วัณโรค (Tuberculosis) ในสมัยโบราณเรียกกันว่า ฝีในท้อง (ซึ่งในสมัยก่อน วัณโรค ถือว่าเป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจมาก ถึงขั้นไร้ญาติขาดมิตรเลยทีเดียว) เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรัง ที่เกิดจากเชื้อวัณโรค และสามารถแพร่ให้คนที่อยู่ใกล้ชิดได้อย่างง่ายดาย ในสมัยโบราณ ผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรค มักจะเสียชีวิต แต่ในปัจจุบัน โรคนี้สามารถรักษาจนหายขาดได้ แต่ก็ถือว่า เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อย และมักพบในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ และผู้ที่มีฐานะยากจน หรืออยู่กันอย่างแออัด
สาเหตุของ วัณโรค
เกิดจากการติดเชื้อไมโครแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) ที่มีการเจริญเติบโต หรือแบ่งตัวช้ากว่าแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ มีหลายสายพันธุ์ ที่ก่อให้เกิดวัณโรคได้ แต่สายพันธุ์ที่พบได้บ่อย และก่อปัญหาให้กับมนุษย์มากที่สุดคือ เชื้อ ไมโครแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส หรือ เชื้อเอเอฟบี ซึ่งสามารถแพร่กระจายในอากาศ และติดต่อจากคนสู่คนได้
การติดต่อของเชื้อวัณโรค มักจะติดเชื้อผ่านทางการหายใจ สูดเอาเชื้อในฝอยละอองเสมหะขนาดเล็ก ที่ผู้ป่วยปล่อยออกมา จากการไอ จาม พูด หัวเราะ ร้องเพลง หรือหายใจ เชื้อจะเข้าไปภายในปอด และต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด และอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่น ๆ ได้ทั่วร่างกาย แต่พบที่ปอดได้บ่อยที่สุด และมีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากเชื้อจะสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ โดยการ ไอ และเชื้อจะสามารถอยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมงผู้ที่จะรับเชื้อได้ ในปริมาณที่มากพอจนติดโรคได้ คือผู้ที่ต้องอยู่ใกล้ชิด หรือสัมผัสกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรคเป็นเวลานาน โดยผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ จะสามารถติดเชื้อวัณโรค ได้ง่ายกว่าผู้ที่ร่างกายแข็งแรงมาก
อาการของวัณโรค
เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อวัณโรคแล้ว โดยส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการทันที เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่ป้องกันการจู่โจมของเชื้อในร่างกาย จึงทำให้เชื้อค่อย ๆ พัฒนาอย่างช้า ๆ อาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์ ไปจนถึงหลายปี กว่าอาการของโรค จะเริ่มแสดงอาการออกมาให้เห็น ซึ่งอาการของวัณโรค สามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะใหญ่ ๆ คือ
• วัณโรคระยะแฝง (Latent TB) คือ ระยะที่เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้ว แต่ยังไม่มีอาการแสดงใด ๆ เนื่องจากเชื้อยังไม่ได้รับการกระตุ้น แต่เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย และสามารถก่อให้เกิดอาการป่วย จนเข้าสู่ระยะแสดงอาการได้ โดยผู้ป่วย 90% จะไม่มีอาการแสดง และไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ แต่อีกประมาณ 10% ที่เหลือจะป่วยเป็นวัณโรค
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ครึ่งหนึ่งจะมีอาการของโรค ภายใน 2 ปี และอีกครึ่งหนึ่ง จะเกิดอาการหลังจากติดเชื้อภายใน 10 ปี และหากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยมากกว่าครึ่ง จะเสียชีวิตภายใน 2 ปี
• วัณโรคระยะแสดงอาการ (Active TB) คือ ระยะที่เชื้อวัณโรค ได้รับการกระตุ้นจนแสดงอาการออกมา ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรก ๆ จนถึงหลายปีหลังได้รับเชื้อ โดยส่วนใหญ่แล้ว วัณโรคจะแสดงอาการที่ปอด หรือวัณโรคปอด โดยผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคปอด จะมีอาการแสดงที่สำคัญคือ มีไข้ และ ไอเรื้อรัง นานหลายสัปดาห์ ถึงหลายเดือน
เริ่มแรก ผู้ป่วยจะมีอาการคล้าย ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือหลอดลมอักเสบ โดยที่มีอาการไอเป็นหลัก ระยะแรกจะไอแห้ง ๆ ก่อนจะไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว มักมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ต่ำ ๆ ในช่วงบ่าย อ่อนเพลีย หรือเบื่ออาหารร่วมด้วย และอาจมีอาการเหงื่อออกชุ่มในตอนกลางคืน
ผู้ป่วยจะมีอาการเรื้อรังเนื่อง 2-3 สัปดาห์ ก่อนที่อาการไอจะถี่ขึ้น ความอยากอาหารลดลง และน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทราบสาเหตุ อาจไอออกมาเป็นเลือดได้ แต่มักจะออกมาในปริมาณไม่มาก
ภาวะแทรกซ้อนของวัณโรค
มักเกิดขึ้นจากการรักษาที่ล่าช้า หรือการรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง เมื่อเกิดขึ้น จะมีอาการตั้งแต่ไม่รุนแรง ไปจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ โดยภาวะแทรกซ้อน ที่มักพบในผู้ป่วยวัณโรค ได้แก่
- ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด
- ภาวะมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด
- ถุงลมปอดโป่งพอง
- ฝีในปอด
- ไอออกเป็นเลือดมากจนช็อก
นอกจากนี้ เชื้อวัณโรคอาจกระจายผ่านกระแสเลือด หรือระบบน้ำเหลือง จนทำให้กลายเป็นวัณโรคอวัยวะต่าง ๆ ได้ เช่น วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง วันโรคต่อมน้ำเหลือง วัณโรคกล่องเสียง วัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจ วัณโรคลำไส้ วัณโรคไต วัณโรคกระดูก เป็นต้น
การป้องกันวัณโรค
• ฉีดวัคซีนบีซีจี หรือวัคซีนป้องกันวัณโรค โดยฉีดให้ทารกตั้งแต่แรกเกิดทุกราย จะเกิดภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนประมาณ 4-6 สัปดาห์ และอยู่ไปได้นาน 10-15 ปี สามารถ ป้องกันวัณโรค ได้สูงถึง 60-90%
• รักษาสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช้ยาเสพติด หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเชื้อเอชไอวี และตรวจสุขภาพและเอกซเรย์ปอดทุกปี
• หากมีอาการผิดปกติ ที่สงสัยว่าจะเป็นวัณโรค เช่น ไอเรื้อรัง ไอเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเลือด มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด หอบ เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก เหงื่อออกมากตอนกลางคืน ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย ถ้าพบว่าเป็นวัณโรค จะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆสามารถป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม และแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้• ผู้ที่ป่วยเป็น วัณโรค เมื่อกินยาแล้วอาการดีขึ้น ไม่ควรหยุดยาเอง เพราะการกินยาไม่สม่ำเสมอ หรือกินยาไม่ครบตามที่แพทย์สั่ง อาจทำให้เชื้อดื้อยา ทำให้รักษาให้หายได้ยากกว่าเดิม และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้
• ขณะที่ผู้ที่ป่วยไอ หรือจาม ควรใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชู่ปิดปากทุกครั้ง ควรบ้วนเสมหะลงในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด และถ้าเป็นไปได้ ควรนำเสมหะไปเผาไฟหรือฝังดินเพื่อกำจัดเชื้อวัณโรค
• ถ้าอยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วยวัณโรค ควรดูแลให้ผู้ป่วย ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ในช่วงที่ผู้ป่วยกินยารักษาวัณโรค ได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ หรือยังไม่หายจากอาการไอ ให้หลีกเลี่ยงการนอนในห้องเดียวกับผู้ป่วย ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ก็ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อเสมอ
• สำหรับผู้ปกครองที่ป่วยเป็นวัณโรค ควรแยกออกห่างจากลูก ไม่กอดจูบลูก สำหรับคุณแม่ไม่ควรให้ลูกดูดนมตัวเอง จนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อ
• หากผู้ป่วยมีแผนย้ายที่อยู่ ระหว่างทำการรักษา ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อที่แพทย์จะได้วางแผนการรักษา ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ข้อควรรู้ ! 24 มีนาคม คือวัน “วัณโรคสากล”
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife