โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease) อีกหนึ่งโรคฮิตของเด็กในหน้าฝน เป็นโรคที่กุมารแพทย์ และแพทย์ทั่วไปพบอยู่เสมอ แถมยังมีข่าวการระบาดอยู่เรื่อย ๆ อีกต่างหาก พ่อแม่ผู้ปกครอง จึงควรมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ รวมถึงเกี่ยวกับการป้องกัน และการดูแลรักษา เพื่อให้ลูกหลานในบ้านของคุณปลอดภัย
*นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 พฤษภาคม 2561 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปากแล้ว 11,326 คน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยพบมากที่กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี 9,678 คนหรือร้อยละ 85
ภัยจาก โรคมือเท้าปาก
พบได้ตลอดปีในพื้นที่แถบร้อนชื้น มักเป็นในเด็กเล็ก ที่อายุน้อยกว่า 5 ปี แต่ก็พบในเด็กที่อายุมากกว่านี้เช่นกัน สิ่งสำคัญคือ หากมีการเกิดโรค ในสถานเลี้ยงเด็ก หรือในโรงเรียนอนุบาล ก็จะทำให้เด็กป่วยเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นโรคที่ระบาดได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อมีการควบคุมป้องกันโรค ที่ไม่เข้มแข็งพอ
โรคมือเท้าปากเกิดจากอะไร?
เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส มีหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง กรณีที่มีสมองอักเสบร่วมด้วย มักเกิดจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 มีอาการรุนแรง และเสียชีวิตได้
การติดต่อของโรคมือเท้าปาก
เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะมีระยะฟักตัวราว 3 – 6 วัน ก่อนแสดงอาการ โดยโรคมือเท้าปาก สามารถติดต่อแพร่เชื้อได้ 2 ทาง ได้แก่
1. การกินอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระ หรือน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย
2. การหายใจเอาเชื้อไวรัส ที่กระจายอยู่ มาจากผู้ป่วย
อาการของโรคมือเท้าปาก
โดยปกติแล้ว เด็กที่ป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก มักมีอาการแสดงน้อย มีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้ และมีตุ่มน้ำ หรือตุ่มแดง ที่มีการอักเสบกระจายทั่วไปบริเวณริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก ลิ้น ด้านหลังคอหอย กระพุ้งแก้ม หรืออาจมีแผลตื้น ๆ บนเยื่อบุปากที่อักเสบ มักกินอาหาร และนม ได้น้อยลง เด็กเล็ก ๆ จะมีน้ำลายยืด มากกว่าปกติ เพราะเจ็บปาก กลืนไม่ได้
นอกจากนี้ มักพบผื่น หรือตุ่มน้ำบริเวณมือ และเท้า ซึ่งตุ่มเหล่านี้จะเจ็บ ตุ่มน้ำนี้มักพบบริเวณฝ่ามือ หรือฝ่าเท้า มีขนาดราว 3 – 7 มิลลิเมตร มักมีรูปทรงรี เหมือนลูกรักบี้ อาจพบตุ่มน้ำบริเวณหลังเท้า หรือบริเวณก้นได้ ตุ่มน้ำเหล่านี้ จะหายไปภายใน 7 – 10 วัน
ผู้ปกครองควรพาเด็กที่ป่วย ไปพบแพทย์ เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้
• มีไข้สูง ซึ่งต้องหาสาเหตุของไข้ เพื่อได้รับการรักษา และได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมถูกต้อง
• เด็กมีอาการซึมลง ไม่เล่น หรือไม่อยากกินอาหาร หรือนม
• อาจบ่นว่าปวดศีรษะ ปวดแบบทนไม่ไหว
• พูดเพ้อไม่รู้เรื่อง สลับกับมีอาการซึมลง หรือเห็นภาพแปลก ๆ
• ปวดต้นคอ คอแข็ง มีการรับรู้สับสน ซึมลง และอาเจียน
• เกิดอาการสะดุ้งผวา ตัวสั่น แขนหรือมือสั่น
• หงุดหงิด ไม่สุขสบาย เหนื่อย หายใจเร็ว
• ไอ หายใจเร็ว ดูเหนื่อย หน้าซีด มีเสมหะมาก
• เขียวคล้ำที่ลำตัว มือ เท้า หรือชัก ซึ่งนี่เป็นอาการแสดงว่า มีอาการหนักมาก
• ปกติแล้ว โรคมือเท้าปากมักมีอาการไม่รุนแรง และไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส71 อาจทำให้อาการรุนแรงได้ จึงควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด
หากพบว่ามีไข้สูง ซึม ไม่ยอมกินอาหารหรือนํ้าดื่ม อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือนํ้าท่วมปอด ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
การรักษาโรคมือเท้าปาก
โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ส่วนมากอาการจะไม่รุนแรง แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้หวัด หรือยาทาแก้ปวด ในรายมีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม
การดูแลเด็กที่ป่วยเป็น โรคมือเท้าปาก
เด็กที่เป็นโรคมือเท้าปาก จะเจ็บปากมาก ทำให้กินอะไรไม่ค่อยได้ คุณพ่อคุณแม่อาจให้เด็กกินน้ำเย็น นมแช่เย็น นมแช่แข็ง หรือไอศกรีม ความเย็นจะทำให้ชา และไม่เจ็บ ทำให้เด็กกินได้ ในการให้กินของเย็นนี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะ มีไข้ เพราะแม้ไม่กินของเย็น ลูกก็ไข้ขึ้นอยู่แล้ว ควรหมั่นเช็ดตัวลดไข้ และให้กินยา รักษาไข้หวัด เพื่อ แก้ไข้หวัด
โรคนี้ ใช้เวลานานไหมกว่าจะหาย?
เด็กจะมีอาการไข้ หลังติดเชื้อ 3 – 7 วัน และอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย หลังจากนั้น 1-2 วัน ลูกจะมีน้ำมูก ร่วมกับอาการ เจ็บปาก เจ็บคอ และอาจไม่ยอมดูดนมแม่ อาการไข้มักเป็นอยู่ 3-4 วัน อาการก็จะดีขึ้น ส่วนแผลในปากมักจะหายได้เองภายใน 7 วัน ส่วนตุ่มน้ำที่มือ และเท้า จะหายได้เองภายใน 10 วัน
การป้องกัน โรคมือเท้าปาก
1. โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สามารถป้องกันได้ โดยการรักษาสุขอนามัย ผู้ปกครองควรให้บุตรหลาน และผู้เลี้ยงดูเด็ก ล้างมือให้สะอาดด้วยนํ้าและสบู่ (ก่อนและหลังเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร ภายหลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม หลังการดูแลเด็กป่วย) ตัดเล็บ ให้สั้น
2. ไม่พาบุตรหลานเข้าไปในที่แออัด โดยเฉพาะเมื่อมีการระบาดของโรค
3. หากบุตรหลานมีอาการของโรค ควรให้พักผ่อนอยู่ที่บ้าน ไม่ควรพาไปสถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียน หรือในที่ชุมชน เพราะจะเป็นการแพร่โรคนี้ไปให้เด็กอื่น
4. สถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนอนุบาล ควรมีการสอบถามประวัติอาการเด็ก เกี่ยวกับเรื่องไข้ และตุ่มน้ำที่ปาก มือ และเท้า ในช่วงที่มีการระบาดของโรค ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน หากสงสัยว่าเด็กติดโรค ควรผู้ปกครองพาเด็กกลับบ้าน และไปพบแพทย์ ห้ามนำเด็กเข้าไปในสถานเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียน
5. ให้ความรู้แก่ครู พี่เลี้ยง และพ่อแม่ผู้ปกครอง เกี่ยวกับ โรคมือเท้าปาก และการป้องกันโรค
6. หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน และใช้ช้อนกลาง แยกของใช้ของเด็กแต่ละคน ไม่ใช้ปะปนกัน เพราะของเล่นต่าง ๆ อาจปนเปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรือสิ่งขับถ่ายของเด็กได้
7. หมั่นทำความสะอาดของใช้ และของเล่นของเด็ก ด้วยสบู่หรือผงซักฟอก ล้างน้ำให้สะอาด และนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
8. ทำความสะอาดพื้นเพื่อฆ่าเชื้อโรค ควรทำความสะอาดด้วยสบู่ หรือผงซักฟอกปกติก่อน แล้วตามด้วยน้ำยาฟอกขาวคลอรอกซ์ หรือไฮเตอร์ เททิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วเช็ดออกด้วยน้ำสะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง
9. หากพบเด็กในห้องเรียนเดียวกัน เป็นโรคมือเท้าปากตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ต้องปิดห้องเรียน หรือโรงเรียน เป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน
10. หยุดใช้เครื่องปรับอากาศ แล้วเปิดม่าน ให้แสงแดดส่องให้ทั่วถึง
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife