เป็น ร้อนใน อีกแล้ววว! จะกินอะไรก็ไม่อร่อยทั้งนั้น เพราะมัวแต่เจ็บแผลร้อนใน แถมบางครั้งยังทำให้มี กลิ่นปาก อีกด้วย แล้วกว่าจะหายก็ใช้เวลาเป็นอาทิตย์ ๆ เลยเชียว แถมบางคนก็อาจจะเป็นแล้วเป็นอีก ไม่ยอมหายสักที จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นโรคประจำตัวไปแล้ว มาดูกันสิว่า จริง ๆ แล้ว ร้อนใน เกิดจากอะไรกันแน่ และต้องทำยังไงบ้าง ร้อนใจถึงจะไม่กลับมาทำให้ร้อนใจอีก!
ร้อนใน คืออะไร?
ร้อนใน (Aphthous Ulcers) คือ แผลในช่องปากที่มีขนาดเล็ก และตื้น จะออกเป็นสีขาว อาจเกิดบริเวณส่วนใดของช่องปากก็ได้ เช่น ริมฝีปาก แก้ม ลิ้น เป็นต้น ความเจ็บจะขึ้นอยู่กับขนาดของแผล มักเป็นครั้งแรกในช่วงวัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว ในผู้หญิงจะพบได้บ่อยกว่าผู้ชาย เป็น ๆ หาย ๆ ทำให้รำคาญใจเวลาทานข้าว หรือดื่มน้ำ แต่แผลร้อนใน ไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงใด ๆ
เช็คพฤติกรรมตัวเองดูว่า อาการร้อนในในปาก เกิดจากสาเหตุเหล่านี้หรือไม่!?
อาการของโรคนี้ ยังไม่เป็นที่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน รวมถึงอาจมีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยาภูมิต้านทานของร่างกายด้วย เนื่องจาก 30-40% ของผู้ที่เป็นโรคนี้บ่อย ๆ จะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย ทั้งนี้พฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดแผลในปาก ได้แก่
• ความเครียด ความกังวล ความเหนื่อยล้า อารมณ์โมโหฉุนเฉียว
• พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนน้อย นอนดึก
• การได้รับบาดเจ็บในช่องปาก เช่น เยื่อบุปาก หรือลิ้นถูกกัดในขณะเคี้ยวอาหาร
• การใช้ยาบางชนิด
• การกินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน หรืออาหารที่รสจัดเกินไป
• แพ้อาหารบางอย่าง หรือแพ้สารบางอย่างในยาสีฟัน
• ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
• การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัสบางชนิด
• ร่างกายขาดวิตามิน และเกลือแร่บางชนิด โดยเฉพาะขาดธาตุเหล็ก สังกะสี กรดโฟลิก วิตามินบี
• การมีประจำเดือนของสตรี
• ไม่ได้แปรงฟัน หรือไม่รักษาความสะอาดภายในช่องปาก
อาการของแผลร้อนใน
แรกเริ่มผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บตรงตำแหน่งที่จะเกิดแผลเปื่อย ตามมาด้วยรอยแดงกลม หรือรูปไข่ อีก 2-3 วันต่อมา ขนาดแผลมีตั้งแต่ไม่กี่มิลลิเมตร จนถึงหลายเซนติเมตร อาจมีแผลเดียว หรือมีหลายแผลก็ได้ แผลจะเจ็บมากในช่วง 2-3 วันแรก ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดแสบมากเวลากินอาหารที่มีรสเผ็ดหรือรสเปรี้ยวจัด
แผลร้อนในสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะความรุนแรงของโรค ได้แก่
• แผลร้อนในเล็ก พบได้บ่อย เป็นแผลตื้น แผลมีลักษณะกลม หรือเป็นรูปไข่ มีขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร พื้นแผลจะเป็นสีขาว หรือเหลือง โดยอาจเป็นเพียงแผลเดียวหรือ 2-5 แผลพร้อมกันก็ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดไม่รุนแรง และแผลมักจะหายไปได้เองภายใน 7-14 วัน อาจเป็นซ้ำได้ทุก 1-4 เดือน
• แผลร้อนในใหญ่ พบได้ประมาณ 10-15% ของแผลร้อนในทั้งหมด พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ที่เลยช่วงวัยรุ่นไปแล้ว แผลจะมีลักษณะแบบเดียวกับแผลร้อนในเล็ก แต่แผลจะมีขนาดใหญ่มากกว่า 1 เซนติเมตรขึ้นไป มักเป็นแผลลึก ขอบแผลบวม มีอาการเจ็บปวดรุนแรงกว่า มักหายช้า ใช้เวลานาน 10-40 วัน ถ้าดูแลตนเองแล้วแผลร้อนในไม่ดีขึ้นภายใน 2 อาทิตย์ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อแยกจากแผลอักเสบติดเชื้อหรือแผลมะเร็ง โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
• แผลร้อนในชนิดคล้ายเริม พบได้ประมาณ 5-10% มีความรุนแรงกว่าทั้งสองชนิดที่กล่าวมา และไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเริม มักเกิดในวัยผู้ใหญ่หรือคนที่มีอายุมาก และมักพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในช่วงแรกจะขึ้นเป็นตุ่มใสขนาด 0.1-0.3 มิลลิเมตรหลายตุ่ม แล้วแตกรวมเป็นแผลเดียวขนาดใหญ่
ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดค่อนข้างรุนแรง สามารถหายได้เอง แต่จะใช้เวลานานกว่า 10 วันขึ้นไปจนถึง 2 เดือน ส่วนใหญ่เมื่อเป็นแล้วมักต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ เมื่อได้รับการรักษาแล้ว แผลมักจะหายไปภายใน 1 เดือน
การรักษาแผลร้อนใน
การรักษาแผล ร้อนใน สามารถทำได้หลายวิธี โดยอาจทำหลายวิธีควบคู่กันไป เช่น
• บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ วันละ 2-3 ครั้ง (ผสมเกลือ 1 ช้อนชาในน้ำ 1 แก้ว)
• ใช้น้ำยาบ้วนปาก วันละ 2 ครั้ง เช้า-ก่อนนอน
• ถ้าต้องการให้แผลหายเร็ว ให้ป้ายแผลด้วยยาแก้ร้อนใน วันละ 2-4 ครั้ง จนกว่าแผลจะหาย พร้อมกับทำกิจกรรมทางปากให้น้อยลง เพื่อให้ตัวยาหลุดออกได้ช้า ยาที่ใช้ป้ายแผลในปากมีให้เลือกหลายตัว เช่น ครีมป้ายปากไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ ชนิดขี้ผึ้ง 1%, ฟลูโอซิโนโลน อะเซโทไนด์ 0.1% ชนิดสารละลายหรือชนิดขี้ผึ้ง, คลอร์เฮกซิดีน กลูโคเนต 0.2%-1% ใช้อมบ้วนปาก
• เลี่ยงอาหารเผ็ดร้อน เพราะจะทำให้แผลพุพองมากขึ้นได้
• รีบไปพบแพทย์เมื่อเจ็บแผลมากขึ้น หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น กินอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อย แผลไม่หายภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือมีอาการอื่นๆ เช่น ปวดหัว ไข้หวัด ร่วมด้วย
วิธีป้องกัน อาการร้อนใน
การป้องกันการเกิดแผลร้อนใน ยังไม่สามารถทำได้ 100% ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อาจช่วยลดโอกาสการเกิดแผลร้อนในให้ลดน้อยลงได้ เช่น
• รักษาความสะอาดของช่องปาก และฟัน แปรงฟันอย่างถูกวิธีวันละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย สามารถใช้น้ำยาบ้วนปาก หรือไหมขัดฟัน เพื่อความสะอาดที่ดีกว่าเดิม
• หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดการระคายแผล เช่น อาหารแข็ง อาหารทอด อาหารเผ็ด อาหารเปรี้ยวจัด และอาหารรสจัดอื่น ๆ เครื่องดื่มร้อน ๆ และผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น มะนาว รวมไปถึงเครื่องดื่มรสซ่า
• ดื่มน้ำสะอาด อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
• ค่อย ๆ เคี้ยวอาหาร ไม่รีบกินอาหารมากจนเกินไป เพื่อป้องกันการกัดลิ้นหรือเนื้อเยื่ออื่นๆ ในช่องปาก
• รักษาสุขภาพจิตให้ดี ไม่เครียด หรือเป็นกังวลมากจนเกินไป
• หมั่นสังเกตอาการแพ้ โดยดูจากความสัมพันธ์ของโรคกับอาหาร เครื่องดื่ม ยา และของใช้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับช่องปาก เช่น ชนิดของน้ำยาบ้วนปากและยาสีฟัน หรืออาหารบางชนิด ว่าอะไรที่ใช้หรือกินแล้วมักทำให้เกิดโรคร้อนใน หากเจอก็หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจเป็นต้นเหตุเหล่านั้น
“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี