มลพิษ คือ เรื่องที่คนไทยต้องเผชิญหนักขึ้น มากขึ้น ในยุคนี้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แค่มองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นท้องฟ้าที่แสนจะขมุกขมัว ก็เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า นั่นมัวหมอกฝน หรือว่ามัวฝุ่นกันแน่ เห็นแล้วก็ให้เป็นห่วงสุขภาพร่างกายของเราเสียเหลือเกิน
แต่ว่าไม่ใช่แค่ฝุ่นในอากาศ หรือสารเคมีที่เป็นข่าวหรอกนะที่น่าเป็นห่วง เพราะมลพิษที่อยู่ใกล้ตัวเรายังมีอยู่อีกเยอะ มาดูกันสิว่า วันหนึ่ง ๆ เราต้องเผชิญกับมลพิษอะไรบ้าง…
มลพิษ ทางอากาศ – Air Pollution
มลพิษทางอากาศ หมายถึงฝุ่นละออง วัตถุอันตราย สารพิษ หรืออะไรก็ตามที่อยู่ในอากาศ ที่ทำให้เกิดโรค เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในมนุษย์ และทำลายสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่น พืช หรือสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เป็นมลพิษที่หลีกเลี่ยงได้ยากที่สุด เพราะว่าเราสามารถหายใจเอามลพิษเหล่านี้เข้าร่างกายได้อย่างง่ายดาย
โดยมลพิษในอาการนั้น มีที่มาจากหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น…
1. จากธรรมชาติ เป็นมลพิษที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากฝีมือมนุษย์ และส่งผลกระทบที่ไม่ร้ายแรงนัก เช่น ภูเขาไฟระเบิด หรือไฟป่า ที่ก่อให้เกิดควันและเถ้าถ่านเป็นจำนวนมาก หรือฝุ่นละอองที่พบได้ในทุกที่
2. จากฝีมือมนุษย์ มนุษย์เป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศมากที่สุด การเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์ ส่งผลให้เกิดความต้องการพลังงานและเชื้อเพลิงต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งในภาคครัวเรือน อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม
มลพิษทางอากาศที่กำลังคุกคามชาวกรุงเทพอยู่ตอนนี้ คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกว่า PM 2.5 (มีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ขนจมูกของมนุษย์ไม่สามารถกรองได้)
โดย PM 2.5 ถือเป็นมลพิษที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ เช่น
- ยานพาหนะที่ปล่อยควันดำ (ปล่อย PM2.5 ประมาณ 50,240 ตัน/ปี)
- การเผาไหม้ในที่โล่ง เช่น การเผาขยะ, การปิ้งย่างข้างถนน (ปล่อย PM2.5 ประมาณ 209,937 ตัน/ปี)
- กระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม (ปล่อย PM2.5 ประมาณ 65,140 ตัน/ปี)
- การผลิตไฟฟ้า (ปล่อย PM2.5 ประมาณ 31,793 ตัน/ปี)
โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ตั้งแต่ปี 2556 อีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ผลเสียของมลพิษทางอากาศ
• ลดประสิทธิภาพการทำงานของปอด เป็นสาเหตุของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
• ทำให้เกิดการระคายเคืองตา จมูก และคอ ไอ
• ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาท
• บดบังแสงสว่าง ลดความสามารถในการมองเห็น
มลพิษทางน้ำ – Water Pollution
มลพิษทางน้ำ มีสาเหตุสำคัญมาจากการจากทิ้งขยะลงสู่แหล่งน้ำ และน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การก่อสร้างบ้านเรือน และชุมชน โดยเฉพาะชุมชนในเขตเมืองที่มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ต่างก็มีการปล่อยน้ำเสียสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยตรง โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการใด ๆ จึงยิ่งเป็นการสร้างมลพิษให้กับแหล่งน้ำต่าง ๆ มากขึ้น
มลพิษทางน้ำเป็นแหล่งแพร่ระบาดของเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ เช่น อหิวาตกโรค บิด และท้องเสีย เป็นต้น และยังส่งผลกระทบต่อต่อวงจรชีวิตของสัตว์น้ำ เช่น น้ำเสียที่เกิดจากสารพิษอาจทำให้ปลา และสิ่งมีชีวิตตายทันที
ทั้งนี้ลำคลองต่าง ๆ ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร เต็มไปด้วยน้ำเน่า เนื่องจากชาวบ้านริมคลองมักจะเลือกทิ้งขยะลงน้ำกัน ฉะนั้น การจะแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ ก็ต้องปรับกันที่ระเบียบวินัยในการทิ้งขยะจากชาวบ้านในชุมชนริมคลอง และความร่วมมือจากภาครัฐตรวจสอบอยู่เสมอ
มลพิษทางดิน – soil pollution
มลพิษทางดิน เกิดได้ทั้งจากสารเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมของดิน เช่น กิจกรรมอุตสาหกรรม สารเคมีจากการเกษตรกรรม หรือมีการกำจัดของเสียอย่างไม่เหมาะสม
โดยมลพิษทางดิน สามารถเกิดขึ้นได้ จากสาเหตุต่อไปนี้
• มีการปล่อยสารพิษลงดินโดยอุบัติเหตุ หรือตั้งใจ
• ฝนกรด (เป็นผลต่อเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศ)
• การทำการเกษตรกรรมแบบเข้มข้น
• กิจกรรมทางการเกษตร เช่น การใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืช และปุ๋ย
• การทำเหมือง
• ขยะหรือสารเคมีที่ถูกฝังลงดิน
• ขยะอิเล็กทรอนิกส์
• สารเคมี ซึ่งที่พบบ่อยที่สุด คือ ไฮโดรคาร์บอนปิโตรเลียม ตัวทำละลาย ตะกั่วและโลหะหนักอื่น ๆ
มลพิษทางดิน สามารถส่งผลเสียต่อระบบนิเวศได้เป็นอย่างมาก และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของดิน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะแสดงออกผ่านทางการเปลี่ยนแปลง ของระบบจุลินทรีย์และสัตว์ขาปล้องประจำถิ่นในดิน ส่งผลให้ห่วงโซ่อาหารบางส่วนถูกกำจัด และกระทบต่อผู้บริโภคต่อไปได้
การควบคุมมลพิษ
ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ หรือทางดิน ก็ล้วนแต่สมควรถูกควบคุม และลดปริมาณการเกิดให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นการลดปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของคนเรา และสภาพแวดล้อม รวมถึงเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ใช้เพื่อแก้ปัญหาด้วย
ซึ่งการควบคุมมลพิษนั้น สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
• การออกกฎหมายควบคุมจากหน่วยงานของรัฐ
• การกำหนดมาตรฐาน เพื่อควบคุมดูแลคุณภาพอากาศ น้ำ และดิน
• การควบคุมแหล่งกำเนิด
• การเปลี่ยนกระบวนการหรือวีธีการผลิต
• การนำสารปนเปื้อนที่เกิดจากกระบวนการผลิตไปใช้ประโยชน์ใหม่
• ปลูกป่าทดแทน เพื่อช่วยฟอกอากาศ และฟื้นฟูสภาพดิน
• ออกมาตรการควบคุม และกำหนดการกำจัดขยะอย่างถูกต้อง
หากประชาชนพบเห็นรถยนต์ควันดำจากรถยนต์ดีเซล สามารถแจ้งได้ที่
รถเมล์หรือรถบรรทุกควันดำ โปรดแจ้งสายด่วนกรมการขนส่งทางบก 1584
รถเมล์ ขสมก. ควันดำ โปรดแจ้งสายด่วน ขสมก. 1348
รถยนต์ควันดำ โปรดแจ้งที่ แฟนเพจ “นิธิธร จินตกานนท์” ผู้บังคับการตำรวจจราจร หรือสายด่วน 1197
สายด่วนกรุงเทพมหานคร โทร 1555
แฟนเพจ “กรมควบคุมมลพิษ” หรือสายด่วน 1650
ติดตามข้อมูลออนไลน์ จากกรมควบคุมมลพิษ –>> https://bit.ly/2HbqkpT
การแก้ปัญหามลพิษ ฟังดูเผิน ๆ อาจเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้ว ปัญหาจากมลพิษนั้น ส่งผลต่อพวกเราทุกเป็นอย่างมาก จึงอาจเรียกได้ว่า การช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม และลดมลพิษ ก็ไม่ต่างอะไรกับการดูแลตัวเองนั่นเอง
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี