ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย มีใคร ไอแห้ง ๆ ติดต่อกันมานานเป็นเดือน จนรู้สึกรำคาญเต็มทนแล้วบ้างรึเปล่า? ถ้ามีอาการดังที่กล่าวไป คุณอาจเสี่ยงเป็นโรค ไอ100วัน ก็ได้!
อาการไอเรื้อรังแบบนี้ ในทางการแพทย์ เรียกว่า โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน หรือโรคไอกรน นั่นเอง มาทำความรู้จักกับโรคนี้กันดีกว่า จะได้รู้สาเหตุกันสักทีว่าทำไมคุณถึงยังไม่หยุดไอ!
ไอ100วัน เกิดจากอะไร ทำไมถึงไอนานจัง?
อาการไอ เป็นกลไกหนึ่งของร่างกาย ในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย อย่าง เชื้อโรค เชื้อไวรัส ฝุ่นละออง ควัน หรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ออกมา เพื่อให้ร่างกายหายใจได้สะดวกขึ้น
สำหรับอาการไอ100วัน ทางการแพทย์ได้สันนิษฐานเบื้องต้นไว้ว่า เกิดจากการติดเชื้อไอกรน ที่ก่อให้เกิดอาการหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน โดยอาจมีสาเหตุมาจาก การติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้ เป็นหวัด คัดจมูก เจ็บคอ ไอ หรือเสียงแหบก่อน กระทั่งเชื้อลามไปจนทำให้เกิดอาการอักเสบในหลอดลม
เมื่อร่างกายพยายามไอเพื่อขับเสมหะ ออกมาจากเยื่อบุหลอดลม แต่เสมหะนั้นถูกสร้างมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากการอักเสบติดเชื้อ แม้จะถูกภูมิต้านทานร่างกายกำจัดไปแล้ว แต่ก็ยังมีการสร้างเสมหะอีกมาก ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง ติดต่อกันเป็นเวลานาน และอาจนานได้ถึง 100 วัน
โรคไอ100วัน มีอาการอย่างไรบ้าง?
อาการสำคัญของโรคไอ100วัน สามารถแบ่งออกได้ 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะต้น มีน้ำมูกไหล แน่นจมูก ไอเล็กน้อยคล้าย เป็นหวัด ระยะนี้มีอาการราว 1-2 สัปดาห์
- ระยะรุนแรง ผู้ป่วยจะ ไอรุนแรง ติดกันเป็นชุดยาว ๆ ไม่มีจังหวะพัก โดยอาการไอจะถี่ตั้งแต่ 5 ครั้งขึ้นไปจนจบชุด ผู้ป่วยจะพยายามหายใจเข้าอย่างแรง บางรายอาจไอมากจนอาเจียนออกมา อาการระยะนี้จะเป็นนานราว 10 วันถึง 2 สัปดาห์ หรืออาจนานได้ถึง 2-6 สัปดาห์
- ระยะฟื้นตัว อาการไอ จะค่อย ๆ ทุเลาลง และหายไปภายใน 6-10 สัปดาห์ อาจมีอาการไอเบา ๆ ไอแห้ง ๆ อยู่นานหลายสัปดาห์ แต่หากมีอาการแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบ ก็จะไอต่อไปอีก 1-2 เดือน
วิธีรักษา
โรคไอ100วัน สามารถรักษาได้ด้วยการกินยาปฎิชีวนะ ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรคได้ ทั้งนี้ การใช้ยาปฎิชีวนะจะได้ผลดีเมื่อได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะต้น หรือระยะที่มีโรคแทรกทางปอด เท่านั้น หากผู้ป่วยมีอาการไอมาสักระยะแล้ว การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ อาจไม่ช่วยบรรเทาอาการของโรคได้มากนัก ซึ่งแพทย์จะทำการวินิจฉัย เพื่อจ่ายยาที่เหมาะสมกับโรคต่อไป
ผู้ป่วยไอ100วัน ควรอยู่ในที่อากาศที่ปลอดโปร่ง มีการดูแลให้กินอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะเด็กที่ไอมาก ๆ และอาจมีอาการอาเจียน ให้ป้อนอาหารทีละน้อย หากอาเจียนอาหารออกมา ต้องให้อาหารทดแทนใหม่ และการให้น้ำอย่างเพียงพอ ก็จะทำให้เสมหะใส ร่างกายสามารถขับเสมหะออกได้สะดวกยิ่งขึ้น
โรคไอ100วัน ป้องกันได้อย่างไร?
โรค ไอ100วัน สำคัญอยู่ที่การป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ซึ่งจะให้ประสิทธิภาพดีหากฉีดในเด็กตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป และต้องฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ขวบ โดยวัคซีนป้องกันโรคไอกรนนี้ จัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทารกทุกคนควรได้รับ และโดยส่วนมากจะมาในรูปของวัคซีนรวม คือ วัคซีนโรคคอตีบ โรคบาดทะยัก และโรคไอกรน
ในเด็กโตที่มีอายุตั้งแต่ 10-12 ปีขึ้นไป หรือผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยรับวัคซีนไอกรน ก็สามารถรับวัคซีนชนิดนี้ได้เช่นกัน โดยจะได้รับการฉีดวัคซีนไอกรน 1 ครั้ง หลังจาก ควรกลับไปฉีดวัคซีนคอตีบ และบาดทะยักกระตุ้นซ้ำทุก 10 ปี ซึ่งการฉีดวัคซีน จะเป็นการป้องกันอาการ ไอ100วัน หรือ ไอกรน ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันแล้ว หากมีอาการ ไอเรื้อรัง ไม่ว่าจะไอแห้ง ๆ ไอมีเสมหะ หรือไอร่วมกับมีไข้ ขอเพียงมีอาการไอต่อเนื่องกันเกิน 7 วัน ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม เพราะนอกจากการซื้อ ยาแก้ไอ มากินเองอาจไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นแล้ว ผู้ที่เคยเป็น หลอดลมอักเสบเฉียบพลันมาก่อน มักมีแนวโน้มที่อาจเกิดหลอดลมอักเสบได้อีก ดังนั้นจึงควรดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง และไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife