อาการท้องแข็งเกิดจากการบีบตัวของมดลูก เกิดขึ้นได้เสมอขณะตั้งครรภ์ ท้องแข็ง ตอนใกล้คลอดนี่ไม่ถือว่าเป็นอาการผิดปกติ อันตราย แต่เป็นอาการเตือนว่าใกล้เวลาที่แม่จะได้เห็นลูกแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือต้องแยกให้ได้ว่าอาการท้องแข็งที่เกิดขึ้น เป็นเพียงเจ็บครรภ์เตือน หรือ เจ็บครรภ์คลอดจริง
อาการ “ท้องแข็ง” ตอนตั้งครรภ์มีลักษณะอย่างไร ?
อาการท้องแข็ง คือ เมื่อเอามือไปจับบริเวณท้องจะรู้สึกได้ว่าเป็นก้อน ๆ ตึง ๆ และมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เป็นพัก ๆ อาการท้องแข็ง แต่ละคนมีอาการมากน้อยต่างกันไป บางคนก็อาจมีอาการปวดเกร็งเสียท้องน้อยด้วย
อาการท้องแข็งทั่วไป เจ็บครรภ์เตือน
- อาการเจ็บขึ้นไม่สม่ำเสมอ ปวดบริเวณท้องน้อย
- ระยะห่างของอาการไม่ถี่ขึ้น อาจเป็นทุก 15-20 นาที
- อาการไม่รุนแรงขึ้น
- ไม่มีอาการอื่น ๆ เช่น มูก หรือ มูกเลือดจากช่องคลอด
อาการท้องแข็งเจ็บครรภ์จริง ใกล้คลอด
- อาการเจ็บสม่ำเสมอ ปวดหลังใกล้บั้นเอวร้าวมาหน้าท้อง
- ระยะห่างของอาการถี่ขึ้น จากทุก ๆ 15 นาที เป็น 5-10 นาที
- ความรุนแรงมากขึ้นจาก 15-20 วินาที เป็นเจ็บนาน 45-50 วินาที
- มีมูก หรือ มูกปนเลือดจากช่องคลอด
สาเหตุของอาการ “ท้องแข็ง” ขณะตั้งครรภ์
อาการท้องแข็งเกิดจากการบีบตัวของมดลูก เกิดขึ้นได้เสมอขณะตั้งครรภ์ สิ่งสำคัญคือต้องแยกให้ได้ว่าอาการท้องแข็งที่เกิดขึ้น เป็นเพียงเจ็บครรภ์เตือน หรือ เจ็บครรภ์คลอดจริง สาเหตุที่ทำให้ท้องแข็งอาจมีหลายสาเหตุ ดังนี้
– มีความเครียดในขณะตั้งครรภ์ ก็ทำให้เกิดอาการหดเกร็งบีบตัวของมดลูกได้
– เกิดจากลูกในท้อง ทารกในครรภ์ดิ้นมากอาจไปโดนกับผนังมดลูก จนทำให้มดลูกถูกกระตุ้นจนเกิดการบีบตัว
– มดลูกเกิดการบีบตัวเองจากกล้ามเนื้อมดลูกขาดเลือด เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คลอดก่อนกำหนด หรือแท้งได้
– มีแก๊สในกระเพาะอาหาร เมื่อใดก็ตามที่กินอาหารลงไปเยอะ ๆ ก็อาจไปเบียดกับมดลูกจนรัดตัวได้เหมือนกัน
– พฤติกรรมกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันอื่น ๆ เช่น การพักผ่อนน้อย การทำงานหนัก การมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง การกลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ
– มดลูกหดตัวเพื่อเข้าสู่ระยะคลอด แสดงว่าใกล้คลอดแล้ว อาการนี้ไม่หายเอง แม้กินยาแก้ปวด ควรรีบไปพบแพทย์
อาการท้องแข็งมักเกิดขึ้นตอนไหน ?
อาการท้องแข็งมักเกิดขึ้นตอนอายุครรภ์มากขึ้นประมาณช่วงไตรมาสที่ 3 หรือ เมื่อมีอายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ขึ้นไป (เดือนที่ 7-9) โดยช่วงนี้มดลูกจะเริ่มขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปกติแล้วจะมีลักษณะเป็นก้อนนิ่ม ๆ เมื่อคลำดูก็จะสัมผัสได้ถึงการมีทารกดิ้นอยู่ บางครั้งคุณแม่อาจรู้สึกว่าท้องแข็ง หรือรู้สึกตึงหน้าท้อง
ปกติแล้วอาการท้องแข็งเจ็บเตือน มักจะเป็นอาการเตือนก่อนเจ็บครรภ์จริง บางคนอาจจะเจ็บเตือนนานหลายวัน หรือ แค่วันเดียวก็เป็นไปได้ แต่โดยเฉลี่ย อาการเจ็บครรภ์เตือนจะมาก่อนประมาณ 7 วัน หากมีอาการเจ็บเตือนก็เตรียมตัวว่าใกล้คลอดแล้ว
การดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ป้องกันอาการท้องแข็ง
– ลดกิจกรรมทั้งในและนอกบ้าน ที่ทำให้เหนื่อยและเกิดความเครียดได้ง่าย ให้อยู่นิ่ง ๆ สักระยะ
– เลี่ยงการจับหน้าอก บีบกระตุ้นหัวนม การถูกกระตุ้นบริเวณหัวนม หน้าอก ส่งผลอให้มดลูกบีบตัวตามไปด้วย
– งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงใกล้คลอด ถึงแม้ในขณะตั้งครรภ์สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่เมื่อใกล้คลอด ควรงดไปก่อน เพราะอาจมีการกระตุ้นแถวบริเวณปากมดลูกซึ่งจะทำให้มีการบีบตัวของมดลูกตามมา
– ระวังตอนบิดขี้เกียจ การลุกนั่ง ตอนบิดขี้เกียจช่องท้องปริมาตรจะเล็กลง ความดันในมดลูกก็จะสูงขึ้น ท้องก็เลยแข็งได้ หรือ ตอนล้มตัวลงนอน หากล้มหงายหลังลงตรง ๆ ก็ต้องมีการเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง ตอนลุกขึ้น หากงัดตัวลุกขึ้นตรง ๆ ก็จะต้องเกร็งหน้าท้องขึ้นเหมือนกัน การเกร็งหน้าท้องนี้ก็เป็นการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ก็จะส่งผลทำให้มดลูกมันบีบตัวได้ จะล้มตัวลงนอนก็ต้องตะแคงลงช้า ๆ จะลุกขึ้นก็ต้องพลิกตัวแล้วตะแคงขึ้นช้า
– หลังมื้ออาหารควรเดินเล่นหรือนั่งพักสักครู่ก่อน ไม่ควรนอนหลับทันที เพื่อช่วยในการย่อยอาหารและไม่ทำให้เกิดอาการจุกเสียดจนท้องแข็งได้
– ไม่กลั้นปัสสาวะ เพราะการกลั้นปัสสาวะทำให้กระเพาะปัสสาวะโตขึ้น จนไปเบียดกับมดลูก ทำให้เกิดอาการท้องแข็งตึง
– ทำใจให้สบาย พักผ่อนมากขึ้น โดยการนั่งอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือนอนหลับให้เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อลดความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดอาการท้องแข็ง
อาการ “ท้องแข็ง” แบบนี้ต้องรีบไปพบแพทย์
– หน้าท้องที่เคยนิ่มเกิดแข็งขึ้นมาทั่วท้องจนรู้สึกเจ็บ นั่นคือสัญญาณเตือนว่ามดลูกกำลังบีบตัวหดรัด ให้สังเกตดูว่าท้องจะแข็งนานประมาณ 10 นาที/ครั้ง ติดต่อกัน 4-5 ครั้ง เป็นชุดๆ ลักษณะแบนนี้หากเกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ
– ท้องแข็งจนรู้สึกแน่น หายใจไม่สะดวก และอาการไม่หายไป ควรจะรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
– มีอาการอื่น ๆ เช่น น้ำเดิน ลูกไม่ดิ้น ดิ้นน้อยลง ถึงแม้ไม่มีอาการท้องแข็งก็ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
ถึงแม้อาการท้องแข็ง เจ็บเกร็งหน้าท้องอาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ได้เป็นเรื่องปกติ แต่ต้องคอยหมั่นสังเกตอาการอื่น ๆ ด้วย ถ้าดูท่าไม่ดี มีอาการผิดปกติจากที่เคยเป็น ควรรีบไปหาหมอทันที