เวลามีใครเป็นโรค ตากุ้งยิง ก็มักจะหนีไม่พ้นกับการโดนแซวว่า ฮั่นแน่! ไปแอบดูใครโป๊มาใช่มั้ย? แต่ในความจริงแล้ว… การแอบดูใครโป๊ ไม่ได้ทำให้เป็นโรคตากุ้งยิงแม้แต่นิดเดียว เพราะว่าตากุ้งยิงเป็นโรคติดเชื้อที่บริเวณเปลือกตาต่างหากล่ะ
ลองมาทำความรู้จักกับ โรคตากุ้งยิง รวมถึงเรียนรู้วิธีป้องกัน เพื่อไม่ให้เป็นโรคนี้กันดีกว่า
สาเหตุของโรคตากุ้งยิง
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดตากุ้งยิง เกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณโคนขนตา ทำให้มีเชื้อโรคเข้าไปแทรกซ้อน เมื่อร่างกายอ่อนแอ และภูมิต้านทานของร่างกายลดลง เพราะพักผ่อนน้อย หรือใช้มือสกปรกขยี้ตาบ่อยจนเกินไป ทำให้เปลือกตาไม่สะอาด จนเกิดการติดเชื้อ รวมไปถึงการใส่ หรือถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือที่ไม่สะอาด ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคตากุ้งยิง ได้ทั้งสิ้น
แล้วอาการแบบไหนล่ะที่บ่งบอกว่าเป็น ตากุ้งยิง ?
ตากุ้งยิง เกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งชาย และหญิง เกิดได้ทั้งบริเวณเปลือกตาบน และเปลือกตาล่าง อาการที่พบโดยทั่วไป ได้แก่
• มีตุ่มบวม หรือตุ่มหนองที่เปลือกตา
• เปลือกตาบวมแดง รู้สึกระคายเคืองตา
• มีอาการปวดหนังตา เวลากลอกตาหรือหลับตา
โรคตากุ้งยิง สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
ตากุ้งยิงภายนอก (ชนิดหัวผุด) มีตุ่มบวมที่ขอบเปลือกตาด้านนอก อาจมีหัวหนองจากการอักเสบ เมื่อสัมผัสโดนจะรู้สึกเจ็บปวดได้
ตากุ้งยิงภายใน (ชนิดหลบใน) มีตุ่มบวมด้านในของเปลือกตา แต่เจ็บปวดน้อยกว่าตากุ้งยิงแบบภายนอก
โดยปกติแล้ว แม้ไม่ได้รับการรักษา ตากุ้งยิงก็จะมีอาการทุเลาลง และหายเองได้ภายในเวลาไม่กี่วัน แต่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที หากมีอาการดังต่อไปนี้
• อาการแย่ลง หรือไม่ดีภายใน 1-2 สัปดาห์
• ก้อนมีขนาดใหญ่มาก และเจ็บ
• เปลือกตาบวมมาก และสร้างความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก
• พบตุ่มน้ำเกิดขึ้นที่เปลือกตา
• เปลือกตามีแผลตกสะเก็ด
• เปลือกตาแดง หรือตาแดงทั่วไปหมด
• สายตาผิดปกติ
• มีอาการแพ้แสงแดด
• อาการบวมแดงที่เปลือกตา ลามไปที่แก้ม และส่วนอื่น ๆ บนใบหน้า
• พบเลือดออกบริเวณก้อนที่เปลือกตา
• ทำการรักษาเบื้องต้นด้วยตนเองแล้ว เช่น ประคบอุ่น แต่อาการไม่ดีขึ้น
• กลับมาเป็นซ้ำหลังจากรักษาจนหายดีแล้ว
วิธีรักษาตากุ้งยิง
คนที่เป็นตากุ้งยิงอาจมีคำถามว่า เมื่อเป็นแล้วควรไปพบแพทย์ไหม สามารถรักษาด้วยตนเอง ได้หรือไม่? โรคตากุ้งยิงนี้ สามารถหายได้เองโดยการรักษาความสะอาดบริเวณดวงตา หรือใครที่กังวลไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี ก็สามารถพบแพทย์ หรือเภสัชใกล้บ้านท่าน เพื่อขอคำปรึกษาก็ได้
รักษาด้วยตนเอง
เมื่อมีตุ่มนูนเกิดขึ้น ให้หลับตาแล้วใช้ผ้าชุบน้ำร้อนเท่าที่คิดว่าจะทนได้ ประคบบริเวณตุ่มบ่อย ๆนอนหลับให้เพียงพอ ก็จะมีโอกาสหายเองได้
*** ไม่ควรบีบให้หนองบริเวณตากุ้งยิงไหลออกมาด้วยตนเอง หากมีอาการเจ็บปวดจากการอักเสบติดเชื้อ สามารถกินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดได้
รักษาโดยแพทย์
แม้ว่าตากุ้งยิงจะเกิดจากการติดเชื้อ แต่แพทย์มักจะไม่จ่ายยาปฏิชีวนะให้หากไม่จำเป็น เพราะตากุ้งยิงสามารถหายได้เองโดยใช้เวลาไม่นาน และรักษาตามอาการ เช่น ใช้สำลีเช็ดทำความสะอาดรอบดวงตา เมื่อมีอาการเปลือกตาอักเสบ หรือให้ยาปฏิชีวนะแบบขี้ผึ้ง เพื่อนำไปใส่จุดที่เป็นตากุ้งยิง เมื่อมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ เป็นต้น
วิธีป้องกันตากุ้งยิง ง่ายนิดเดียว
• รักษาความสะอาด ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
• ไม่ใช้มือสกปรกขยี้ตา
• รักษาความสะอาดของใบหน้า และเส้นผม
• อย่าให้ผมแยงตา เพราะอาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ดวงตาได้ง่าย
• เมื่อเริ่มมีอาการ ควรปรึกษาจักษุแพทย์โดยด่วน
• ไม่แต่งหน้าแล้วปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ โดยไม่ล้างออก
• หากใส่คอนแทคเลนส์ ต้องรักษาความสะอาดคอนแทคเลนส์อยู่เสมอ และล้างมือก่อนสัมผัสคอนแทคเลนส์
“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี