แอสไพริน (aspirin) ชื่อยาที่คุ้นหูกันดีว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน รักษาได้หลายโรคเลยทีเดียว แต่รู้หรือไม่ว่า ยาตัวนี้ถึงแม้จะมีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์เช่นกัน ถ้าใช้รักษาโรคผิด ๆ !! งั้นเรามาดู สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง และค้นหาคำตอบกันว่าจะรักษาโรคโควิด-19 ได้หรือไม่!? มาติดตามกันเลย!
แอสไพริน คือยาอะไร?
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย. – FDA Thai) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาแอสไพริน ไว้ดังนี้
แอสไพริน คือสารสังเคราะห์ที่ชื่อว่า อะซีติลซาลิไซลิค (Acetylsalicylic acid) เป็นยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ (non-steroidal antiinflammatory drugs หรือ NSAIDs – เอนเสด) เป็นยาที่มีหลายขนาด ตั้งแต่ 75 – 300 มิลลิกรัม ขึ้นไป แยกขนาดได้ดังนี้
- แอสไพริน 75, 81, 300, 325 มิลลิกรัม ชนิดเม็ด
- แอสไพริน 81, 300, 325 มิลลิกรัม ชนิดเม็ดเคลือบแตกตัวในลำไส้
โดยตัวยาแอสไพริน มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Enzyme cyclooxygenase (COX) จึงช่วยในการลดการอักเสบ ลดไข้ ยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด
ทั้งนี้แอสไพริน มีผลระคายเคืองกระเพาะอาหาร จึงควรรับประทานหลังอาหารทันที
แอสไพริน มีสรรพคุณอะไรบ้าง?
1. ใช้เพื่อลดไข้
2. ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ
3. ใช้เพื่อลดการอักเสบของข้อ
4. โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
5. ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ
6. รักษาโรคคาวาซากิ
7. ป้องกันภาวะสมองขาดเลือด
8. ใช้รักษาโรคข้อรูมาตอยด์
9. ใช้รักษาโรคเอสแอลอี หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง
10. ใช้ระงับอาการปวดข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก
* ปัจจุบันแทบไม่มีใครใช้ยาแอสไพรินในการแก้ปวด ลดไข้ เพราะ มีผลข้างเคียงสูง
** ยาแก้ปวด ลดไข้ ที่ดีที่สุด คือ กลุ่มยาที่มีส่วนผสมของ พาราเซตามอล
ข้อควรรู้ ! ยากลุ่มเอนเสด กับโรคโควิด-19
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข โดย รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 นี้ มีความกังวลว่าการใช้ไอบูโพรเฟน (หรือยาอื่นในกลุ่มเอ็นเสด รวมถึง แอสไพริน) อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโควิด-19 และทำให้ผู้ที่เป็นโรคอยู่แล้วมีอาการรุนแรงขึ้น จึงมีหลายหน่วยงานเร่งทำการศึกษาโดยการค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง
และสรุปว่าจากข้อมูลทางวิชาการที่ตีพิมพ์แล้วขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่จะสนับสนุนว่าการใช้ไอบูโพรเฟน หรือยาอื่นในกลุ่มเอ็นเสด จะเกี่ยวข้องกับการเกิดโควิด-19 หรือทำให้ผู้ที่เป็นโรคอยู่แล้วมีอาการรุนแรงขึ้น
ยาแก้อักเสบ, ยาแก้ปวดข้อ, หรือ ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal antiinflammatory drugs หรือ NSAIDs – เอนเสด) ได้แก่ แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), ไดโคลฟีแน็ก (Diclofenac) นาพร็อกเซน (naproxen), ไพร็อกซิแคม (piroxicam), เมล็อกซิแคม (meloxicam), เซเลค็อกสิบ (celecoxib), เอทอริค็อกสิบ (etoricoxib)
ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins) ที่ทำให้เกิดอาการปวด อาการอักเสบ และไข้ พรอสตาแกลนดิน (prostaglandins) ยังมีบทบาทอื่นอีกหลายอย่างในร่างกายรวมถึงเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
อย่างไรก็ตามผลต่อไวรัสยังไม่ชัดเจน มีทั้งเพิ่มและลดจำนวนไวรัสซึ่งอาจขึ้นกับชนิดของไวรัส การใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสดจึงอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งเหล่านี้ด้วย
ทั้งนี้ ยาในกลุ่มเอ็นเสดมีผลไม่พึงประสงค์หลายอย่าง เช่น
- เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- รบกวนการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
- เกิดผลเสียต่อไต
- ทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ
- เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
- ยาบางชนิดเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และภาวะสมองขาดเลือด
ข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด กับผู้ป่วยโควิด-19
1. แม้ไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่จะสนับสนุนว่าการใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสดเพิ่มความเสี่ยงต่อโควิค-19 หรือทำให้โควิด-19 เป็นรุนแรงขึ้น แต่ยาในกลุ่มเอ็นเสดมีผลไม่พึงประสงค์หลายอย่าง ดังนั้น ในกรณีที่ใช้ลดไข้ และบรรเทาอาการปวดศีรษะ อาจพิจารณาเลือกใช้ยาพาราเซตามอล (เว้นแต่จะมีข้อห้ามใช้)
2. การใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสดอาจเกิดผลไม่พึงประสงค์ต่อระบบหัวใจ และการไหลเวียนเลือด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะสมองขาดเลือด ซึ่งผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการแทรกซ้อนเหล่านี้อยู่แล้ว จึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่ออันตรายจากผลไม่พึงประสงค์ดังกล่าว
3. ยาในกลุ่มเอ็นเสดมีฤทธิ์ลดการอักเสบ และลดไข้ จึงอาจบดบังอาการของโควิด-19 จนแพทย์วินิจฉัยไม่พบ แต่การติดเชื้อยังคงดำเนินต่อไปซึ่งอาจเป็นอันตรายมากขึ้น
4. การใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสดเพื่อการรักษาโรคเรื้อรังซึ่งเดิมผู้ป่วยโควิค-19 ใช้อยู่แล้ว ยังคงใช้ต่อไปได้ รวมถึงการใช้แอสไพรินขนาดต่ำ เพื่อเป็นยาต้านเกล็ดเลือด หากต้องมีการปรับเปลี่ยนยาควรปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาโรคเดิมที่เป็นอยู่
ถ้าสงสัยว่าป่วยเป็นโควิด-19 ไม่ควรหาซื้อยากินเอง ควรเข้าพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัย และรับการรักษาอย่างทันท่วงที
อ่านข้อมูลอ้างอิงจากกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม–> ที่นี่
- ยาพาราเซตามอล กินให้ถูก กินให้ดี ต้องกินอย่างไร?
- โรคไข้หวัด โรคยอดฮิตตลอดทั้งปี! – สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และการป้องกัน
- เป็นหวัด ควรกินยาอะไรดี? แล้วอะไรคือสาเหตุของไข้หวัด? เรื่องควรรู้ก่อนซื้อยา
เป็นไข้หวัด ควรเลือกใช้ยาพาราเซตามอล แทนแอสไพริน
ในปัจจุบันนี้ แพทย์จะไม่เลือกใช้ยาแอสไพรินกับอาการไข้หวัด เพราะ แพทย์ไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยจะเป็นโรคไข้เลือดออก หรือโรคติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ หรือไม่ และเพื่อความปลอดภัย แพทย์จึงหันมาใช้ “พาราเซตามอล” แทน รวมทั้งในการบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ก็นิยมใช้ พาราเซตามอล แทนแอสไพริน เช่นเดียวกัน
รู้หรือไม่? ยาพาราเซตามอล (paracetamol) มีประสิทธิภาพในการลดไข้ที่ใกล้เคียงกับแอสไพริน แต่มีความปลอดภัยกว่า
- “ยาพาราเซตามอล” กินให้ถูก กินให้ดี ต้องกินอย่างไร?
- ยาพาราเซตามอล อันตรายตามข่าวจริงหรือ ? เด็ก และ ผู้ใหญ่ ควรกินอย่างไร?
- โรคไข้หวัด โรคยอดฮิตตลอดทั้งปี! – สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และการป้องกัน
เป็นไข้เลือดออก ห้ามกินยาแอสไพรินเด็ดขาด!
พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า
“สำนักอนามัยฝากเตือนถึงประชาชนที่มีอาการไข้ขึ้นสูงต่อเนื่อง และไข้ยังไม่ลดภายใน 2-3 วัน และไม่แน่ใจว่าติดเชื้อไข้เลือดออกหรือไม่ ห้ามรับประทานยาแอสไพรินโดยเด็ดขาด
เนื่องจากยาชนิดนี้เป็นยาที่จะไปทำปฏิกิริยาต้านการทำงานของเกล็ดเลือด ทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อไข้เลือดออกจะมีอาการเกล็ดเลือดที่ต่ำอยู่ก่อนแล้ว เมื่อรับประทานยาแอสไพรินเข้าไปอีก อาจทำให้เกิดอาการช็อก และนำมาซึ่งการเสียชีวิตอย่างฉับพลันได้”
ข้อบ่งใช้ และขนาดยาแอสไพริน
การใช้ยาแอสไพรินมี 2 ข้อบ่งใช้ คือ
1. ใช้ตามอาการเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ และลดไข้ – การใช้ยาแอสไพรินที่ขนาด 325 – 650 มิลลิกรัม เพื่อบรรเทาอาการปวด อักเสบ และลดไข้ และอาจใช้ที่ 600-650 มิลลิกรัม หากมีอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง ส่วนขนาด 500-1000 มิลลิกรัม ใช้เพื่อลดไข้ รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง
ข้อพึงระวัง! ควรปรึกษาแพทย์ และเภสัชกรก่อนใช้ยา (โดยเฉพาะในเด็ก หรือวัยรุ่นที่มีการติดเชื้อไวรัส) และผู้ป่วยควรรับประทานยาทั้งเม็ดหลังอาหารทันที เพื่อลดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร โดยใช้ตามอาการที่เป็น หรือตามคำแนะนำของแพทย์ – เภสัชกร และหยุดใช้ยาเมื่ออาการหมดไป
2. ใช้เพื่อต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด – การใช้ยาแอสไพรินเพื่อรักษาภาวะหลอดเลือดอุดตัน ทั้งหลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดหัวใจ หากผู้ป่วยไม่เคยได้รับยาแอสไพรินมาก่อน ในวันแรกที่มีอาการแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเคี้ยวยาแอสไพรินขนาด 300-325 มิลลิกรัม เพื่อให้ระดับยาในเลือดมากพอ และเกิดการยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการเกิดการอุดตันหลอดเลือดซ้ำอีก
จากนั้นจะลดขนาดยาลงเป็นแอสไพรินขนาดต่ำ คือ 81 มิลลิกรัม และรับประทานตามปกติ (หลังอาหารทันที และกลืนยาทั้งเม็ด) โดยผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาแอสไพรินขนาดต่ำต่อเนื่องไปตลอดเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของภาวะหลอดเลือดอุดตัน
หากลืมกินยา ควรทำอย่างไร?
ให้รอกินยาของมื้อต่อไป และห้ามกินยาเพิ่มเป็น 2 เท่า
ถ้ากินยานี้เกินขนาดที่แนะนำ ควรทำอย่างไร?
ให้สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติที่รุนแรง เช่น อาเจียนเป็นเลือด มีอาการสับสน ชัก กระสับ กระส่าย มีเสียงในหู ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
หญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตร ควรใช้แอสไพรินหรือไม่?
- หญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงยานี้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อปอด และหัวใจของทารก
- หญิงให้นมบุตร ห้ามใช้ยานี้เพราะเด็กจะได้รับยาผ่านน้ำนมแม่ทําให้เสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการราย (Reye’s Syndrome)
อาการข้างเคียงของแอสไพริน มีอะไรบ้าง?
1. อาการข้างเคียงชนิดรุนแรง หากเกิดขึ้นต้องหยุดยา และรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น
- ถ่ายดํา ปวดท้องมาก อาเจียนเป็นเลือดหรือสีกาแฟ มึนงง สับสน (อาการ
เหล่านี้คือการมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร) - หายใจลําบาก มีผื่นตุ่มพอง ผิวหนังหลุดลอก เป็นแผลในปาก หรือจมูก
เสียงดังในหูลมพิษ หน้าบวม ตาบวม คันตามร่างกาย (อาการเหล่านี้คือ การแพ้ยา) - จ้ำตามผิวหนัง ประจําเดือนมากผิดปรกติ (อาการเหล่านี้คือ การมีเลือดออกผิดปรกติ)
2. อาการข้างเคียงชนิดไม่รุนแรง หากเกิดขึ้นไม่จําเป็นต้องหยุดยา แต่ควรแจ้งแพทย์ หรือเภสัชกร ให้ทราบ เช่น
- ท้องเสีย ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด แสบร้อนในอก
- แต่ถ่าอาการรุนแรงหรือไม่ยอมหายไปให้ไปพบแพทย์ทันที
อย่าหาทำ! รวมคำถามกับความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับยาแอสไพริน
1. พอกหน้าด้วยแอสไพริน สามารถทำให้ผิวขาวใสได้?
ตอบ : ไม่เป็นความจริง กรมการแพทย์ กระทรวงสาราณสุข ชี้แจงว่า การนำยาแอสไพรินชนิดเม็ดมาบดผสมกับสารประกอบ หรือสารละลายอื่น ๆ เพื่อใช้ในการรักษาสิว รอยที่เกิดจากสิว หรือนำมาใช้ในการพอกหน้าให้ขาวนั้น
ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศที่สนับสนุน ว่าใช้ได้ผลในการรักษาจริง และตัวยาจะทำให้เกิดผื่นแดง ลมพิษ บวมที่ริมฝีปาก ใบหน้า เปลือกตา และอาจทำให้แพ้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตในรายที่มีอาการแพ้มาก!
2. ใช้แอสไพริน ซักผ้าขาว ได้ไหม?
ตอบ : แอสไพรินไม่ช่วยให้ผ้าขาว และตัวยาแอสไพรินไม่ละลายในน้ำ และอาจทำให้เกิดอันตรายได้
3. ยาแอสไพรินแช่ปลาหมึกให้ดูเต่งตึง “คนแพ้” เสี่ยงถึงตาย
ตอบ : ยาแอสไพริน เป็นยาอันตราย ห้ามใช้ผสมในอาหารทุกชนิด และหากใครที่แพ้แอสไพริน เมื่อกินปลาหมึกที่แช่ด้วยแอสไพริน อาจแพ้ถึงตายได้
อาหารทุกชนิด ควรล้างให้สะอาด ปรุงให้สุก สะอาด ถูกหลักอนามัย ก่อนบริโภคเสมอ
4. ยาแอสไพริน ทำให้ผมยาวไวขึ้น จริงหรือ?
ตอบ : ไม่จริง เพราะไม่มีผลทางวิทยาศาสตร์รองรับว่ายาตัวนี้สามารถเร่งผมยาวได้ และสารในแอสไพริน สามารถทำให้หนังศีรษะระคายเคืองได้
คำเตือนสำหรับการใช้ แอสไพริน (โดยกระทรวงสาธารณสุข)
1. ห้ามใช้แก้ปวด ลดไข้ในเด็ก และวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
2. ห้ามใช้แก้ปวด ลดไข้ในผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และอีสุกอีใส
3. ห้ามใช้รักษาอาการปวดเมื่อยเนื่องจากทำงานหนัก
4. สตรีให้นมบุตรห้ามใช้ยานี้
5. สตรีมีครรภ์หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
6. หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร อาการหอบหืด ความผิดปกติของตับและไต ยกเว้นแพทย์สั่ง
อ้างอิง :
1. fda.moph.go.th 1 / 2 / 3 2. pharmacy.mahidol.ac.th 3. thaihealth.or.th 4. ratchakitcha.soc.go.th
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่