บนซองบุหรี่ทุกซอง จะมีรูปภาพโรคร้ายต่าง ๆ อันแสนน่ากลัวที่เกิดจากการสูบบุหรี่ และหนึ่งในนั้นก็คือ โรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งสาเหตุของโรคนี้ ร้อยละ 80 เกิดจากการสูบบุหรี่ ส่วนอีก 20% จะเกิดจากอะไรนั้น ไปติดตามกันได้เลย
โรคถุงลมโป่งพอง คืออะไร?
โรคถุงลมโป่งพอง (Pulmonary Emphysema) เป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มของ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease (COPD)) เกิดจากการอักเสบของเนื้อปอดบริเวณถุงลมปอด ทำให้เนื้อปอดมีถุงลมเล็ก ๆ จำนวนมาก ที่อยู่ติดกันจนกลายเป็นถุงลมขนาดใหญ่ ดูคล้ายกับพวงองุ่น ซึ่งส่งผลให้มีพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนออกซิเจนในปอดลดลง หรือมีอากาศค้างในปอดมากกว่าปกติ หากอาการมีความรุนแรงมากขึ้น ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจตื้น หรือเหนื่อยง่าย
สาเหตุของ โรคถุงลมโป่งพอง
สาเหตุหลักของโรคถุงลมโป่งพอง คือ การสูบบุหรี่ โดยผู้ที่สูบบุหรี่ จะมีโอกาสเป็นโรคถุงลมโป่งพอง มากกว่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ถึง 6 เท่า
นอกจากการสูบบุหรี่แล้ว สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง จะมาจาก..
1. การสัมผัส หรือสูดสารที่เป็นพิษ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของฝุ่นควันที่มีอานุภาพเล็ก ๆ หรือแก๊ส หรือสารเคมีเข้าไปในปอด
2. ความผิดปกติทางพันธุกรรม ชื่อ alpha-1 antitrypsin (A1AT) deficiency แต่พบได้น้อย
3. มีประวัติติดเชื้อในทางเดินหายใจบ่อยตอนเด็ก
อาการของ โรคถุงลมโป่งพอง
อาการส่วนใหญ่ของโรคถุงลมโป่งพองจะมี 2 แบบ ที่สังเกตได้ชัดเจน ได้แก่
- แบบที่ 1 อาการเหนื่อย อาการเหนื่อยก็อาจจะเป็นได้ตั้งแต่เวลาออกแรงทำงานหนักถึงจะมีอาการเหนื่อย จนถ้าเป็นมาก ๆ ขณะพัก หรือกินข้าวเสร็จก็มีอาการเหนื่อยได้
- แบบที่ 2 ก็จะมีเรื่องของไอ ไอจะเป็นลักษณะไอเรื้อรังอาจจะมีเสมหะ หรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีเสมหะก็ปริมาณเพียงเล็กน้อยมักจะเป็นตอนเช้า
อาการอื่น ๆ ของโรคถุงลมโป่งพอง ได้แก่
- หัวใจเต้นเร็ว
- เกิดภาวะซึมเศร้า
- น้ำหนักลด
- อาจมีริมฝีปาก เล็บ เป็นสีคล้ำออกม่วงเทา หรือฟ้าเข้ม เนื่องจากขาดออกซิเจน
- ผู้ที่มีหรือหากมีอาการหายใจตื้น หรือเหนื่อยง่ายติดต่อกันนานหลายเดือน มีอาการแย่ลง หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ผู้ป่วยบางรายอาจไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคถุงลมโป่งพอง เนื่องจากอาการจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้ป่วยไม่สังเกตเห็นถึงความผิดปกติ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเหนื่อยง่าย ผู้ป่วยก็มักจะหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ทำให้เหนื่อยง่าย จึงทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่หากอาการรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยก็จะมีอาการเหนื่อยง่าย แม้ไม่ได้ทำกิจกรรมใด ๆ เลย
การรักษาโรคถุงลมโป่งพอง
ถุงลมโป่งพอง เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาจึงจะเน้นไปที่การลดอาการ หรือชะลอความรุนแรงของโรค ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ
1. การรักษาด้วยยา เช่น การใช้ยาขยายหลอดลม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น ยาสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบในปอด ยาปฏิชีวนะ เพื่อต่อต้านการติดเชื้อ รวมไปถึงการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ หรือปอดอักเสบ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดการติดเชื้อในปอดที่รุนแรง
2. การรักษาโดยไม่ใช้ยา แยกออกเป็นการบำบัด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพปอด การดูแลเรื่องโภชนาการ รวมไปถึงการผ่าตัด เพื่อนำชิ้นส่วนของปอดที่ได้รับความเสียหายออก และการปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น การเลิกสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ปอดเกิดการระคายเคือง เป็นต้น
การป้องกันถุงลมโป่งพอง
เนื่องจากโรคถุงลมโป่งพอง เกิดจากสารพิษที่เราสูดเข้าไป วิธีที่ดี และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันโรคนี้ คือ การเลิกสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่น หรือสารพิษในอากาศจำนวนมาก หรือสวมหน้ากากป้องกันตัวเอง จากควัน และสารพิษที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาชีพ ที่ต้องสัมผัส สูดฝุ่นควันอยู่เป็นประจำ โดยหน้ากากที่สวม จะต้องเป็นหน้ากากที่ได้มาตรฐานตามวิชาชีพด้วย
การตรวจพบโรคถุงลมโป่งพองอย่างทันท่วงที เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะหากปอด และหัวใจได้รับความเสียหาย ก็อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว ดังนั้น หากช่วงนี้คุณรู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยง่ายจนผิดปกติ แถมยังเป็นมานานเกินไปแล้วละก็ ควรรีบไปหาหมอเพื่อรับการตรวจได้แล้วนะ
วันถุงลมโป่งพองโลก (World COPD Day)
องค์การอนามัยโลก และองค์การโรคถุงลมโป่งพองโลก ได้กำหนดให้วันพุธสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันแห่งการรณรงค์โรคถุงลมโป่งพองโลก เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงพิษภัยของโรคถุงลมโป่งพอง และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคนี้
ในประเทศไทยโรคถุงลมโป่งพองรุนแรงขึ้นทุกปี พบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพองกว่า 3 ล้านคน ขณะที่ทั่วโลกมีผู้ป่วยทั้งหมด 300 ล้านคน
อ้างอิงข้อมูลจาก : ashthailand.or.th
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife