ปัญหาเรื่องการคุมกำเนิด เรียกได้ว่าเป็นปัญหายอดฮิตที่มีคนทางบ้านถามเข้ามาบ่อย ๆ ในบอร์ด GED : Ask Expert วันนี้ GedGoodLife จึงขอเสริมความรู้เรื่องการคุมกำเนิด พร้อมแนะนำ “วิธีคุมกำเนิด” ที่ได้ผลดี และปลอดภัย มาฝาก ใครที่มีแผนคุมกำเนิดอยู่ตอนนี้ ไม่อยาก “ท้องไม่พร้อม” ต้องอ่านบทความนี้แล้วล่ะ!
การคุมกำเนิด
การคุมกำเนิด คือ การป้องกันไม่ให้เชื้ออสุจิ (Sperm) ของเพศชายผสมกับรังไข่ (Ovary) ของเพศหญิง หรือหากผสมก็ป้องกันไม่ให้ไข่นั้นฝังตัวที่มดลูก
โดย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้แบ่งวิธีการคุมกำเนิด ไว้ 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
1. การคุมกำเนิดแบบถาวร
เป็นการคุมกำเนิดเมื่อไม่ต้องการบุตรอย่างถาวร
1.1 การทำหมันหญิง คือ การผูก-ตัดท่อนำไข่ผ่านทางแผลเล็ก ๆ ที่ช่องท้อง
1.2 การทำหมันชาย คือ การตัด และผูกท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ ที่มาจากลูกอัณฑะทั้งสองข้าง
การทำหมันสามารถทำได้ง่าย และไม่มีผลข้างเคียงระยะยาว อัตราการทำหมันล้มเหลว มีเพียงร้อยละ 0.1-0.5 แต่หากคู่สามี-ภรรยา ต้องการมีบุตรเพิ่ม การผ่าตัดแก้หมันจะทำได้ยาก ดังนั้นจึงต้องตัดสินใจให้มั่นใจก่อนการทำหมัน
2. การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว
เป็นวิธีที่ใช้ป้องกันการตั้งครรภ์เมื่อยังไม่พร้อมที่จะมีบุตร (เมื่อเลิกใช้ก็สามารถมีบุตรได้อีก) โดยมีหลายวิธีด้วยกัน ดังนี้
2.1 การหลั่งภายนอก มีโอกาสตั้งครรภ์ร้อยละ 4-27
2.2 การนับวันปลอดภัย มีโอกาสตั้งครรภ์ร้อยละ 9-25
2.3 ถุงยางอนามัย มีโอกาสตั้งครรภ์ร้อยละ 2-15
2.4 ยาฆ่าเชื้ออสุจิ มีโอกาสตั้งครรภ์ร้อยละ 18-25
2.5 ห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดง มีโอกาสตั้งครรภ์ร้อยละ 0.5
2.6 ห่วงคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน มีโอกาสตั้งครรภ์ร้อยละ 0.1
2.7 ยาเม็ดคุมกำเนิด มีโอกาสตั้งครรภ์ร้อยละ 0.3-8
2.8 แผ่นฮอร์โมนคุมกำเนิด มีโอกาสตั้งครรภ์ร้อยละ 0.3-8
2.9 ยาฉีดคุมกำเนิด มีโอกาสตั้งครรภ์ร้อยละ 0.3-3
2.10 ยาฝังคุมกำเนิด มีโอกาสตั้งครรภ์ร้อยละ 0.05
ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง ลิ่มเลือดอุดตัน ความดันโลหิตสูง น้ำหนักตัวมาก เบาหวาน โรคตับ และลำไส้ โรคหัวใจ โรคเลือด และลมบ้าหมู ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม
“5 วิธีคุมกำเนิด” ที่มีประสิทธิภาพ ยอดนิยม
1. ห่วงอนามัย วงแหวนอนามัย
คือการสอดห่วง หรือวงแหวนทางการแพทย์ชิ้นเล็ก ๆ ที่มีไว้สำหรับใส่เข้าไปในโพรงมดลูกของผู้หญิง เพื่อทำให้สภาพในโพรงมดลูกไม่เหมาะแก่การฝังตัวของตัวอ่อน ป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อนบนผนังมดลูก เมื่อถอดห่วงออก ก็จะสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ตามปกติทันที จึงนิยมใช้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์แบบชั่วคราว
โอกาสตั้งครรภ์ : ต่ำมาก เพียง 1%
2. ยาเม็ดคุมกำเนิด
หมายถึงยาเม็ดคุมกำเนิดที่เป็นแผง มีส่วนประกอบของฮอร์โมนรวมสองชนิด ได้แก่ เอสโตรเจนและโปรเจสติน ซึ่งยับยั้งการตกไข่ และทำให้อสุจิเคลื่อนที่ยากขึ้น ต้องกินอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด บางยี่ห้ออาจมียาเพียง 21 เม็ด เพื่อให้เว้นไป 7 วันก่อนจะเริ่มแผงใหม่ แต่ส่วนใหญ่มักมี 28 เม็ด โดย 7 เม็ดสุดท้าย จะเป็นแป้ง หรือวิตามินเพื่อป้องกันการลืมกินยา
โดยให้เริ่มกินยาในวันแรกที่ประจำเดือนมา หรือภายใน 5 วันแรกของรอบเดือน จากนั้นให้กินต่อเนื่องทุกวัน วันละ 1 เม็ด ในเวลาเดียวกันของทุกวัน จึงแนะนำให้กินก่อนนอน อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน น้ำหนักเพิ่มขึ้น และอาจมีสิวได้
โอกาสตั้งครรภ์ : น้อย 0.3-8 %
3. ถุงยางอนามัย
คือ อุปกรณ์ที่ใช้คุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง (หากใช้อย่างถูกวิธี) สามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดต่าง ๆ ได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเอดส์ นอกจากจะใช้เพื่อคุมกำเนิด และป้องกันโรคได้ด้วย
โอกาสตั้งครรภ์ : น้อย 2-15 %
4. ยาฝังคุมกำเนิด
เป็นอีกหนึ่ง วิธีคุมกำเนิด ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เป็นการใช้ฮอร์โมนโปรเจสติน บรรจุเอาไว้ในหลอด หรือแท่งพลาสติกขนาดเล็ก เท่าไม้จิ้มฟันชนิดกลม นำมาฝังเข้าไปที่ใต้ผิวหนัง บริเวณใต้ท้องแขนด้านที่ไม่ถนัด ฮอร์โมนจะค่อย ๆ ซึมผ่านออกมาจากแท่งยาเข้าสู่ร่างกาย และไปยับยั้งการเจริญเติบโตของไข่ ส่งผลให้ไม่มีการตกไข่ตามมา จึงช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้
โอกาสตั้งครรภ์ : น้อยมาก เพียง 0.05%
5. ยาฉีดคุมกำเนิด
วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว อีกแบบหนึ่ง โดยจะฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อของผู้หญิง ในระยะเวลาตามที่แพทย์กำหนด หลังจากฉีด ตัวยาจะค่อยๆ ขับฮอร์โมนออกมา เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมาก ในผู้ที่ต้องการเว้นระยะการมีบุตร เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง ทำได้ง่าย สะดวก และมีราคาถูก
โอกาสตั้งครรภ์ : น้อย 0.3-3%
รู้หรือไม่? ในวันที่ 26 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันคุมกำเนิดโลก”
“5 ความเชื่อผิด ๆ” เกี่ยวกับวิธีคุมกำเนิด
นอกจาก วิธีคุมกำเนิด ข้างต้นแล้ว ยังมีการคุมกำเนิดที่สามารถทำได้อีกมากมายหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่แล้วกลับเป็นวิธีที่ผิด และไม่ได้ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์แต่อย่างใด
1. หลั่งนอก
การหลั่งนอก และกลั้นอสุจิไม่ให้ไหลเข้าไปในช่องคลอดนั้น เป็น วิธีคุมกำเนิด ที่นิยมทำกันมากในหมู่วัยรุ่น เพราะสะดวก และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังทำได้ทุกเมื่อ แต่ว่า วิธีกลั้นไม่ให้อสุจิหลั่งเข้าไปในช่องคลอดนั้น ไม่มีอะไรมาช่วยรับประกันได้เลยว่า จะสามารถกลั้นอสุจิเอาไว้ได้ทั้งหมด เพราะอสุจิบางตัว สามารถติดมากับสารหล่อลื่น ที่ออกมาในขณะที่มีเพศสัมพันธ์แล้วได้
วิธีคุมกำเนิดด้วยการหลั่งนอก หรือการกลั้นอสุจิ จึงนับเป็นการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพต่ำมาก
2. ล้างช่องคลอด
การล้างช่องคลอด คือการใช้น้ำสวนเข้าไปในช่องคลอด เพื่อชำระล้างคราบอสุจิออกมา นี่เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ไม่แนะนำมากที่สุด เป็นวิธีที่แย่ที่สุด เพราะสามารถทำให้ภายในช่องคลอดได้รับบาดเจ็บ และยังทำให้สภาพแวดล้อมในช่องคลอดเปิดการเปลี่ยนแปลง และเพิ่มโอกาสการติดเชื้อต่าง ๆ อีกด้วย
ยังมีความเชื่ออีกว่า หากล้างช่องคลอด้วยน้ำผสมด่าง จะช่วยให้ไม่ท้อง เป็นความเชื่อที่ผิดมหันต์ เพราะน้ำที่มีฤทธิ์เป็นด่าง จะทำให้สมดุลในช่องคลอดเสีย อันตราย เสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องคลอด และไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ลงเลย
3. ปัสสาวะทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์
การปัสสาวะทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์นั้น ความจริงแล้ว เป็นเพียงวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของท่อปัสสาวะเท่านั้น เนื่องจากหลังการมีเพศสัมพันธ์ จะมีโอกาสติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะสูง การที่ปัสสาวะออกมาทันที จึงช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ แต่ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์แต่อย่างใด
4. นับหน้า 7 หลัง 7
การนับหน้า 7 หลัง 7 หรือที่ในทางการแพทย์ เรียกว่า Fertility Awareness Method คือการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันที่จะมีประจำเดือน 7 วัน และหลังวันแรกของการมีประจำเดือนอีก 7 วัน แม้จะนับได้ว่าเป็น วิธีการคุมกำเนิด ที่ดีกว่าวิธีอื่น แต่ก็มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์สูงอยู่ดี
เนื่องจากวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง และประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ ตรงเวลา เท่านั้น ไม่เหมาะกับผู้ที่ประจำเดือนมาคลาดเคลื่อน หรือมาไม่ตรงเวลาเป็นประจำ และต้องให้แน่ใจว่า เลือดที่ออกมาคือประจำเดือนจริง ๆ ไม่ใช่เลือดที่เกิดจากแผล หรือเป็นเลือดที่ออกอย่างผิดปกติ
5. ใส่ถุงยางอนามัยซ้อน 2 ชั้น
การสวมถุงยางอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ดี มีประสิทธิภาพ หลายคนจึงคิดว่า การสวมถุงยางอนามัย 2 ชั้น จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดให้มากยิ่งขึ้นได้ แต่ความจริงแล้ว นอกจากการสวมถุงยางอนามัย 2 ชั้น จะไม่ได้ช่วยป้องกันการรั่วซึมของอสุจิเข้าไปในช่องคลอดได้ดีกว่าเดิมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งควรร์ให้มากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย เพราะการสวมถุงยางอนามัย 2 ชั้น จะทำให้เกิดการเสียดสีกันระหว่างถุงยางทั้งสองชิ้น และทำให้ถุงยางอนามัยฉีกขาด แตกรั่วได้ง่ายขึ้นมาก
การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ส่งผลต่อสุขภาพเด็กอย่างไร?
พญ. พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นไทย ถือได้ว่าเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไข ที่ผ่านมาเด็กที่เกิดมายังด้อยคุณภาพ
- มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่า 2,500 กรัม
- ไม่เจริญเติบโตตามวัย
- พัฒนาการล่าช้า และสงสัยจะล่าช้าถึงร้อยละ 30
- ส่งผลต่อไอคิวของเด็กที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวันรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี
โดยในกลุ่มเด็กอายุ 15 – 19 ปี 1,000 คน จะมีคนที่ตั้งครรภ์อยู่ถึง 40 คน ต่อการตั้งครรภ์ต่อปี และในจำนวนนี้ยังมีผู้ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี รวมอยู่ด้วย
แพทย์หญิง วรมา เกษมพิพัฒน์ชัย โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวถึง ทางเลือกของการคุมกำเนิด ในสังคมยุคปัจจุบัน ควรมีการเน้นย้ำเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย (safe sex) โดยต้องปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์
เพราะฉะนั้นวิธีการคุมกำเนิดที่ดีที่สุด คือการใช้วิธีคุมกำเนิด 2 วิธี (dual protection) โดยใช้ถุงยางอนามัยร่วมกับวิธีอื่นอีก 1 วิธี เช่น ยาฝังคุมกำเนิด การใส่ห่วงคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด และยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นต้น ซึ่งวิธีคุมกำเนิดแต่ละวิธีก็มีข้อดี ข้อเสีย สามารถเลือกนำมาใช้ได้ตามความเหมาะสมของแต่ละคน
อ้างอิง:
1. rtcog.or.th 2. oryor.com 3. rama.mahidol.ac.th 4. มหิดล แชนแนล 5. siamrath 6. pptvhd36
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี