เคยมั้ยที่ต้องรู้สึกอายเพื่อน ๆ หรือคนข้างๆ เพราะเราเผลอตดออกไป แต่รู้ไหมว่า ร่างกายของเรานั้น ตดเพราะอะไร ? Ged Good Life มีคำตอบมาฝากแล้ว ติดตามอ่านต่อด้านล่างได้เลย
ตดเพราะอะไร ? ทำไมถึงตด ?
โดยปกติแล้ว การตด หรือ ผายลม ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร เพราะมันเป็นกลไกตามธรรมชาติ ที่ร่างกายต้องขับลมออกมา ตด คือ แก๊สที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการย่อยอาหาร และสะสมอยู่ในระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ ขณะที่เรากินอาหาร เราก็ไม่ได้กลืนแค่อาหารลงไปเท่านั้น แต่ยังกลืนอากาศเข้าไปด้วย ทำให้ระบบย่อยอาหารของเรามีแก๊สสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก และร่างกายก็ต้องการขับแก๊สเหล่านี้ออกมา
ร่างกายจะขับแก๊สส่วนเกินเหล่านี้ ออกจากร่างกายผ่าน 2 ช่องทาง คือ ขับออกทางปาก หรือเรอ และขับออกทางทวารหนัก หรือ ตด หากแก๊สส่วนเกินเหล่านี้ไม่ถูกขับออกจากร่างกาย จะทำให้เกิดการสะสมในทางเดินอาหาร ทำให้รู้สึกอึดอัด แน่นท้อง ปวดมวนในท้อง และเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ตามมาได้
โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดแก๊สสะสมมาก จนทำให้ตดหรือผายลมออกมาก็คือ
• การกินอาหาร ที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะมาก โดยเฉพาะอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลธรรมชาติ มีเส้นใยอาหารสูง หรืออาหารประเภทแป้ง เช่น หัวหอม หน่อไม้ฝรั่ง บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี ลูกท้อ แอปเปิ้ล รวมถึงผักผลไม้ที่มีเส้นใยอาหารชนิดละลายน้ำ เช่น ถั่วลันเตา นอกจากนี้ ยังรวมถึง
– หมากฝรั่ง และลูกอม ที่มีซอร์บิทอลเป็นส่วนประกอบ
– อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง โดยเฉพาะอาหารที่ทำจากธัญพืช ขนมปัง ข้าวโพด และมันฝรั่ง
– นม และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ไอศกรีม ชีส โดยเฉพาะในคนที่มีเอนไซม์แลคเตสไม่เพียงพอ ซึ่งจะทำให้ย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมได้ยาก
– ข้าวโอ๊ต
– ถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลือง หรือถั่วเขียว
– น้ำอัดลม หรือน้ำหวาน
• กลืนอากาศมากเกินไป พฤติกรรมบางอย่าง สามารถทำให้เรากลืนอากาศเข้าไปมากกว่าปกติได้ ไม่ว่าจะเป็น…
- เคี้ยวหมากฝรั่ง อมลูกอม
- กินอาหาร หรือดื่มน้ำเร็วเกินไป
- ดื่มน้ำอัดลม ดื่มน้ำจากหลอด
- กลืนน้ำลายบ่อยเกินไป (เช่น เมื่อรู้สึกวิตกกังวล)
- ใส่ฟันปลอมหลวมเกินไป
- สูบบุหรี่
• ผลข้างเคียงจากยา ยารักษาโรคหรืออาหารเสริมบางชนิด อาจมีผลข้างเคียงให้มีอาการท้องอืด หรือเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารมากได้ เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน รวมถึงอาหารเสริมใยอาหารบางชนิด
• อาการเจ็บป่วยของโรค โรคบางชนิด สามารถส่งผลให้มีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก และผายลมบ่อยได้ เช่น
- ภาวะการย่อยแลคโตสผิดปกติ หรือการที่ร่างกายไม่ย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม
- ลำไส้แปรปรวน
- โรคลำไส้อุดตัน
- อาหารไม่ย่อย
- กรดไหลย้อน
- มีแผลในกระเพาะอาหาร
- โรคโครห์น
- โรคแพ้กลูเตน
ทำไมถึงตดเหม็น?
กลิ่นเหม็นของตด เกิดขึ้นได้จาก…
• การกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีกากใยน้อย เป็นจำนวนมาก ทำให้มีการค้างของอุจจาระเหลืออยู่ในลำไส้ใหญ่มาก เพราะต้องใช้เวลาในการย่อยอย่างน้อย 72 ชั่วโมง ทำให้เกิดการหมักหมม จนเกิดแก๊สพิษ หรือตดที่มีกลิ่นเหม็น
• การกินอาหารที่มีธาตุกำมะถัน หรือซัลเฟตสูง เช่น ถั่ว เนื้อสัตว์ บร็อคโคลี่ ไข่ นม เนย กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ หัวหอม กระเทียม ช็อกโกแลต กาแฟ แตงกวา อาหารทอด ผักกาดแก้ว เป็นต้น
• การกินอาหารที่มีโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วต่างๆ อย่างถั่วลิสง มะม่วงหิมพานต์ ซึ่งจะถูกน้ำดีย่อยในลำไส้เล็ก ถ้าน้ำดีมีน้อย หรือถูกขับออกไปย่อยช้า ถั่วก็จะย่อยไม่หมด เมื่อเคลื่อนเข้าสู่ส่วนปลายลำไส้หรือลำไส้ใหญ่ ก็จะกลายเป็นกากอาหาร ที่ไม่ย่อยอีกต่อไปแล้ว ทำให้เกิดกลื่นเหม็นได้ง่าย
ตดบ่อย ตดเหม็น บอกสุขภาพได้นะ
โดยปกติแล้ว การตดถือว่าเป็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย เนื่องจากเมื่อเราตด ร่างกายก็จะขับแก๊สส่วนเกิน ซึ่งเป็นของเสียออกจากร่างกายได้ การไม่ตดเลยทั้งวันต่างหาก ที่แสดงว่าเกิดความผิดปกติขึ้นแล้ว โดยเราจะตดเฉลี่ยวันละ 6-20 ครั้ง แต่ถ้าหากการตดของคุณมีกลิ่นเหม็นหรือมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย ก็แปลว่า คุณอาจกำลังมีปัญหาสุขภาพร้ายแรงอยู่
• ปวดท้อง และท้องอืด ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
• ท้องเสียหรือท้องผูกบ่อยครั้ง เป็นซ้ำๆ
• น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
• กลั้นอุจจาระไม่อยู่
• มีเลือดปนในอุจจาระ
• มีอาการบ่งบอกถึงการติดเชื้อ เช่น ไข้สูง หนาวสั่น อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดข้อต่อ
นอกจากนี้ อาการของโรคบางอย่าง ก็มีผลทำให้ตดบ่อย ๆ ได้เช่นกัน เช่น ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ อาหารจะไม่ถูกย่อยในกระเพาะอาหาร แต่จะไปย่อยในลำไส้ใหญ่แทน ทำให้เกิดแก๊สมากขึ้น หรือผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี เมื่อถุงน้ำดีไม่ทำงาน ทำให้ย่อยสลายไขมันได้ไม่ดี ผู้ป่วยจึงมักมีอาการท้องอืด และผายลมหลังอาหารบ่อย ๆ ได้
ไม่อยากตดเหม็น ตดบ่อย ควรทำยังไงดี?
คุณสามารถหลีกเลี่ยงการตดได้ โดยการพยายามลดการกินอาหารที่มีสารซัลเฟอร์ ซึ่งก่อให้เกิดแก๊สที่มีกลิ่น เช่น ถั่ว หัวหอม กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง ไข่ นม แป้งข้าวโพด ผักกาดหอม ฯลฯ และถ้าหากคุณไม่ต้องการตดบ่อยจนเกินไปแล้วละก็ ก็ควรจะหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการสะสมแก๊สจำนวนมากในระบบทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการเคี้ยวหมากฝรั่ง การกินอาหารเร็วเกินไป หรือการดื่มน้ำอัดลม เป็นต้น
“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี