อาการไอกับเด็ก ๆ แทบจะเป็นของคู่กัน คุณแม่ต้องพาลูกไปเคาะปอด ไปพ่นยากันบ่อย ๆ อาการไอ มีเสมหะ อาการไอทั่ว ๆ ไปอาจจะกินยาแก้ ยาละลายเสมหะก็หายได้ แต่การไอบางอย่างก็เป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง ไอแบบไหนอันตราย ไอแบบไหนควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอ ?
อาการไอ
การไอ ดูเหมือนเป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติในทางเดินหายใจ แต่แท้จริงแล้ว การไอก็มีประโยชน์กับร่างกาย เพราะเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น ควัน เกสรดอกไม้ อากาศที่แห้ง อากาศเปลี่ยน มีการติดเชื้อในทางเดินหายใจ แต่อาการไอบางอย่างก็ไม่ใช่การไอปกติ แต่เป็นสัญญาณบอกความผิดปกติของร่างกาย อาการไอแบบไหนบ้างที่อันตราย ควรรีบไปพบแพทย์
ไอแบบไหนอันตราย
ไอเป็นเลือด (Haemoptysis หรือ Coughing up blood)
ไอเป็นเลือด คือ เมื่อไอแล้วมีเลือดไหลออกมาจากปอด อาการไอเป็นเลือดนี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะที่อันตราย ไม่ว่าจะเป็น การติดเชื้อ โรคมะเร็ง หรือปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดภายในปอด ที่ทำให้มีเลือดออกภายในปอดแล้วทำให้เราไอออกมาเป็นเลือด ในบางครั้งอาจมีเสมหะปะปนมาด้วย
ไอเพราะสิ่งแปลกปลอมติดคอ
ลูกมีอาการไออย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยเสียงหายใจมีเสียงคอหอยเคลื่อนไหว ผิวลูกเปลี่ยนสีซีดลงหรือสีน้ำเงิน ไม่ค่อยส่งเสียง อาจมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ในลำคอ หรือหลอดลม
ไอกรน (Whooping cough)
อาการไอที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอย่างรุนเเรง การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดนี้ทำให้เกิดอาการไออย่างรุนเเรง เเละไม่สามารถควบคุมได้จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการหายใจลำบากได้ เด็กมักทำเสียงลมหายใจดัง “วู้ป” (Whoop) เมื่อพวกเขาพยายามหายใจหลังจากการไอ
ไอมีอาการแทรกซ้อน (Serious Coughs)
มีอาการไอแล้วมีอาการอื่น ๆ แทรกซ้อนที่เป็นสัญญาณว่าอาจเป็นอาการไอรุนแรง เช่น มีไข้ กินอาหารไม่ได้ มีอาการซึม หายใจหอบ หายใจมีเสียงหวีด อาจเป็นสัญญาณของอาการติดเชื้อ เช่น ไวรัส RSV ปอดอักเสบ หรือ อาการติดเชื้ออื่น ๆ
ไอเรื้อรัง (chronic cough)
หากมีอาการไอติดต่อกันนานเกิน 3 สัปดาห์เรียกว่า ไอเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการไอ เช่น อาจเกิดจากโรคหอบหืด ภูมิแพ้ กรดไหลย้อน เป็นต้น
รีบไปพบแพทย์ หากลูกมีอาการไอเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะเป็นอาการไอที่อาการแทรกซ้อน อาการไอที่อาจอันตรายถึงชีวิตได้
ผลเสียอาการไอ ไอแบบไหนอันตราย ควรไปพบแพทย์
– ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก อาการไออาจทำให้อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไม่มีแรง ส่งผลต่อการเรียนในแต่ละวัน ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก
– หยุดหายใจได้ ถ้าเด็กติดเชื้อไอกรน อาจไอมากจนหยุดหายใจได้
– กระดูกอ่อนซี่โครงหัก การไออย่างรุนแรง อาจส่งผลให้ เจ็บกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกอ่อนซี่โครงหัก
– อันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ มีการอักเสบของหลอดลมมากขึ้น บวมมากขึ้น มีการฉีกขาดเกิดขึ้น ปอดแตก และมีลมรั่วเข้าไปในช่องเยื่อบุหุ้มปอด หรือ ทำให้ถุงลมหรือ เส้นเลือดฝอยในปอดแตก
– เป็นลมหมดสติ ไอรุนแรงมาก อาจส่งผลต่อสมอง ทำให้มีอาการหมดสติ (Cough Syncope) ได้
วิธีบรรเทาอาการไอ
อาการไอทั่วไป แบ่งเป็น 2 แบบ คือ ไอมีเสมหะ และ ไอไม่มีเสมหะ เมื่อเกิดอาการไอที่ไม่รุนแรง อาจจะดูแลให้หายได้เอง ดังนี้
– ดื่มน้ำให้มากขึ้น น้ำจะทำให้เยื่อบุลำคอที่แห้ง และระคายเคืองดีขึ้น ลำคอชุ่มชื่นขึ้น และควรดื่มน้ำอุ่น เพราะน้ำอุ่นช่วยละลายเสมหะ
– ปรับแอร์ให้พอดี ในหน้าหนาว หรือในห้องนอนตอนกลางคืน ต้องระวังไม่ให้แอร์เย็นเกินไป หรือ แอร์ พัดลมเป่าลงที่ตัวตรง ๆ
– จิบน้ำอุ่นผสมมะนาว น้ำผึ้ง เพิ่มความชุ่มชื่นให้ลำคอ
– เลี่ยงอาหารมัน ๆ ทอด ๆ หรือผลิตภัณฑ์นม อาหารมัน หรือผลิตภัณฑ์จากนมจะทำให้เสมหะ หรือ เมือกมีจำนวนมากขึ้น และข้นขึ้น
– ใช้ยาบรรเทาอาการไอ ยาละลายเสมหะ การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการไอ ควรเลือกชนิดของยาให้ถูกต้องกับอาการไอนั้น ๆ ด้วย ถ้าไอมีเสมหะ อาจกินยาละลายเสมหะ เพื่อช่วยให้ความข้นหนืดของเสมหะลดลง ทำให้ไอเอาเสมหะออกได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่อันตราย (ควรปรึกษาเภสัชกร หรือ แพทย์ก่อนใช้ยา) ตัวอย่างของยาละลายเสมหะ เช่น Carbocysteine (คาร์โบซิสเทอีน) ยากลุ่มนี้ใช้ในกรณีของการไอมีเสมหะ
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี