อาการ ไอกลางคืน จนนอนไม่หลับ หรือหลับไปแล้วก็ยังสะดุ้งตื่นขึ้นมาไอได้อีก!! ใครที่เป็นอยู่ คงรู้ดีว่ามันทรมานแค่ไหน!… งั้นมาดูกันดีกว่าว่า จะมีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยแก้อาการไอตอนกลางคืน อย่างได้ผล และปลอดภัย
- ไอ100วัน เจ็บคอมาราธอนไม่หายสักที! ทำไงดีนะ?
- ไอเรื้อรัง มีเสลด และเลือด อาจเสี่ยงเป็น “โรคหลอดลมอักเสบ”
- โรคหอบหืด รู้ทันอาการ เซฟชีวิตคุณได้!
อาการไอ คืออะไร?
อาการไอ (Cough) เกิดจากการที่มีสิ่งกระตุ้น หรือสารระคายเคืองบริเวณ ทางเดินหายใจส่วนบน และล่าง ทำให้มีการส่งสัญญาณไปที่บริเวณสมองส่วนควบคุมการไอ และส่งสัญญาณมาที่กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อกระบังลม เกิดการตีบแคบของหลอดลม จึงเกิดอาการไอขึ้น ซึ่งเป็นการตอบสนองของร่างกาย เพื่อกำจัดเชื้อโรค เสมหะ และสิ่งแปลกปลอมในระบบทางเดินหายใจ
ไอกลางคืน มีสาเหตุจากอะไรบ้าง?
สำหรับใครที่มีอาการไอกลางคืนเป็นหลัก ให้สงสัยว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เราสัมผัสตอนกลางคืน อาจเกี่ยวข้องกับอาการไอของเรา โดยเฉพาะ ฝุ่นในห้องนอน เป็นต้น
1. แรงโน้มถ่วง – เมื่อเราเอนกายลงนอน กรด หรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร จะไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหาร ทำให้รู้สึกระคายบริเวณลำคอ จนเกิดอาการไอได้
2. อากาศแห้ง – อากาศที่แห้ง ทำให้จมูกที่มีอาการระคายเคืองอยู่แล้ว แย่ขึ้นไปอีก และยังทำให้อาการไอรุนแรงขึ้นได้ในตอนกลางคืน
3. เกิดการสะสมตัวของน้ำมูก และเสมหะ – ขณะที่เรานอนหลับ น้ำมูก และเสมหะจะค่อย ๆ เกิดการสะสมตัวเพิ่มขึ้น จนปิดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้รู้สึกหายใจไม่สะดวก ร่างกายจึงต้องกำจัดน้ำมูก และเสมหะกลางดึก ด้วยการไอออกมานั่นเอง
4. ภูมิแพ้ – เช่น ภูมิแพ้ไรฝุ่นภูมิแพ้อากาศ ในห้องนอน เช่น หมอน ที่นอน มักจะมีไรฝุ่นอาศัยอยู่ และบางคนมักจะแพ้อากาศเย็นในตอนกลางคืน ยิ่งเปิดแอร์เย็น ๆ ยิ่งกระตุ้นอาการไอมากขึ้น
5. มีลมจากพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ เป่าโดนหน้าตลอดเวลา – เพราะอากาศที่เป่ามาจากพัดลมหรือแอร์มักจะแห้ง ทำให้ทางเดินหายใจระคายเคืองง่าย ไอง่าย
6. นำเอาสัตว์เลี้ยง มาไว้ในห้องนอน – เพราะรังแคสัตว์ ที่ติดมากับขน อาจทำให้เราเกิดภูมิแพ้ และมีอาการไอได้
7. โรคกรดไหลย้อน – ถ้านอนปุ๊บไอปั๊บ ให้สงสัยว่าเกิดจากโรคกรดไหลย้อน แม้กรดเพียงหยดเดียว ก็สามารถทำให้ระคายคอ และไอได้
อาการไอกลางคืน อาจเป็นสัญญาณระบบทางเดินหายใจมีปัญหาได้ ดังนี้
– โรคหวัด แม้จะหายจากหวัดไปแล้วก็ตาม แต่บางคงอาจยังมีอาการไออยู่หลายสัปดาห์ โดยเฉพาะไอตอนกลางคืน โดยสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจากไข้หวัด
– โรคไอกรน หรือ ไอ100วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไอถี่ และ ไออย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ในช่วงกลางคืนอาการไอจะเกิดขึ้นถี่กว่าเวลากลางวัน ผู้ป่วยอาจมีอาการไอสูงสุดนานถึง 10 สัปดาห์
– หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน อาการไอจะเริ่มจากไอแห้ง ๆ และ อาจไอพร้อมกับมีเสมหะสีขาว หรือใส ๆ หรือ อาจไอแบบไม่มีเสมหะเลยก็ได้ เนื่องจากเยื่อบุหลอดลมถูกทำลายจนเกิดอาการอักเสบ ส่งผลให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น
– โรคหอบหืด มีอาการไอแห้ง ๆ ไอถี่ ติดกัน ร่วมกับอาการหายใจไม่สะดวก หอบ เจ็บหน้าอก มีสาเหตุจากระบบทางเดินหายใจ อักเสบ หรือ ติดเชื้อ
– โรคกรดไหลย้อน จะไอหนัก เป็นช่วงสั้น ๆ ร่วมกับอาการ แสบร้อนกลางอก มักเป็นประจำหลังกินอาหารอิ่มใหม่ ๆ หรือขณะล้มตัวลงนอน เนื่องจากกรดในกระเพาะอาหารจะไหลย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหาร ส่งผลให้รู้สึกระคายเคืองคอ จนเกิดอาการไอ
– โรคภูมิแพ้ อาการไอจากโรคภูมิแพ้ จะเป็นอาการไอแห้ง ๆ และคันคอ มักมีอาการคันจมูก และ จาม ร่วมด้วย โดยอาการไอมักจะรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืน สาเหตุมาจากสิ่งแปลกปลอมในห้องนอน เช่น ไรฝุ่น, ฝุ่นละออง ที่กระตุ้นให้เกิดอาการระคายเคืองที่หลอดลมจนเกิดอาการไอ
– ปอดมีปัญหา ช่วงเวลาตีสามถึงตีห้า เป็นช่วงที่ปอดกำลังขับสารพิษ ดังนั้นหากตื่นขึ้นมาไอกลางดึก อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าปอดของคุณกำลังมีปัญหาอยู่นะ
ถ้าอาการไอยังคงดำเนินต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป
วิธีแก้อาการ ไอกลางคืน
1. จัดสภาพห้องนอนให้เหมาะสม
ห้องที่คุณใช้นอนหลับพักผ่อนในตอนกลางคืนควรโล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่เป็นแหล่งสะสมของ ไร่ฝุ่น รวมถึงต้องมีการรักษาความสะอาดของพื้นที่ และเครื่องนอนต่าง ๆ อย่างที่นอน หมอน และผ้าห่มอยู่เสมอ โดยการนำเครื่องนอน ไปซักในน้ำร้อน ตากแดดให้แห้งสนิท
2. นอนหนุนหมอนสูง
ควรนอนหนุนหมอนมากกว่าหนึ่งใบ เพราะ วิธีนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำมูก เสมหะที่กลืนลงคอไประหว่างวันย้อนกลับขึ้นมาตอนนอนได้ รวมถึงป้องกันกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาได้อีกเช่นกัน
3. เพิ่มความชื้นให้กับอากาศในห้อง
สภาพแวดล้อมที่แห้ง เป็นภัยต่อคนที่มีอาการไอบ่อย ๆ ในตอนกลางคืน ควรเพิ่มความชื้นภายในห้องเล็กน้อย หรืออาจใช้วิธีล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อลดสารคัดหลั่งในจมูก ทำให้หายใจโล่งขึ้น
4. จิบน้ำอุ่น
การจิบน้ำอุ่นก่อนนอน จะช่วยให้ระบบทางเดินหายใจของคุณโล่งขึ้นน้ำ การจิบชาสมุนไพร หรือน้ำผึ้งผสมมะนาวอุ่น ๆ ยังสามารถช่วยกำจัดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการไอ และเพิ่มความอบอบให้เยื่อบุจมูกได้อีกด้วย แต่ก็อย่าจิบจนเกินไป เพราะอาจทำให้ปวดปัสสาวะระหว่างนอนได้
5. ล้างจมูก
การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เป็นการทำความสะอาดภายในโพรงจมูก ซึ่งจะช่วยให้ทางเดินหายใจของคุณโล่งขึ้น สะอาดขึ้น ลดน้ำมูก เสมหะ หรือสิ่งสกปรกต่างๆ ในโพรงจมูก และหากล้างจมูกก่อนนอน ก็จะช่วยให้นอนหลับสบายมากขึ้นด้วย
6. ยาลดน้ำมูก
ยาลดน้ำมูก สามารถช่วยลดอาการไอ และระคายคอ ได้อย่างเห็นผลชัดเจน โดยจะช่วยลดน้ำมูก และเสมหะระหว่างที่เรากำลังนอนหลับอยู่
7. ไม่รับประทานอาหารก่อนนอน
อย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง ก่อนนอน ไม่ควรรับประทานอาหาร และหลังรับประทานอาหารอย่านั่งเฉย ๆ อย่านอน ให้เดินสักพักประมาณ 20-30 นาที เพื่อให้ไม่มีอะไรอยู่ในกระเพาะขณะที่นอน วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนด้วย
8. ทาวิคส์ที่ฝ่าเท้าแล้วสวมถุงเท้าก่อนนอน
ถึงแม้วิธีนี้จะดูแปลก ๆ แต่การทาวิคส์ วาโปรับ (vicks vaporub) ที่ฝ่าเท้า พร้อมนวดเบา ๆ แล้วสวมถุงเท้าก่อนเข้านอน เป็นวิธีที่โลกโซเชียลนำมาแชร์กันมาก แล้วมีหลายคนนำไปใช้แล้วได้ผลจริง บรรเทาอาการไอ ลดอาการไอ ได้จริง
หากอาการไอของคุณเริ่มแสดงอาการเรื้อรัง หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีเลือดปนออกมากับเสมหะ หรือมีอาการไอติดต่อกันนานเป็นเดือน ควรพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife