ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย คนที่ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงวัย เด็กน้อย หรือ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว ก็อาจจะป่วยได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะ โรคไข้หวัด โรคยอดฮิตตลอดทั้งปี โดยโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากเชื้อไวรัส และ แบคทีเรีย ถ้ารักษาไม่ถูกวิธีนอกจะจะไม่หายแล้ว ยังอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนด้วย งั้นมาดูกันเลยว่า โรคไข้หวัดที่เกิดจาก ไวรัส VS แบคทีเรีย แตกต่างกันยังไง? แล้วแบบไหนรุนแรงกว่ากัน!
โรคไข้หวัด คืออะไร?
ไข้หวัด หรือ ไข้หวัดทั่วไป (Common Cold) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อได้ทั้งเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียบริเวณ ทางเดินหายใจส่วนบน เช่นจมูก คอ ไซนัส และกล่องเสียง โดยคนเราสามารถป่วยด้วยโรคไข้หวัดได้ตลอดทั้งปี และมักจะป่วยเป็นไข้หวัดบ่อยในช่วงฤดูฝน และช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย
ไวรัส VS แบคทีเรีย แตกต่างกันอย่างไร?
มาทำความรู้จักกับตัวร้ายของเรื่องกันก่อนว่า ไวรัส vs แบคทีเรีย มีความแตกต่างกันอย่างไร…
ไวรัส (Virus)
ไวรัส มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน ซึ่งมีความหมายว่า “เป็นพิษ” (poison/toxic) เนื่องจากไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก (ไวรัสที่ใหญ่ที่สุดมีความยาวเพียง 450 นาโนเมตรเท่านั้น) ต้องส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบอิเล็กตรอนถึงจะเห็น ที่ก่อโรคในมนุษย์มาอย่างยาวนาน
แม้ไวรัสสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ก็ยังเล็กกว่าแบคทีเรียสายพันธุ์ที่มีขนาดเล็กที่สุด
ไวรัสมีโปรตีนเป็นส่วนประกอบหลักที่เคลือบอยู่ชั้นผิวภายนอก และเป็นศูนย์กลางของสารพันธุกรรมอย่างดีเอ็นเอ (DNA) หรืออาร์เอ็นเอ (RNA) ของไวรัส โดยไวรัสจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอย่างคน สัตว์ หรือพืช เพื่อเพิ่มจำนวนขึ้น
ไวรัสในคนสามารถก่อโรคต่าง ๆ ได้ดังนี้ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โปลิโอ ตับอักเสบ โรคพิษสุนัขบ้า โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
แบคทีเรีย (Bacteria)
แบคทีเรีย เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มีขนาดเล็กประมาณ 0.3 – 2 ไมโครเมตร ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 1000 เท่าจึงจะเห็นได้ชัด รูปร่างของแบคทีเรียโดยทั่วไปมี 3 แบบ คือ รูปกลม (coccus), รูปแท่ง (bacillus), และรูปเกลียว (spiral)
แม้แบคทีเรียส่วนใหญ่จะมีประโยชน์ และไม่เป็นอันตราย โดยมีส่วนช่วยในระบบย่อยอาหาร ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ช่วยต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง และให้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย
แต่แบคทีเรียบางส่วนหรือไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ของแบคทีเรียทั้งหมด ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคและการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ เช่น ไข้หวัด ไอ ปอดบวม โรคบาดทะยัก โรคในทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ โรคที่ผิวหนัง เป็นต้น
การติดเชื้อแบคทีเรีย จะทำให้อาการรุนแรงกว่า การติดเชื้อไวรัส
ไข้หวัดจากเชื้อ ไวรัส VS แบคทีเรีย แตกต่างกันอย่างไร?
โดยทั่วไป “ไข้หวัด” เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกว่า 80% ซึ่งสามารถหายเองได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการนานกว่า 5-10 วัน อาจเป็นหวัดเรื้อรัง เนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณโพรงจมูก และไซนัสได้
– ไข้หวัดจากเชื้อไวรัส มักมีอาการดังนี้
- มีไข้ต่ำ ๆ
- มีน้ำมูก
- ไอ เจ็บคอ
- อาจมีเสียงแหบร่วมด้วย
- คอแดง
- ทอนซิลบวมแดง
– ไข้หวัดจากเชื้อแบคทีเรีย มักมีอาการดังนี้
- ต่อมทอนซิลบวม หรือมีจุดหนอง
- ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรหน้าบวมโต กดเจ็บ
- มีไข้ (มากกว่า 38 องศาเซลเซียส)
- ไม่มีอาการไอ
- คอแดง ลิ้นไก่บวมแดง
- ทอนซิลบวมแดง มีจุดหนอง
- ลิ้นมีฝ้าสีเทา
- ความสามารถในการรับกลิ่นลดลง
- คัดจมูก และปวดตึงใบหน้า
การรักษาโรคไข้หวัดจากเชื้อ ไวรัส VS แบคทีเรีย
ลองสังเกตุตัวเองก่อนว่า เรามีอาการแบบไหน จัดอยู่ในกลุ่มของโรคไข้หวัดจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย หากไม่แน่ใจ หรืออาการไม่ชัดเจน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และการรักษาที่เหมาะสม ถูกต้อง
การรักษาโรคไข้หวัดจาก เชื้อไวรัส
- พักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน
- ทำร่างกายให้อบอุ่น
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- กลั้วคอด้วยน้ำเกลือเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียตามมา
- สวมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันเชื้อโรคภายนอกเข้าสู่ร่างกาย
- ถ้าอยากหายไวขึ้น สามารถกิน ยาลดไข้ ลดน้ำมูก ได้
การรักษาโรคไข้หวัดจาก เชื้อแบคทีเรีย
- ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หรือปรึกษาเภสัชกรเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะ
- การใช้ยาปฏิชีวนะ จำเป็นต้องทานต่อเนื่องให้หมดตามระยะเวลา หรือจำนวนที่กำหนด เพื่อให้สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียได้หมดสิ้น
- นอนพักผ่อนให้มาก ๆ ไม่เครียดจนเกินไป
- สวมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย
ข้อควรระวังในการใช้ยาปฏิชีวนะ!
ยาปฏิชีวนะ หรือยาแก้อักเสบ หลายตัวมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย บางกลุ่มทำให้เกิดอาการท้องเสีย บางกลุ่มเป็นพิษต่อตับ ไต ในบางรายอาจมีปฏิกิริยาภูมิแพ้จากยา ทั้งแบบไม่รุนแรง หรือรุนแรงถึงชีวิตได้
ทั้งนี้ยาปฏิชีวนะสามารถกำจัดได้ทั้งแบคทีเรียที่มีประโยชน์ และมีโทษ แบคทีเรียที่รอดชีวิตจึงสร้างตัวเองให้กลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยาได้ จึงเห็นได้ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง และกินตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
เมื่อมีไข้หวัด เจ็บคอ ควรรักษาด้วยตนเองอย่างไรดี?
- หากเป็นแค่ไข้หวัดทั่วไป และเจ็บคอ จากการติดเชื้อไวรัส สามารถรักษาตามอาการได้ ยาบรรเทาอาการไข้หวัด ได้แก่ ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอละลายเสมหะ เป็นต้น
- นอนหลับพักผ่อนให้มาก ๆ ในช่วงเวลาที่กำลังเป็นไข้หวัด เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แข็งแรง
- ส่วนอาการไอ เจ็บคอ อาจหายช้ากว่าไข้หวัด แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งมะนาวเป็นประจำทุกวัน จิบระหว่างวันบ่อย ๆ จะช่วยอาการไอ เจ็บคอ ได้ดี
น้ำมูกสีเขียวเหลือง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเปล่า?
น้ำมูกที่โดยปกติแล้วจะเป็นสีใส ๆ เมื่อเปลี่ยนเป็นเขียวข้น หรือสีเหลือง อาจไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเสมอไป และในบางรายที่มีอาการหลอดลมอักเสบร่วมด้วย ก็อาจมีอาการเสมหะเหนียวข้นเขียวได้ หรือแม้กระทั่งเชื้อไวรัส ก็สามารถทำให้เกิดน้ำมูกเขียวได้เช่นกัน
การป้องกัน โรคไข้หวัด
1. ทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะวิตามินซี เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันไข้หวัดได้
2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอทุกวัน โดยเฉพาะวันที่เป็นไข้หวัด
3. ออกกำลังกายอยู่เสมอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
3. รักษาร่างกายให้อบอุ่น โดยเฉพาะในหน้าฝน และหน้าหนาว หรือช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง
4. ไม่คลุกคลี หรือใกล้ชิดผู้ป่วยเป็นไข้หวัด ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยโรคไข้หวัด
5. หมั่นล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่ และไม่นำมือสกปรกสัมผัส แหย่ หรือแคะจมูก เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าทางโพรงจมูก
6. ไม่ควรเดินตากฝนเป็นระยะเวลานาน เมื่อตากฝน กลับถึงบ้านแล้วควรรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย เพื่อชำระเชื้อโรคที่ติดมาจากข้างนอกโดยไว
7. ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อต้องไปในที่แออัด หรือที่ที่มีผู้คนมาก เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
อ้างอิง :
1. pobpad.com 2. baanjomyut.com 3. student.chula.ac.th 4. pidst.or.th 5. sukumvithospital.com 6. thaihealth.or.th
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife