หนึ่งสิ่งที่สร้างความหวาดหวั่น ให้กับคุณพ่อคุณแม่หลายคนในช่วงนี้ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “RSV” ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่เป็นอันตรายต่อเด็กน้อย เป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะพบได้ตลอดทั้งปีแล้ว ยังแพร่กระจายได้ง่าย และมีความรุนแรงมากอีกด้วย มาดูกันดีกว่าว่า คุณพ่อคุณแม่จะสามารถช่วยป้องกันลูก ๆ จาก ไวรัส RSV ได้ยังไงบ้าง
ไวรัส RSV คืออะไร?
ไวรัส RSV – Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ แสดงอาการรุนแรงในทารก หรือเด็กเล็ก มากกว่าในผู้ใหญ่ โดยเชื้อนี้สามารถทำให้เกิดอาการปอดอักเสบได้ และหากมีการติดเชื้อในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก เช่น ทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือในผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรง ก็อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
การติดเชื้อไวรัส RSV นั้นมักจะมีอาการบ่งชี้ หลังสัมผัสกับเชื้อแล้ว 4-6 วัน โดยอาการแสดงทั่วไป จะคล้ายอาการหวัด ซึ่งสามารถแยกผู้ที่ติดเชื้อไวรัส RSV ได้จากอาการต่อไปนี้
• หอบเหนื่อย
• หายใจแรง หายใจตื้น ๆ สั่น ๆ และเร็ว
• อารมณ์ไม่ดี
• กินนมน้อยลง หรือกินอาหารน้อยกว่าปกติ
• มีอาการเซื่องซึม อ่อนเพลียผิดปกติ
• มีเสมหะออกมาในปริมาณที่มากกว่าปกติ
• ไอ เป็นเสียงโขลก ๆ หรือมีเสียงหวีด ๆ ในปอด
• ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจถึงขั้นตัวเขียว เนื่องจากขาดออกซิเจน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า
“ในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน ประเทศไทยมักพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV) โดยเชื้อไวรัสนี้ติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มตั้งแต่มีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจเร็ว หอบเหนื่อยเนื่องจากปอดอักเสบ รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ”
การรักษา เมื่อติดเชื้อไวรัส RSV
ในปัจจุบันเชื้อไวรัส RSV นั้นไม่มีวิธีการรักษาให้หายโดยตรงเช่นเดียวกับ ไข้หวัด จึงต้องรักษาแบบประคับประคองตามอาการป่วย เช่น ให้ ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม ยาแก้หวัด ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ เป็นต้น ซึ่งหากติดเชื้อไม่รุนแรง โดยทั่วไปจะหายเป็นปกติได้ภายใน 2 สัปดาห์
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อรุนแรง และมีอาการหอบ เหนื่อย มีค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ อาจจะต้องมีการพ่นยาขยายหลอดลม ร่วมกับการให้ออกซิเจน หรือใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเครื่องช่วยหายใจ
วิธีป้องกัน ไวรัส RSV
แม้ว่าปัจจุบัน จะยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV หรือยารักษาโดยตรง แต่เราก็สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ได้ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพ และปฏิบัติตนตามหลักการรักษาสุขลักษณะที่ดี ดังนี้
• ให้เด็ก ๆ และคนรอบข้าง หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะก่อนที่จะสัมผัสเด็ก
• หลีกเลี่ยงการสัมผัส และการอยู่ในที่มีผู้ป่วยเป็นโรคไข้หวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนด หรืออยู่ในช่วงอายุ 2 เดือนแรก ที่ควรให้อยู่แต่ในบ้านในช่วงที่ไวรัส RSV ระบาด
• รักษาความสะอาดรอบตัว โดยเฉพาะในห้องครัว และห้องน้ำ ทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วทันที
• ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะเมื่อคุณ หรือคนใกล้ตัวมีอาการป่วย
• ไม่สูบบุหรี่ในบ้าน หรือในรถ และห้ามสูบบุหรี่ใกล้เด็กทารกเด็ดขาด เพราะควันบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยง ในการติดเชื้อไวรัส RSV ในเด็กทารก และยังทำให้อาการเจ็บป่วยรุนแรงกว่าปกติอีกด้วย
• ทำความสะอาดของเล่นของลูกอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อลูก หรือเพื่อนของลูกไม่สบาย
• ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
• ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
• ถ้าเด็กมีอาการป่วย ควรแยกออกจากเด็กปกติ โดยควรหยุดเรียนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ และให้พักผ่อนรักษาตัวอยู่ที่บ้าน
• สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
อ้างอิงบทสัมภาษณ์คุณหมอ : thaihealth.or.th
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GedGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife