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้ โอเมก้า 3 ยังช่วยลดการเกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง และช่วยเสริมสร้างผนังเซลล์ในร่างกายได้อีกด้วย
4. วิตามินเอ และเบต้าแคโรทีน วิตามินเอ และเบต้าแคโรทีน มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มระบบภูมิต้านทานของร่างกายให้แข็งแรง ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของปอดให้ดีขึ้น
5. วิตามินดี มีส่วนช่วยในการควบคุมความรุนแรงของการเกิดโรค หอบหืด เพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย และเป็นวิตามินที่ได้มาฟรี ไม่ต้องเสียเงิน เพราะร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้จากแสงแดด จึงควรออกไปรับแดดยามเช้า เป็นประจำ
6. ฟ้าทะลายโจร มีคุณสมบัติเด่นเรื่องการเสริมภูมิคุ้มกัน มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจ
7. หมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ การออกกำลังกายเป็นที่รู้กันว่า จะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง และเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงตามเช่นกัน โอกาสเป็นภูมิแพ้ก็จะน้อยลงนั่นเอง
อ้างอิง :
1. สมาคมโรคภูมิแพ้ 2. มหาลัยมหิดล 3. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 1/2 4. โรงพยาบาลรามาธิบดี