ขับรถทางไกลทีไร ความง่วงก็เข้ามากวนใจทุกที แต่จะหลับไม่ได้เด็ดขาดนะ! อันตรายมาก! นอกจากเรื่อง “เมาแล้วขับ” ก็มี “ขับรถหลับใน” นี่แหละ ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหยุดยาวปีใหม่นี้ วันนี้ GedGoodLife จึงนำ “วิธีแก้ง่วงขณะขับรถ” มาให้ทุกคนได้นำไปปฏิบัติตามกัน และอย่าลืมคาดเข็มขัดนิรภัยด้วยนะ เพราะเราห่วงใย และใส่ใจในสุขภาพของคุณ…
ภาวะหลับใน คืออะไร ?
ภาวะหลับใน หรือการเผลอหลับระยะสั้น ๆ (Microsleep) คือ การเผลอหลับเฉียบพลัน โดยไม่รู้ตัวเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ราว 1-2 วินาที หรืออาจเป็นนานกว่านั้นก็ได้ แม้จะเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก แต่หากเกิดข้นระหว่างที่คุณขับรถ มาด้วยความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตัวรถก็จะสามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้ไกลถึง 25 – 50 เมตรเลยทีเดียว และอาจนำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรงบนท้องถนนได้
นอกจากนี้กรมสุขภาพจิตระบุว่า “การหลับใน” เป็นอันตรายเช่นเดียวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะผลต่อการทำงานของสมองส่วนประมวลผล (brain processing) ทำให้การตัดสนใจแย่ลง (Impair judgment) การตอบสนองช้าลง (slower reflexes)
ในขณะที่นักวิจัยจาก The University Of New south Wales และ University of Otago ค้นพบว่า การอดนอนเป็นเวลา 17-19 ชั่วโมง เปรียบเหมือนร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเท่ากับ 0.05 (ระดับอ้างอิงตามกฎหมายต้องต่ำว่า 0.05) หมายความว่าหากเราอดนอน 17- 19 ชั่วโมงแล้วไปขับรถก็เท่ากับว่าทำผิดกฎหมาย
ข้อมูลจากมูลนิธิไทยโรดส์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
สัญญาณเตือนว่าเรากำลังจะ “หลับใน”
1. หาวต่อเนื่องบ่อย ๆ
2. กระพริบตาถี่ ๆ ลืมตาไม่ขึ้น
3. มองข้ามสัญญาณไฟ และป้ายจราจร
4. ใจลอยไม่มีสมาธิขณะขับรถ
5. ขับรถส่ายไปมา หรือออกนอกเส้นทาง
6. อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า กระวนกระวาย
7. เมื่ออยู่นิ่ง ๆ ติดไฟแดง หรือรถติด อาจเผลอหลับไม่รู้ตัว
8. จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาในช่วง 2-3 กิโลเมตรที่ผ่านมา
รู้หรือไม่!? ข้อมูลจากสภากาชาดไทย ระบุว่า ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุจากภาวะง่วงนอนบ่อยที่สุด (แม้ว่าผู้ขับขี่จะหลับเพียงพอก็ตาม) คือช่วงเที่ยงคืน (00.00 น.) ถึง แปดโมงเช้า (8.00 น.) และช่วงบ่ายโมง (13.00 น.) ถึง บ่ายสามโมงเย็น (15.00 น.)
ง่วงไม่ขับ! วิธีแก้ง่วงขณะขับรถ ทำยังไงได้บ้าง ?
1. นอนหลับให้เพียงพอ
วิธีแก้ง่วงขณะขับรถ ที่ดีที่สุด คือ การนอนหลับให้เพียงพอ ก่อนกำหนดวันเดินทาง อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง จะช่วยให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า สมองทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และมีสมาธิในการขับรถมากยิ่งขึ้น และควรปรับตารางนอนในชีวิตประจำวันให้ลงตัว เพื่อให้ร่างกายสามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ติดต่อกัน 3 – 4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันอาการง่วงเรื้อรัง
รู้หรือไม่!? ในผู้ที่มีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท มีการศึกษาพบว่า คนขับรถที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน จะมีโอกาสประสบอุบัติเหตุมากกว่าคนที่ได้นอนเต็มอิ่มถึง 5 เท่าเลยทีเดียว
2. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาที่มีผลข้างเคียงก่อนออกเดินทาง
ทั้งก่อนขับรถ และขณะเดินทาง ห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเด็ดขาด! เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายแม้แค่นิดเดียว ก็มีผลทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง และอาจนำไปสู่การหลับในเฉียบพลันได้
นอกจากนี้ คุณควรงดกินยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงซึมด้วย เช่น ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก, ยาแก้แพ้ แก้คัน, ยากล่อมประสาท, ยาคลายกังวล, ยาแก้เวียนศีรษะ และยาแก้เมารถ เป็นต้น หากเป็นยารักษาโรคที่ต้องกินเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อขอปรับยาเป็นตัวที่ไม่มีผลข้างเคียงที่ทำให้ง่วงแทน
3. กินแก้ง่วง
วิธีแก้ง่วงตอนขับรถ สุดฮิต ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือผลไม้เปรี้ยว ๆ เลือกกันได้ตามความชื่นชอบ มีติดรถไว้กินระหว่างทาง รับรองว่าช่วยให้ตาสว่างขึ้นได้แน่ เรามีทริกมาแนะนำเพิ่มเติมว่า ควรงดดื่มกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนใด ๆ ก่อนเดินทางอย่างน้อย 2-3 วัน เพราะอาจส่งผลให้นอนหลับไม่สนิท และทำให้คุณง่วงในตอนที่ต้องขับรถได้
นอกจากนี้ น้ำเปล่าเย็น ๆ ก็ช่วยได้เหมือนกันนะ เพราะน้ำเปล่าจะช่วยให้ระดับออกซิเจนในเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้ร่างกายของเรารู้สึกตื่นตัวได้ทันที และเป็นการเพิ่มความสดชื่นให้ร่างกายด้วย
4. ของเย็นช่วยได้
การขับรถทางไกลยาว ๆ ทำให้คุณง่วงจากความเหนื่อยล้า ที่ต้องโฟกัสกับเส้นทางเดิม ๆ ในอิริยาบถเดิม ๆ ควรแวะปั๊มข้างทาง เพื่อเข้าห้องน้ำ ล้างมือล้างหน้า ลูบศีรษะ และท้ายทอยให้รู้สึกเย็น ความเย็น และความสดชื่นจากน้ำ จะช่วยให้รู้สึกกะปรี้กะเปร่าขึ้นได้ หรือจะใช้วิธีดมยาดม พิมเสนสูตรเย็นเมนทอล หรือพกผ้าเย็นไว้เช็ดตามใบหน้า ท้ายทอย แขน และข้อพับ ให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นระหว่างทางก็ช่วยได้เหมือนกัน
5. ทำกิจกรรมระหว่างขับรถ
การมีเพื่อนร่วมเดินทาง ชวนพูดคุย หรือชวนเล่นเกมเฮฮาเสียงดัง เป็นอีกวิธีที่ช่วยปลุกให้คุณตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาได้ แถมยังมีคนช่วยจับตาดูการขับขี่ของคุณ และคอยเตือนเมื่อคุณแสดงอาการอ่อนเพลีย หรือสลับกันขับ แบ่งเวลาพักผ่อนได้อีกด้วย
ถ้าต้องขับรถคนเดียว แนะนำให้เปิดเพลงดัง ๆ เพลงแด๊นซ์ ๆ สักหน่อย แต่อย่าให้กลบเสียงรอบข้างจนเกินไป และพกน้ำชา กาแฟ ไว้ในรถบ้าง แต่ถ้ารู้สึกไม่ไหวจริง ๆ แนะนำให้พักงีบข้างทาง อย่าลืมล็อครถเพื่อป้องกันผู้ประสงค์ร้าย และเปิดกระจกไว้เพียงนิดหน่อยเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ด้วย
6. ยืดเส้นยืดสายคลายง่วง
การนั่งท่าเดียว ท่าเดิมนาน ๆ ระหว่างขับรถ ย่อมทำให้รู้สึกทั้งเมื่อย ทั้งเหนื่อยล้า อย่าลืมแวะจอดรถพัก เพื่อผ่อนคลายอิริยาบถเป็นระยะ ๆ ในปั๊มน้ำมัน หรือจอดรถในที่ปลอดภัย แล้วลงมาเดินเล่นยืดเส้นยืดสาย ทำท่ากายบริหารเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น คลายความเมื่อยล้าจากการนั่งท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน ๆ หรือจะใช้วิธีการนวดไปทั่วบริเวณใบหน้า เพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนของเลือด และช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้นได้
7. หลีกเลี่ยงการขับขี่ในช่วงเที่ยงคืนถึงเจ็ดโมงเช้า
เนื่องจากช่วง 24.00-07.00 น. เป็นช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่ มักจะคุ้นเคยกับการนอนหลับ จึงทำให้ร่างกายเกิดความเคยชิน และอาจเกิดอาการง่วงซึมหรือหลับในระหว่างขับขี่ได้
8. ไม่ไหวก็พักก่อน
ถ้าง่วงหนักแบบไม่ไหวแล้ว ฝืนไม่ได้จริง ๆ ควรจอดรถนอนแบบจริงจังไปเลยสัก 25-30 นาที เพื่อให้ร่างกายรู้สึกว่าได้นอนพอสมควร เป็น Power Nap ที่สามารถทดแทนการนอนได้ราว 2 ชั่วโมงต่อครั้ง แต่ก่อนจะหลับไป ควรจอดรถในที่ ๆ คุณมั่นใจในความปลอดภัยด้วย เช่น ปั้มน้ำมันที่มีคนค่อนข้างเยอะ ไม่ควรจอดริมถนน หรือสถานที่ที่เปลี่ยวร้าง
8 จุดเช็คสภาพรถ ก่อนออกเดินทางไกล
นอกจากเตรียมร่างกายของคนขับให้พร้อมแล้ว อย่าลืมเตรียมรถให้พร้อมด้วยนะ เพราะถ้าคนขับพร้อม แต่รถไม่พร้อมแล้วมาเสียเอากลางทาง ก็จะทำให้พลาดทริปที่อยากไป และอาจเกิดอุบัติเหตุได้ด้วย การตรวจเช็คสภาพรถของเราก่อนออกเดินทาง จึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง โดย 8 จุด ที่คุณควรเช็ครถก่อนออกเดินทางไกล ก็คือ
จุดที่ 1 แบตเตอรี่
หัวใจสำคัญของการสตาร์ทรถ คือ แบตเตอรี่ ควรตรวจดูสภาพของแบตเตอรี่ ว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์หรือไม่ หมั่นทำความสะอาดคราบขี้เกลือที่ขั้วแบต เช็คระดับน้ำกลั่นให้อยู่ในระดับที่กำหนด ตรวจสอบความแน่นของขั้วแบต และฉนวนหุ้มสาย
จุดที่ 2 ล้อ และยางรถยนต์
อุบัติเหตุส่วนหนึ่งบนท้องถนน เกิดจากยางระเบิดขณะขับขี่ การตรวจสอบว่ายางรถยนต์อยู่ในสภาพที่พร้อมเดินทางหรือไม่ จึงอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก ยางรถของคุณควร ไม่รั่ว ไม่ซึม ไม่แตกลายงา มีดอกยางเพียงพอ มีระดับลมยางตามที่คู่มือประจำรถกำหนด ล้อควรอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ไม่คด ไม่เบี้ยว และที่สำคัญ น็อตล้อต้องขันแน่น
จุดที่ 3 ช่วงล่าง
สามารถตรวจเช็คได้ด้วยการ ลองขับบนถนนเรียบทางตรง ให้สังเกตพวงมาลัยว่าตรงหรือไม่ หากพวงมาลัยไม่ตรง ควรนำรถไปตั้งศูนย์ใหม่ ตรวจชิ้นส่วนต่าง ๆ ของช่วงล่าง เช่น ลูกหมาก หากขับทางขรุขระแล้วมีเสียงดังกุกกัก รีบให้ช่างแก้ไขโดยด่วน ตรวจเช็คคราบน้ำมันบริเวณแกนโช้ค ว่ารั่วหรือไม่ เพราะระบบช่วงล่างทั้งหมด มีผลต่อการทรงตัวขณะขับขี่
จุดที่ 4 ระดับน้ำมันเบรก และระบบเบรก
หากน้ำมันเบรกหาย อย่าเพิ่งรีบเติม แต่ให้หาสาเหตุให้ได้ว่า น้ำมันเบรกหายไปได้อย่างไร เนื่องจากระบบเบรกเป็นระบบปิด หรือก็คือ น้ำมันเบรกจะอยู่แต่ภายในระบบเบรก และจะไม่มีการละเหยเหมือนน้ำมันเชื้อเพลิง หากผ้าเบรกไม่สึก หรือไม่มีจุดไหนรั่วซึม น้ำมันเบรกก็จะไม่สามารถหายไปได้ง่าย ๆ
จุดที่ 5 ระบบไฟส่องสว่าง
ตรวจดูว่าไฟส่องสว่างทุกจุดใช้งานได้ครบ ทั้งไฟหน้า ไฟท้าย ไฟตัดหมอก ไฟเลี้ยว และไฟฉุกเฉิน แสงสว่างต้องคมชัด ไม่มัว เพราะระบบไฟส่องสว่าง คือสิ่งที่จำเป็นมากในการเดินทางช่วงกลางคืน
จุดที่ 6 น้ำมันเครื่อง
น้ำมันเครื่อง เป็นสิ่งที่จำเป็นของระบบกลไกต่าง ๆ ในเครื่องยนต์ ประสิทธิภาพของน้ำมันเครื่องที่ดี จะต้องผ่านการใช้งานมา ไม่เกินระยะทางตามที่คู่มือกำหนด ระดับน้ำมันเครื่องต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยสามารถตรวจเช็คได้จาก ก้านวัดน้ำมันเครื่อง นอกจากนี้ ขณะเดินทางควรมีน้ำมันเครื่องสำรอง เผื่อสำหรับยามฉุกเฉิน ติดรถไว้อย่างน้อย 1 ลิตรด้วย
จุดที่ 7 หม้อน้ำ ท่อยาง ระบบหล่อเย็น
ระบบระบายความร้อน เป็นอีกหัวใจหลักของเครื่องยนต์ เพราะเมื่อความร้อนสะสมขณะที่เครื่องยนต์ทำงาน ไปเจอกับอุณหภูมิอันร้อนระอุจากภายนอก หากระบบระบายความร้อนไม่ดี หรือมีปัญหา ก็อาจทำให้เครื่องยนต์น็อคได้ ดังนั้น จึงควรเช็คระดับน้ำหล่อเย็นในหม้อพัก และหม้อน้ำ เช็คการทำงานของพัดลมหม้อน้ำและมอเตอร์ ตรวจสอบรอยรั่วของหม้อน้ำ ท่อยาง และข้อต่อต่าง ๆ หากตรวจพบว่ามีน้ำไหลซึม ให้รีบแก้ไขโดยด่วน
จุดที่ 8 เครื่องมือประจำรถ
เช่น ล้ออะไหล่ ยางอะไหล่ แม่แรง ชุดเครื่องมือในการถอดล้อ ที่เติมลมฉุกเฉิน สายพ่วงแบต สายลากรถ ไฟฉาย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ควรมีติดรถเอาไว้ เพื่อความอุ่นใจยามเดินทาง สำหรับในกรณีฉุกเฉิน เพราะมีแล้วไม่ได้ใช้ ย่อมจะดีกว่าต้องใช้แล้วไม่มีนะ
สุดท้ายนี้ GedGoodLife ขอให้ทุกท่านขับรถด้วยความระมัดระวัง ง่วงไม่ขับ ลดเร็ว ลดเสี่ยง คาดเข็มขัดนิรภัยอยู่เสมอ และเดินทางโดยสวัสดิภาพในช่วงปีใหม่นี้
อ้างอิง :
1. thaihealth.or.th
2. ThaiPBS
3. autospinn.com
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี