คนที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นมาก่อน น่าจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วกับคำว่า Gogatsu-Byo (五月病) หรือ โรคเดือนห้า ซึ่งมนุษย์ออฟฟิศญี่ปุ่นมักเป็นโรคนี้กันหลายคน โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคมหลังการโยกย้ายตำแหน่งครั้งใหญ่ประจำปี ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขนาดนี้ แต่หลายคนกลับไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้กลายเป็นอาการป่วยทางใจ จริง ๆ แล้วโรคเดือนห้าเป็นอย่างไร มีอาการยังไงบ้าง และทำไมถึงต้องเดือนห้า วันนี้เราได้หาคำตอบมาให้คุณแล้ว
ที่มาของ… โรคเดือนห้า
ในประเทศญี่ปุ่นนั้น บริษัทต่าง ๆ จะมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งครั้งใหญ่ ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี และไม่ใช่ทุกคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ แต่ด้วยวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่น ที่มีความคาดหวังว่า คนทำงานจะต้องอดทนกับทุกสภาพแวดล้อมให้ได้ จึงทำให้เกิดความเครียด จนกลายเป็นอาการป่วยทางจิตใจ
ความจริงแล้วโรคเดือนห้า นั้นคล้ายกับอาการเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า หากปล่อยให้อาการรุนแรงขึ้น ก็จะทำให้เข้าสู่ภาวะ ซึมเศร้าอย่างเต็มตัวได้ โดยโรคเดือนห้ามักเกิดกับมนุษย์เงินเดือนที่มีความจริงจังกับงานสูง เมื่อพบกับอุปสรรค หรือช่วงเปลี่ยนแปลงงาน และความกดดันต่าง ๆ จึงเกิดความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว และมักมีอาการแบบนี้ในช่วงหลังวันหยุดยาวอย่าง Golden Week ซึ่งอยู่ในช่วงต้นเดือน 5 พอดี
อาการของโรคเดือนห้า
อาการของโรคเดือนห้า มีการแสดงออกทั้งทางร่างกาย และทางจิตใจ เช่น
- นอนไม่หลับ
- ความอยากอาหารน้อยลง หรือเพิ่มขึ้น
- วิตกกังวล
- กระวนกระวาย
- อารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
- รู้สึกซึมเศร้า หดหู่ จนคิดฆ่าตัวตาย
รับมืออย่างไร เมื่อมีคนข้างตัวเป็นโรคนี้
มีคนจำนวนมากที่กลัว หรือไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการใช้ชีวิต และการทำงานที่ตนเองคุ้นเคย สิ่งเหล่านี้ สามารถส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนได้ เช่น ทำให้รู้สึกสับสน กระวนกระวาย รวมถึงอ่อนไหวกับเรื่องรอบตัวมากกว่าปกติ
เพื่อนร่วมงานของคุณอาจมีพฤติกรรมที่ต่างไปจากเดิม เช่น ออกไปสังสรรค์น้อยลง จากคนที่เคร่งขรึม อาจร้องไห้กับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือคนที่อารมณ์ดีอยู่เสมอ อาจฉุนเฉียวง่าย ไม่เป็นมิตรเหมือนเคย หรือมีความกระตือรือร้นในการทำงานลดลง บางครั้ง อาจมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร หรือปัญหาอื่น ๆ ร่วมด้วย
เมื่อสงสัยว่า คนใกล้ตัวของคุณอาจเป็นโรคเดือนห้า สิ่งที่เราควรทำ คือ
- อย่ากดดัน หรือทอดทิ้งเขา หากคนๆ นั้นสบายใจที่จะพูดคุยกับคุณ ก็อาจช่วยรับฟังเขาระบายความในใจบ้าง
- ไม่โกรธเคืองกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ให้กำลังใจเมื่อเกิดข้อผิดพลาด เพราะเมื่อเข้าสู่เดือน 6 หรือเมื่อผู้ที่ป่วยเป็นโรคเดือนห้าปรับตัวได้แล้ว ทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่ที่ สู่ทางของมันเหมือนเดิม
- ชวนเพื่อนไปผ่อนคลาย ด้วยการชวนกันไปกินข้าว ดูหนัง ฟังเพลง หรือกิจกรรมที่เพื่อนเราชอบ ก็จะช่วยให้อารมณ์ของเขาดีขึ้นได้ เรียกว่าเป็นกำลังใจ เป็นความอบอุ่นที่เพื่อนมีให้เพื่อนนั่นเอง
“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี