การตั้งครรภ์ และคลอดบุตร ทําให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นการฟื้นฟูให้ร่างกายกลับมาสู่สภาพปกติ จึงต้องได้รับการดูแล และปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะส่วนต่าง ๆ ที่สําคัญของร่างกายของแม่ หลังคลอด
คลายกังวลคุณแม่ หลังคลอด
มดลูก ปกติจะมีขนาดเล็กประมาณผลชมพู่ แต่เมื่อตั้งครรภ์จะขยายใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับทารกในครรภ์ หญิงหลังคลอดอาจมีอาการเจ็บปวดในช่องท้องได้บ้าง การดูแลอาจทําได้โดยการประคบด้วยความร้อน หรือใช้วิธีการ อยู่ไฟ แบบแพทย์แผนไทยในระหว่างนี้จะมีน้ําคาวปลาถูกขับออกมาจากโพรงมดลูก โดยวันแรกจะมีสีเข้ม เหมือนเลือดเก่า และมีกลิ่นคล้ายประจําเดือน วันที่สองสีจะจางลงเป็นสีชมพู และจะจางลงเรื่อย ๆ จนหมดภายใน 4-6 สัปดาห์ หลังคลอด
ฝีเย็บ เป็นผิวหนังที่อยู่ระหว่างอวัยวะเพศกับทวารหนัก ในการคลอดอาจจะถูกกรีดเพื่อให้สะดวก ต่อการคลอดทารก เมื่อคลอดแล้วจะเย็บติดไว้ หลังคลอดจะรู้สึกเจ็บปวดแผลบ้างและจะค่อย ๆ ทุเลาลงจนเป็นปกติ ใน 5-7 วัน
ระบบขับถ่าย วันแรกอาจไม่ถ่ายเพราะหญิงตั้งครรภ์มักงดอาหาร และน้ําก่อนคลอด แต่จะกลับเข้า ภาวะปกติภายใน 6-8 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร
เต้านม หลังคลอดอาจเกิดอาการดึงคัดเต้านม ดังนั้นคุณแม่ควรให้ลูกดูดนม เพราะนอกจากจะลดอาการดึงคัดแล้ว ทารกยังได้รับสารอาหารที่มีคุณค่า รวมทั้งภูมิต้านทานที่เหมาะสม และดีที่สุดจากแม่
กล้ามเนื้อหน้าท้อง หลังคลอดอาจมีอาการดึงตัวของกล้ามเนื้อหน้าท้อง โดยปกติจะกลับคืนสู่สภาพปกติภายใน 6 สัปดาห์หลังคลอด แต่ถ้าบริหารสม่ําเสมอจะช่วยให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้เร็ว
เรื่องสําคัญที่คุณแม่ควรใส่ใจดูแลหลังคลอด
เต้านม เต้านมจะมีขนาด และน้ําหนักเป็น 3 เท่าของเต้านมปกติ ดังนั้น ควร ควร พยุงไว้เพื่อป้องกันการหย่อนยาน แต่ไม่ควรสวมยกทรงแบบมีโครงเหล็ก เพราะอาจจะไปกดทับท่อน้ำนมได้ ควรทำความสะอาดเต้านม และล้างมือทุกครั้งก่อน-หลังให้นมลูก
การมีประจําเดือน ช่วงให้ลูกกินนมแม่ อาจมีผลทําให้ไม่มีประจําเดือนในช่วง 6 เดือนแรก แต่คน ที่ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่ ประจําเดือนอาจจะมาตามปกติภายใน 6 สัปดาห์หลังคลอด
การมีเพศสัมพันธ์ ควรงดมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อความปลอดภัย และ ป้องกันการติดเชื้อในโพรงมดลูก หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ และควรตรวจร่างกายหลังคลอด 4-6 สัปดาห์ เพื่อตรวจดูการคืนสภาพของปากมดลูก อวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน และตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
อาหาร ต้องคํานึงถึงปริมาณคุณค่า และประโยชน์ของอาหารที่ต้องได้รับอย่างเพียงพอในแต่ละวันคุณแม่ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ําบ่อย ๆ วันละ 6-8 แก้ว และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มคาเฟอีน น้ําหวาน อาหารหวาน และอาหารที่มีไขมัน
การคุมกําเนิด ภายหลังคลอดควรเว้นการมีบุตรอย่างน้อย 2 ปี เพื่อฟื้นฟูสภาพของร่างกายและ อวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน และควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีคุมกําเนิดอย่างเหมาะสม
การพักผ่อน ควรนอนหลับอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง ในเวลากลางวันควรหลับประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ระมัดระวังอย่าหลับขณะให้นมลูก เพราะเต้านมอาจปิดจมูกของลูกจนทําให้หายใจไม่ออกได้
การทํางาน สัปดาห์แรกไม่ควรทํางานหนักหรือยกของหนักๆแต่สามารถทํางานเบาๆได้ เช่น กวาดบ้าน ชักผ้าได้บ้าง และสามารถทํางานตามปกติภายใน 4-6 สัปดาห์หลังคลอด
สุขภาพจิตใจ อาจพบโรคซึมเศร้าในคุณแม่หลังคลอด อาการของโรคที่สําคัญ คือ ซึมเศร้า รู้สึก สิ้นหวัง ท้อแท้ เครียด กังวล เบื่อหน่าย นอนไม่หลับ ขาดสมาธิ มักรู้สึกว่าตนเองผิด มีความคิดหมกมุ่นสับสน ไม่สนใจตนเองและเพศตรงข้าม ดังนั้น คุณแม่ต้องดูแลและป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยการทํา จิตใจให้ผ่อนคลาย และระบายความรู้สึก เมื่ออึดอัดคับข้องใจ และที่สําคัญควรได้รับการเอาใจใส่ดูแลและกําลังใจจาก คนใกล้ชิด เช่น คุณพ่อและญาติ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่มีสภาวะจิตใจที่ดี
อาการผิดปกติ…ที่คุณแม่ต้องกลับมาพบแพทย์โดยเร็ว
1. มีไข้ และมีอาการอักเสบของอวัยวะอื่น ๆ
2. ปัสสาวะแสบขัด อาจเกิดจากการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากดูแลความสะอาดช่องคลอด และอวัยวะสืบพันธุ์ไม่ดีพอ
3. ปวดศีรษะบ่อย และเป็นเวลานาน อาจเกิดจากความดันโลหิตสูง พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเครียดจากการคลอด
4. มีเลือดออกทางช่องคลอด ส่วนมากจะเกิดจากแผลในโพรงมดลูก บริเวณที่รกเกาะ เนื่องจากมดลูกหดรัดตัวไม่ดี หรือมีเศษรกตกค้างในโพรงมดลูก
5. น้ําคาวปลาผิดปกติ สีไม่จางลง จํานวนไม่ลดลง มีก้อนเลือดปน หรือมีกลิ่นเหม็น
6. มดลูกเข้าอู่ซ้า หลังคลอด 2 สัปดาห์ไปแล้ว ยังสามารถคลําพบมดลูกทางหน้าท้อง
7. กรณีผ่าคลอด แผลที่เย็บมีอาการอักเสบ ปวดบวม แดง
“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก วารสารสุขภาพ สำนักอนามัย หน้า 6 -7 เรื่อง “คุณแม่คนใหม่…หลังคลอด”