ณ ขณะนี้ มีหลายประเทศรายงานว่า พบ โควิด-19 กลายพันธุ์ ซึ่งติดต่อกันได้ง่ายกว่าเดิม! กระจายรวดเร็วกว่าเดิม! การกลายพันธุ์ของไวรัสร้ายนี้ จะน่ากลัวแค่ไหน วัคซีนเอาอยู่หรือไม่ มาค้นหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันเลย!
โควิด-19 กลายพันธุ์ : ต้นกำเนิด และสาเหตุการกลายพันธุ์
โควิด-19 ที่กลายพันธุ์ชนิดใหม่ มีชื่อว่า VUI-202012/01 หรือ “B.1.1.7” เกิดขึ้นใน ลอนดอน ประเทศอังกฤษ พบครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2563 และอีกสามเดือนถัดมา ลอนดอนก็กลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ โดยนายกรัฐมนตรีประเทศอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ระบุว่าเชื้อชนิดนี้อาจสามารถแพร่สู่กันได้ง่ายขึ้นถึง 70%
ส่วนสาเหตุการกลายพันธุ์คาดว่า เกิดจากคนไข้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ จึงทำให้ร่างกายของคนไข้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์นั่นเอง
นอกจากในอังกฤษที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 พันธุ์กลายนี้นับพันรายแล้ว ปัจจุบัน หลายสิบประเทศก็พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 พันธุ์กลาย B.1.1.7 แล้วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรเลีย อิตาลี ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ สวีเดน เยอรมนี แคนาดา เลบานอน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และในประเทศไทย (ในอนาคตอาจมีประเทศอื่น ๆ อีกด้วย)
เกร็ดความรู้ : COVID-19 ย่อมาจาก CO แทน Corona, VI แทน Virus, D แทน Disease และ 19 แทน 2019 องค์การอนามัยโลกตั้งชื่อแบบนี้เพื่อมิให้เกิด “รอยมลทิน” กับประเทศ พื้นที่ ผู้ป่วย ประชาชน และสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับจุดกำเนิด และการระบาดของโรคนี้
โควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษที่กลายพันธุ์ พบในประเทศไทยแล้ว!
ข้อมูลจาก นพ.ยง ภู่วรวรรณ ได้กล่าวไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 ว่า
” ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ได้ถอดรหัสสายพันธุ์ พบเป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือที่เรียกว่า “สายพันธุ์อังกฤษที่กลายพันธุ์ B.1.1.7” ได้ในประเทศไทย เป็นครอบครัวชาวอังกฤษ 4 คน พ่อ แม่ ลูก 2 คน ติดเชื้อทั้ง 4 คน โดยที่แม่ และลูกเป็นก่อน พ่อเป็นทีหลัง มาจากเมือง Kent ประเทศอังกฤษ และอยู่ใน ASQ (Alternative State Quarantine) โรงพยาบาลเอกชน และเราควบคุมอย่างดีไม่ให้แพร่กระจายออกไป
การถอดรหัสพันธุกรรมทำให้ทราบว่าสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ของอังกฤษกลายพันธุ์ ที่ทั่วโลกเฝ้าระวังกันมาก และมีการระงับเที่ยวบินจากอังกฤษ ได้ทำการถอดรหัสพันธุกรรม 2 ราย มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งเกาะจับตัวรับของเซลล์มนุษย์ (N501Y) การกลายพันธุ์ที่จุดตัดของสไปค์โปรตีน (P681H) ตำแหน่งอื่น ๆ ที่ขาดหายไป (Spike 69-70 Deletion) และตำแหน่งอื่น ๆ อีกดังในรูป
สายพันธุ์นี้ทำให้การแพร่ระบาดได้ง่าย และกระจายอย่างรวดเร็ว ในครอบครัวนี้ก็ติดหมดทั้ง 4 คน อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทย สายพันธุ์นี้ไม่ได้ทำให้โรครุนแรงขึ้น และไม่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของวัคซีน ขอให้สบายใจได้
ผู้ป่วยทั้ง 4 รายนี้อยู่ในความควบคุม และระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้เชื้อหลุดรอดออกมาได้ ผู้ป่วยยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาลในห้องความดันลบ และต้องมั่นใจว่าไม่มีเชื้อแล้ว จึงจะออกมา ดังนั้นโอกาสที่จะแพร่ขยายในประเทศไทยจึงไม่มี”
อ้างอิง : facebook.com/นพยง-ภู่วรวรรณ
โควิด-19 กลายพันธุ์ อันตรายมากขึ้นหรือไม่?
ยังไม่มีหลักฐานว่า โควิด-19 กลายพันธุ์ มีความอันตรายต่อมนุษย์มากขึ้น แต่ต้องมีการติดตาม และศึกษาอย่างใกล้ชิดต่อไป อย่างไรก็ตาม เชื้อกลายพันธุ์นี้สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น ทำให้คนติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
คริส วิตตี (Chris Whitty) หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของอังกฤษ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในลอนดอนกว่า 60% ติดเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์นี้ (VUI-202012/01 หรือ B.1.1.7) และเชื่อว่า มันมีศักยภาพในการแพร่เชื้อมากกว่าพันธุ์เดิมถึง 70%
สาเหตุที่ทำให้การกลายพันธุ์ครั้งนี้ได้รับความสนใจ เนื่องจาก COVID-19 ชนิด B.1.1.7 กลายพันธุ์ถึง 17 ตำแหน่ง ทั้งที่ในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมา การศึกษาพบว่าไวรัสจะกลายพันธุ์เดือนละประมาณ 1-2 ตำแหน่งเท่านั้น หนึ่งในจุดที่พบการกลายพันธุ์คือ โปรตีนส่วนหนามของไวรัส ที่ทำให้เชื้อไวรัสจับกับเซลล์ของมนุษย์ได้ดีขึ้น
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป European Centre for Disease Prevention and Control (ECDC) ระบุในวันอังคาร (29 ธ.ค.) ว่ามีความเสี่ยงสูงที่การค้นพบเชื้อกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 จะก่อความตึงเครียดเพิ่มเติมแก่ระบบสาธารณสุข และทำให้มีคนเสียชีวิตมากขึ้น เนื่องจากเชื้อแพร่กระจายได้ง่ายกว่าเดิม
ผวาทั้งโลก! บราซิลพบผู้ติดโควิดซ้ำด้วยเชื้อกลายพันธุ์ รายแรกของโลก
นอกจากเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์อย่าง B.1.1.7 ที่พบในอังกฤษ ยังมีเชื้อไวรัสฯ กลายพันธุ์อีกตัวหนึ่ง ที่สร้างความตื่นตระหนกแก่ชาวโลก คือ สายพันธุ์ “อี484เค (E484K)” ซึ่งมีต้นกำเนิดในแอฟริกาใต้
โดยมีรายงานข่าวจาก สำนักข่าวทางการบราซิล รายงานกรณี หญิงชาวบราซิลกลายเป็น “คนแรกของโลก” ที่กลับมาติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ “อี484เค” (E484K) ซ้ำอีกครั้ง
คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยและศึกษาดอร์ (IDOR) ในรัฐบาเอีย ประเทศบราซิล ตรวจพบหญิงวัย 45 ปี ผู้มีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวกครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม และมีผลตรวจโรคเป็นบวกอีกครั้งจากการติดเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ในเดือนตุลาคม
โดยผู้ป่วยหญิงรายดังกล่าวไม่มีอาการเจ็บป่วยร้ายแรงในการติดเชื้อทั้งสองครั้ง คณะนักวิจัยของสถาบันฯ แสดงความกังวลเกี่ยวกับการค้นพบครั้งนี้ เนื่องจากการกลายพันธุ์อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ขัดขวางการทำงานของแอนติบอดีในการรักษาผู้ป่วย โดยปัจจุบันบราซิลตรวจเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์อย่างน้อย 5 สายพันธุ์แล้ว
วัคซีนจะยังใช้ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่หรือไม่ ?
ตอบ : ใช้ได้อย่างแน่นอน หรืออย่างน้อยก็ยังใช้ได้ในตอนนี้
อย่างไรก็ตาม… ศ. ราวี คุปตา (Ravi Gupta) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Professor of Clinical Microbiology at the Cambridge) กล่าวว่า…
“ถ้าเราปล่อยให้โควิด-19 กลายพันธุ์มากขึ้น นั่นอาจเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะไวรัสตัวนี้อาจกำลังอยู่บนเส้นทางที่จะหลบหนีวัคซีนโควิด-19 (vaccine escape)”
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ได้กล่าวว่า…
“สิ่งที่ผมกังวลคือ ถ้าประเทศไทยได้รับวัคซีนช้ากว่าประเทศอื่น หากไวรัสโควิดกลายพันธุ์ไปแล้ว ถ้าเรายังใช้วัคซีนตัวเดิม ภูมิคุ้มกันที่เราสร้างขึ้น จะจัดการกับสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไปได้ไม่เต็มที่
หากการใช้วัคซีนในคนอเมริกันได้ผล 90 % เมื่อเอามาฉีดให้คนไทย ผลที่ได้อาจเหลือ 50-60 เปอร์เซ็นต์ยังป้องกันไวรัสได้ เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดทุกปี แต่คาดหวังไม่ได้ว่าฉีดวัคซีนแล้วทุกคนจะไม่ติดโควิดเลย เป็นความคาดหวังที่สูงไป”
คนไทยจะได้ฉีดวัคซีน Covid-19 เมื่อไหร่?
เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า ครม. มีมติจัดซื้อ-ฉีดวัคซีนโควิด สำหรับประชาชนจาก 3 บริษัท สามารถฉีดให้คนไทยได้ประมาณ 33 ล้านคน หรือคนไทยครึ่งประเทศ โดยมีดูไทม์ไลน์การทำงาน คือ
• เดือนกุมภาพันธ์ 200,000 โดส
ฉีดให้แก่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า (รวม อสม.) และเจ้าหน้าที่ทำงานภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น จ.สมุทรสาคร จ.ระยอง จ.ชลบุรี จำนวน 20,000 คน
ฉีดให้แก่กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ จำนวน 180,000 คน คาดว่าจะเริ่มฉีดกลุ่มแรกในปลายเดือนมีนาคม
• เดือนมีนาคม 800,000 โดส
ฉีดเข็มที่ 2 ให้แก่บุคคลที่ได้รับวัคซีนนำเข้ามาในกลุ่มเดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 200,000 โดส
ฉีดให้แก่บุคคลกลุ่มจังหวัดควบคุมสูงสุด ชายแดนภาคตะวันตก และภาคใต้ เป็นบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้า (รวม อสม.) จำนวน 60,000 คน
ฉีดให้แก่บุคคลในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ จำนวน 540,000 คน
• เดือนเมษายน 1,000,000 โดส
ฉีดเข็มที่ 2 ให้แก่บุคคลที่ได้รับวัคซีนนำเข้ามาในกลุ่มเดือนมีนาคม จำนวน 600,000 คน
ฉีดให้สำหรับกรณีที่มีการระบาด จำนวน 400,000 โดส
ข้อมูลจาก : thairath.co.th
ปกป้องตนเอง การ์ดอย่าตก ห่างไกลโควิด-19
เราทุกคน ควรรับผิดชอบต่อสังคม และป้องกันตนเองจากโควิด-19 อย่างเข้มงวด ด้วยการ
- สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน
- หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
- อย่าใช้มือจับที่ใบหน้า เช่น ตา จมูก ปาก ถ้ามือไม่สะอาด
- ไม่ควรไปในสถานที่แออัด
- หมั่นออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
และเมื่อเราต่างร่วมมือกันปกป้องตนเองอย่างเคร่งครัด ไวรัสก็จะไม่กลายพันธุ์ไปมากกว่านี้ วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก็จะมีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสได้เป็นอย่างดีนั่นเอง
อ้างอิง : 1. bbc.com 1 / 2 2. reuters.com 1 / 2 3. khaosod.co.th 4. bangkokbiznews.com 1 / 2
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife