ปวดหัว ปวดศีรษะ อาการทั่วไปที่ทุกคนต้องเคยเจอกันบ้าง อาการแสดงในแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป บางคนปวดจี๊ด ๆ แปล้บ ๆ เป็นพัก ๆ บางคนก็ปวดหนัก ปวดตุบ ๆ กันเลยทีเดียว! วันนี้ GedGoodLife จะขอพูดถึง อาการปวดหัวข้างขวา ที่หลายคนเป็นกัน ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร และควรรักษายังไงดี มาติดตามกันเลย!
- ปวดหัวหลังตื่นนอน มีสาเหตุจากอะไร และวิธีป้องกันอย่างได้ผล!
- เมื่อมีอาการ ปวดหัวไมเกรน คลื่นไส้ อาเจียน ควรทำอย่างไรดี?
- ก้มตัวแล้ว ปวดศีรษะ เวียนหัว เหมือนบ้านหมุน เกิดจากอะไร?!
อาการปวดหัวข้างขวา เกิดจากอะไร?
อาการปวดหัวข้างขวา อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้
ไลฟ์สไตล์ / การใช้ชีวิตประจำวัน (Lifestyle)
- เครียดจากการทำงาน เรื่องส่วนตัว
- ความเหนื่อยล้า
- นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
- นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
- การอดอาหาร / ข้ามมื้ออาหาร / กินอาหารไม่เป็นเวลา
- กล้ามเนื้อบริเวณคอมีปัญหา
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
การติดเชื้อ และ ภูมิแพ้ต่าง ๆ (Infections and allergies)
- ไซนัสอักเสบ และ ภูมิแพ้ต่าง ๆ ก็เป็นต้นเหตุของอาการ ปวดหัวข้างขวา ได้เช่นกัน
- ปวดศีรษะ ปวดขมับ ปวดแก้ม ปวดท้ายทอย หนักหัว คืออาการปวดหัวจากไซนัสอักเสบ
การใช้ยาเกินกำหนด (Medication overuse)
การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดหัวเกินคำแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกร สามารถเป็นเหตุให้เกิดอาการปวดหัวได้เช่นกัน
อาการทางระบบประสาท และสมอง (Neurological causes)
เช่น ปวดหัวจากปลายเส้นประสาทอักเสบ ปวดจากอาการในสมอง เลือดออกในสมอง หลอดเลือดดำในสมองอุดตัน เป็นต้น
สาเหตุอื่น ๆ (Other causes)
นอกจากปัญหาที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีปัญหาอื่น ๆ ที่อาจทำให้ปวดศีรษะข้างเดียวได้ เช่น
- การบาดเจ็บ
- การอุดตัน และโป่งพองของหลอดเลือด
- เนื้องอกชนิดต่าง ๆ
จะเห็นได้ว่าอาการ ปวดหัวข้างขวา หรือ ปวดหัวข้างเดียวนั้น มีอยู่หลายสาเหตุ ผู้ป่วยจึงควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยว่าอาการ ปวดหัวข้างขวา เกิดจากอะไร และรักษาอย่างถูกวิธี
อาการปวดหัว 3 ประเภท ที่นำไปสู่ อาการปวดหัวข้างขวา
รู้หรือไม่… อาการปวดหัวนั้นมีอยู่หลายประเภทเลยทีเดียว แต่จะมีอยู่ 3 ประเภทที่มักทำให้ผู้ป่วยเกิด อาการปวดหัวข้างขวา ได้แก่
1. ไมเกรน (Migraine headache)
ไมเกรนพบได้ประมาณร้อยละ 10-20 ของคนทั่วไป เริ่มเป็นครั้งแรกตั้งแต่วัยรุ่น และมีโอกาสกำเริบเป็นครั้งคราวไปจนหลังอายุ 55 ปี ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย 8 ต่อ 1 อาการปวดเฉลี่ย 1 ถึง 2 ครั้งต่อเดือน ระยะที่เป็นจะอยู่ประมาณหลายชั่วโมง แต่ไม่เกิน 1 ถึง 2 วัน
การปวดจะเป็นไปในลักษณะปวดหัวจี๊ด ๆ ตุบ ๆ ตามชีพจร ตลอดเวลา และมีอาการอื่นร่วมด้วยไม่ว่าจะเป็น อาการคลื่นไส้อาเจียน หรือหากมีอาการหนักมากอาจจะมีอาการผิดปกติ อาทิ มองเห็นแสงจ้า, วูบวาบ, พร่ามัว การมองเห็นไม่ชัด, ไวต่อการรับเสียง, หน้ามืด หรือเป็นลมวูบได้ ในที่สุด
* ผู้ป่วยที่มี อาการปวดหัวข้างขวา หรือปวดหัวข้างเดียว มักจะคิดไปเองว่าตัวเองต้องเป็นไมเกรนแน่ ๆ แต่ในความจริงแล้ว อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน ฉะนั้น จึงควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
2. ปวดศีรษะจากความเครียด (Tension headaches)
เป็นอาการปวดศีรษะที่พบบ่อยที่สุด เกิดขึ้นได้ 75% ในผู้ใหญ่ การปวดศีรษะชนิดนี้อาจพบร่วมกับการปวดศีรษะไมเกรนได้ พบบ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อาการปวดจะพบได้ขณะที่คร่ำเคร่งงานมาก ขณะหิวข้าว มีเรื่องให้คิด วิตกกังวลเยอะ ซึมเศร้า หรือนอนไม่หลับ และถึงแม้จะพบว่าอาการปวดเกิดขึ้นได้ทั้ง 2 ข้าง แต่ก็สามารถเกิดได้ข้างเดียวเช่นกัน
ลักษณะเฉพาะของโรคนี้คือ ผู้ป่วยจะมีอาการ ปวดตื้อ ๆ หนัก ๆ ที่ขมับ หน้าผาก กลางศีรษะ หรือท้ายทอยทั้ง 2 ข้าง หรือทั่วศีรษะ หรือปวดรอบศีรษะคล้ายเข็มขัดรัด ต่อเนื่องกันนานครั้งละ 30 นาทีถึง 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะไม่มีไข้ ไม่เป็นหวัด ไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือตาพร่าตาลาย
3. ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache)
การปวดศีรษะชนิดนี้พบได้น้อย มีประมาณร้อยละ 1 ของประชากร พบได้ทุกช่วงอายุ พบในชายมากกว่าหญิง อายุสูงสุดที่มีอาการคือ อายุ 40 ปี และ 60 ปี ทั้งในเพศชาย และเพศหญิง
ลักษณะของอาการ คือ มีอาการปวดศีรษะข้างเดียวอย่างรุนแรงแบบเป็นระลอก หรือเป็นชุด มีลักษณะการปวดตุบ ๆ บริเวณขมับ รอบตา หรือกระบอกตาข้างใดข้างหนึ่ง ปวดนานประมาณ 15 -180 นาที ถ้าไม่ได้ให้การรักษา อาการปวดเป็นขึ้นทันทีไม่มีอาการเตือน และมักปวดในช่วงเวลาเดิม ซึงมักปวดช่วงเช้าตรู่ และช่วงเริ่มต้นของเวลาบ่าย
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวเป็นประจำทุกวัน ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัย และรักษาได้อย่างทันท่วงที ก่อนจะเป็นโรคร้ายแรง หรือเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที
- การมองเห็นเปลี่ยนไป มองไม่ชัด เบลอ
- มีอาการสับสน
- มีไข้สูงร่วมด้วย
- มีอาการบาดเจ็บทางศีรษะ
- มีความรู้สึกเจ็บเมื่อขยับตัว
- คอแข็ง และมีอาการชา
- มีผื่นคัน
- พัฒนาการทางสมองช้าลง
- ความผิดปกติด้านการนอน
- พูดไม่ชัดลิ้นแข็ง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
9 ทิปส์ดีดี แก้อาการปวดหัวได้ด้วยตัวเอง
1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และงีบหลับในระหว่างวันบ้าง
2. ผู้ที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นประจำ ควรลุกเดินรีแล็กซ์ พักสายตาบ้าง
3. ลดความเครียด อาจด้วยวิธีดูรายการตลก หรือหากิจกรรมคลายเครียดทำ
4. เอาผ้าเย็นเช็ดรอบ ๆ ศีรษะ และคอ บีบนวดขมับ และกล้ามเนื้อคอให้ คลายเกร็ง
5. งด ละ เลิก อาหารที่ผสมผงชูรส และเครื่องดื่มคาเฟอีน, แอลกอฮอล์
6. ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอวันละ 8 แก้ว/วัน
7. ไม่รวบผมตึงจนเกินไป
8. อาจไปรับบริการนวด คอ บ่า ไหล่ โดยหมอนวดแผนโบราณที่มีประสบการณ์
9. รับประทานยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (ควรพบแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา)
Ask Expert : ถาม-ตอบ คำถามสุขภาพจากทางบ้าน
อาการปวดหัว เป็นอาการที่ผู้ป่วยสอบถามเข้ามามากในบอร์ด Ask Expert : ถาม-ตอบ ปัญหาสุขภาพ แต่ละคนก็จะมีอาการแตกต่างกันออกไป ใครที่มีอาการปวดหัวเช่นกัน สามารถเข้ามาปรึกษากับแพทย์ประจำบอร์ด Ask Expert ได้เลย! —> ถามเลยที่นี่ คลิก
คำถามที่ 1 : มีอาการปวดหัวจี๊ดๆ เป็นระยะๆ บริเวณศรีษะด้านขวา อันตรายไหมครับ ?
ผมมีอาการปวดหัวจี๊ดๆ บริเวณซีกขวา อาการปวดจะมาเป็นระยะๆ แต่ไม่ปวดนานครับ การปวดจะเป็นแบบเจ็บจี๊ดๆ แป๊บเดียวแล้วก็หายไป อีกสักพักก็จะเป็นอีก ไม่แน่ใจว่าเป็นอันตรายหรือไม่ หรือเกิดจากสาเหตุใดครับ
ไม่มีโรคประจำตัวครับ เคยมีวัดความดันค่อนไปทางสูงแต่ไม่ทุกครั้งครับ
ตอบ : คนไข้ต้องลองสังเกตตัวเองดูค่ะว่าจะเป็นตอนไหน และเป็นถี่ขนาดไหน เพราะอาการปวดหัวลักษณะนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การทำงานมาก ๆ แล้วเกิดอาการออฟฟิศซินโดรม ความเครียด หรือ อาจจะเป็นลักษณะของเส้นประสาทก็ได้ ลองสังเกตตัวเองก่อนค่ะ แล้วลองเข้าไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกาย และ วินิจฉันอย่างละเอียดอีกครั้งค่ะ
คำถามที่ 2 : ปวดหัวตอนตื่นนอน บางครั้งต้องตื่นมากลางดึก
หนูชอบปวดหัวตอนตื่นนอนค่ะบางครั้งปวดจนต้องตื่นมากลางดึกก็มี จะปวดช่วงท้ายทอยกับกระหม่อมค่ะ ส่วนมากจะปวดอย่างเดียว แต่จะมี 2 ใน 10 ครั้งที่จะมีอาการคลื่นไส้ เวียนหัว เหมือนจะอาเจียนร่วมด้วย ตอนปวดถ้าได้นวดหัวนวดไหล่หรือลุกขึ้นมานั่งสักพัก อาการมันจะดีขึ้นค่ะดี จนบางครั้งแทบรู้สึกเหมือนไม่เคยปวดหัวมาก่อนหน้านี้เลย
เวลาปวดอย่าง 2 วันนี้ตื่นมาปวดหัว หายไปสัก 5-6 วันที่ตื่นมาปกติไม่ปวดไม่เวียน พอวันที่ 7 ดันกลับมาปวดอีก 10 วัน คือไม่ได้ปวดทุกวัน แต่พอปวดก็จะปวดไปอีกหลายวันคะ
ตอนนี้หนูน้ำหนัก 110 แล้วคะ อายุ 25 ปี เคยกินยาน้ำในหูไม่เท่ากัน อย่างนี้หนูเป็นอะไรร้ายแรงไหมค่ะ รบกวนด้วยนะคะ… ขอบคุณคะ
ตอบ : ปวดศีรษะมากสัมพันธ์กับความเครียด และพักผ่อนไม่พอนะครับ อนึ่งการไปออกกำลังกายก็จะทำให้น้ำหนักดีขึ้น และสุขภาพโดยรวมดีขึ้นครับ
คำถามที่ 3 : รู้สึกปวดหัว และหนัก ๆ หัว
รู้สึกปวดหัว และหนัก ๆ หัว เวียนหัว ร่างกายอ่อนเพลีย ตัวร้อน ไม่มีอาการน้ำมูกไหล หรือว่าไอ
วันที่1 : ปวดหัว และหนักหัว นอนทั้งวันลุกไม่ไหว รู้สึกตัวร้อน ปวดตา พอกินยาช่วงเย็นก็รู้สึกดีขึ้นแต่ไม่มาก
วันที่2 : อาการดีขึ้นแต่ก็ยังมีอาการปวดหัว และหนักหัวอยู่ ไม่มาก อาการปวดตาก็ยังมีอยู่บ้าง
อยากรู้ว่าเป็นอะไรคับ หรือแค่พักผ่อนไม่เพียงพอหรือเป็นเพราะอากาศคับ ตอนนี้อากาศเปลี่ยนด้วย รบกวนด้วยนะคับ
ตอบ : อาการปวดหัว ตัวร้อน หรืออาการไข้ ในเบื้องต้นสามารถใช้ยาแก้ปวด ลดไข้ เพื่อบรรเทาอาการได้นะคะ ร่วมกับการนอนหลับ พักผ่อนมากๆ ลดภาวะเครียด ผ่อนคลายมากขึ้น ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ค่ะ โดยอาการปวดหัว ปวดตา อาจจะเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอหรือเกิดจากภาวะเครียด กังวลมากเกินไป ก็เป็นได้เช่นเดียวกันค่ะ
คำถามที่ 4 : ปวดหัวติดต่อกันหลายวันกินยาไม่หาย
ปวดหัวติดต่อกันหลายวันแล้วค่ะ กินยาก็ไม่หาย อยากทราบว่าอาการมันจะรุนแรงขึ้นมั้ยคะ?
ตอบ : อาการปวดหัวจะมีหลายประเภท และสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ หรือมักเกิดจากความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอค่ะ ซึ่งหากมีเพียงอาการปวดหัวโดยไม่มีอาการอื่นร่วม และมีการรับประทานยาบรรเทาอาการปวดเบื้องต้นแล้ว ยังมีการอยู่เป็นระยะเวลานาน และไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และสอบถามอาการเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด และรักษาจากสาเหตุค่ะ
คำถามที่ 5 : ปวดหัวติดต่อกันหลายวันกินยาไม่หาย
ปวดหัวติดต่อกันหลายวันแล้วค่ะ กินยาก็ไม่หาย อยากทราบว่าอาการมันจะรุนแรงขึ้นมั้ยคะ?
ตอบ : อาการปวดหัวจะมีหลายประเภท และสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ หรือมักเกิดจากความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอค่ะ ซึ่งหากมีเพียงอาการปวดหัวโดยไม่มีอาการอื่นร่วม และมีการรับประทานยาบรรเทาอาการปวดเบื้องต้นแล้ว ยังมีการอยู่เป็นระยะเวลานาน และไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และสอบถามอาการเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด และรักษาจากสาเหตุค่ะ
ลิงก์อ้างอิงบทความ :
1. healthline 2. medicalnewstoday 3. theworldmedicalcenter 4. mukinter 5. neurosci.kku.ac.th