ท้องเสีย คืออาการที่ทำให้ผู้ป่วยทรมาน ถ่ายเหลวได้ตลอดทั้งวัน และอาจเกิดภาวะช็อกจากการขาดน้ำได้! ใครที่มีอาการท้องเสียบ่อย ควรศึกษาและทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของโรค รวมถึงรู้จักวิธีดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ด้วย มาเช็กกันเลยว่า ท้องเสีย หรือ โรคอุจจาระร่วง มีสาเหตุ อาการ วิธีรักษาอย่างไรบ้าง…
- เตือนภัย! โนโรไวรัส โรคระบาดในเด็ก ต้นเหตุทำท้องเสีย รู้ทัน ป้องกันได้!
- ท้องเสีย ปวดบิดกลางท้อง ให้ระวัง! โรคลำไส้แปรปรวน สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
- แก้ท้องเสีย จิบเกลือแร่ ORS เท่านั้น! ห้ามกินเกลือแร่ออกกำลังกาย
ท้องเสีย คืออะไร ใครเสี่ยงท้องเสียได้บ่อย?
ท้องเสีย ท้องร่วง ท้องเดิน หรือ โรคอุจจาระร่วง (diarrhea) หมายถึง ภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง (หรือถ่ายเป็นน้ำจำนวนมากอย่างน้อย 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมง) เป็นโรคที่พบได้บ่อยตลอดทั้งปี ผู้ป่วยมักมีอาการที่รุนแรงแตกต่างกันไป และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงในผู้ป่วยบางรายได้
กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการท้องเสียได้บ่อย ได้แก่
- เด็กเล็ก
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่รับประทานอาหารไม่ถูกสุขอนามัยเป็นประจำ
- สตรีตั้งครรภ์ (ปกติก่อนตั้งครรภ์ขับถ่ายปกติ แต่พอตั้งครรภ์อาจเกิดอาการท้องเสียได้บ่อย)
- ผู้ที่มีการทำงานของภูมิคุ้มกันบกพร่อง
สาเหตุ และประเภทของโรคอุจจาระร่วง มีอะไรบ้าง?
โรคอุจจาระร่วง มีหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น จากการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะเชื้อโนโรไวรัส (norovirus) และ โรตาไวรัส (rotavirus), การติดเชื้อแบคทีเรีย, เชื้อโปรโตซัว, และอาจเกิดจากการไม่ติดเชื้อ เช่น จากโรคประจำตัว, โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง, จากการกินยา, สมุนไพรบางชนิด, การกินสารพิษ, อาหารรสจัด เป็นต้น
โรคอุจจาระร่วง สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามระยะเวลาที่เกิดโรค ดังนี้
1. โรคอุจจาระร่วงแบบเฉียบพลัน (Acute diarrhea) เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด
- ระยะเวลา : 1-3 วัน และไม่มากกว่า 14 วัน
- สาเหตุ : การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรืออาจเกิดจากอาหารเป็นพิษ
2. โรคอุจจาระร่วงต่อเนื่อง (Persistent diarrhea)
- ระยะเวลา : 14-30 วัน
- สาเหตุ : การติดเชื้อเชื้อโปรโตซัว เชื้อแบคทีเรีย หรืออาจเกิดจากโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
3. โรคอุจจาระร่วงเรื้อรัง (Chronic diarrhea)
- ระยะเวลา : มากกว่า 30 วันขึ้นไป
- สาเหตุ : การติดเชื้อ หรือเกิดจากภาวะลำไส้แปรปรวน และโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
ท้องเสีย หรือ โรคอุจจาระร่วง มักมีอาการอย่างไร?
- ถ่ายเหลวเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง
- อาเจียน
- อุจจาระเป็นมูกปนเลือด อุจจาระเป็นสีดำ
- ปวดท้อง ปวดเกร็ง หรือปวดบิด
- มีไข้หวัด ปวดศรีษะ
- หน้าแดง ผิวแห้ง
โดยทั่วไปโรคท้องเสียส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงสามารถหายได้เอง แต่ในระหว่างที่มีอาการอาจเกิดอันตรายได้ หากมีอาการอาเจียนมากจนกินอะไรไม่ได้ หรือถ่ายมากจนขาดน้ำ ซึ่งอาจมีอาการเช่น หิวน้ำ ปากแห้ง ตาโบ๋ กระวนกระวาย ซึม เป็นต้น
อาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยท้องเสีย
หากมีอาการท้องเสีย ไม่ควรงดรับประทานอาหาร แต่ให้เลือกรับประทานอาหารอ่อน ที่สะอาด ปรุงสุก และย่อยง่าย เพื่อชดเชยภาวะร่างกายขาดน้ำ หรือภาวะร่างกายสูญเสียวิตามิน และเกลือแร่ เช่น
- โจ๊ก
- ข้าวต้ม
- ซุปเต้าหู้
- เนื้อปลา
ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่
- อาหารรสจัด
- อาหารมันจัด
เนื่องจากทำให้เกิดการระคายเคืองของทางเดินอาหาร รวมทั้งอาจทำให้อาการท้องเสียแย่ลง
ท้องเสียต้องจิบเกลือแร่ ORS เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
เมื่อมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ ให้ใช้ยาผงเกลือแร่โออาร์เอส (ORS) โดยยานี้มีประโยชน์ในการป้องกัน และรักษาการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่จากท้องเสีย ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ และเกลือแร่อย่างรุนแรง ทำให้ความดันเลือดตก และช็อคได้ โดยเฉพาะในผู้มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?
โดยทั่วไป ผู้ป่วยท้องเสียสามารถหายได้เอง ภายในระยะเวลา 3 วัน โดยไม่ต้องไปพบแพทย์ แต่หากมีอาการเหล่านี้ ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- มีระดับความรุนแรงของการสูญเสียน้ำมาก เช่น อ่อนเพลียมาก สติสัมปชัญญะลดลง ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้
- อุจจาระเป็นมูก หรือปนเลือด
- มีไข้ นอนซม อ่อนเพลีย
- ถ่ายเหลวเป็นน้ำซาวข้าวปริมาณมาก อุจจาระไหลพุ่งออกมาโดยไม่มีอาการปวดท้อง
ท้องเสียสามารถป้องกันได้ หากดูแลสุขอนามัยอย่างถูกต้อง
เนื่องจากโรคท้องเสียส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสโดยตรง หรือทางอ้อมกับเชื้อโรค และการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัย ฉะนั้นการป้องกันที่ดี คือ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน ล้างมือทุกครั้งก่อน-หลังทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
- ควรบริโภคอาหารที่ปรุงสุก ถูกสุขอนามัย จะช่วยป้องกันโรคท้องเสียได้
- ดื่มน้ำสะอาด และควรระวังการกินน้ำแข็งที่ไม่สะอาด
- สำหรับเด็กเล็ก การกินนมแม่จะช่วยป้องกันโรคท้องเสียจากเชื้อไวรัสได้ส่วนหนึ่ง
- รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรตาไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการท้องเสีย โดยเฉพาะในเด็กทารก 1 ปีขึ้นไป
อ้างอิง : 1. thaijo 2. medparkhospital 3. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล