เพราะพฤติกรรมการกิน และการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้เดี๋ยวนี้มีคนที่ป่วยจาก โรคความดันโลหิตสูง กันเยอะ หากไม่ดูแลรักษาร่างกายอย่างถูกต้อง และยังกินอาหารที่เป็นโทษแล้วละก็… จากความดันสูง ก็จะเสี่ยงกลายเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดหัวใจ ได้มากขึ้น งั้นมาดูกันดีกว่าว่า ความดันโลหิตสูง ควรกิน-ควรเลี่ยง อะไรบ้าง?
ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ เรื่องความดันโลหิต หรือสุขภาพอื่น ๆ ได้ฟรี! ที่นี่ —> คลิก
ความดันโลหิตสูง คืออะไร เกิดจากอะไร?
ความดันโลหิตสูง (Hypertension / High Blood Pressure) หรือที่นิยมเรียกกันง่าย ๆ ว่า ความดันสูง คือ ภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงความดันในหลอดเลือดที่สูงขึ้นกว่าปกติตลอดเวลา
องค์การอนามัยโลก กำหนดไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2542 ว่า…
“ผู้ใดก็ตามที่มีความดันโลหิตวัดได้มากกว่า 140 /90 มม.ปรอท ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง”
ปัจจัยที่มีผลต่อความดันโลหิต
1. อายุ ส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นกฎตายตัวว่าอายุมากขึ้นความดันโลหิตจะสูงขึ้นเสมอไป
2. เวลา ความดันโลหิตจะขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่เท่ากันตลอดวัน เช่น ตอนเช้าความดันซิสโตลิก (ความดันตัวบน) อาจจะวัดได้ 130 มม.ปรอท ขณะที่ ตอนช่วงบ่ายอาจวัดได้ถึง 140 มม.ปรอท ขณะนอนหลับอาจวัดได้ต่ำถึง 100 มม.ปรอท เป็นต้น
3. จิตใจ และอารมณ์ พบว่ามีผลต่อความดันโลหิตได้มาก ขณะที่ได้รับความเครียด อาจทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าปกติได้ถึง 30 มม.ปรอท
4. เพศ พบว่าเพศชายจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้บ่อยกว่าเพศหญิง
5. พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม ผู้ที่มีบิดาและมารดา เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในครอบครัว
6. สภาพภูมิศาสตร์ ผู้ที่อยู่ในสังคมเมืองจะพบภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าในสังคมชนบท
7. เกลือ ผู้ที่กินเกลือมากจะมีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ที่กินเกลือน้อย
“อาหารดี ความดันลด” ความดันโลหิตสูง ควรกิน-ควรเลี่ยง อะไรบ้าง?
กลุ่มอาหารสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ที่ควรกิน มีดังนี้
- ถั่วและธัญพืช โดยในถั่ว และธัญพืชต่าง ๆ จะมีกากใยอาหาร ชนิดละลายน้ำ ที่ช่วยความควบคุมความดันโลหิตได้
- เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดทานตะวัน มีแมกนีเซียม ช่วยในการเผาผลาญไขมัน
- แตงโม ควบคุมการไหลเวียนของโลหิต และควบคุมการขยายตัว ของหลอดเลือด
- ผักสดทุกชนิด เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว เพื่อเป็นการเพิ่มเส้นใยอาหาร
- ขึ้นฉ่าย ช่วยลดความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหา เส้นเลือดอุดตัน
- กล้วย ช่วยสร้างสมดุลให้ร่างกาย ให้ได้รับปริมาณ โซเดียม และโพแทสเซียม ในอัตราที่สมดุลกับการทำงานของไต
- น้ำมันมะกอก เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว ช่วยลดความดัน คอเลสเตอรอล ทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก
- กระเทียม มีสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันไม่ให้คอเลสเตอรอล เกาะตามผนังหลอดเลือดแดง
- ข้าวกล้อง แหล่งพลังงาน และใยอาหารที่ดี มีประโยชน์
- งาดำ งาขาว มีโปรตีนที่ดี ไม่มีไขมัน
- ปลา (ลอกหนังออก) และหอย มีโปรตีนที่ดี มีไขมันต่ำ และมีแมกนีเซียม ทั้งให้พลังงาน และช่วยให้หลอดเลือดหัวใจ แข็งแรง
- อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมจืดไขมันต่ำ เต้าหู้ ผักใบเขียว โยเกิร์ตไขมันต่ำ เพื่อเป็นแหล่งโปรตีน แคลเซียมที่ช่วยดูแลกระดูก
- ไขมันจากพืช เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลืองน้ำมันงา น้ำมันดอกคำฝอย
อาหารที่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ควรหลีกเลี่ยง
- อาหารเค็มจัด เช่น กะปิ น้ำปลา ซอสปรุงรสต่าง ๆ เช่น ซอสหอยนางรม ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก รวมไปถึงการปรุงรสอาหาร หรือเติมซอส หรือน้ำปลา ลงในอาหารที่กิน ในปริมาณที่มากเกินไปด้วย
- อาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น น้ำอัดลม ขนมปังกรอบ ขนมปัง ขนมอบที่ใช้ผงฟู เนยที่มีรสเค็ม น้ำสลัด มายองเนสสำเร็จรูป อาหารที่ใส่น้ำตาลเทียม อาหารที่ใส่ผงชูรส และไม่ควรกินเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม
- อาหารที่ผ่านการแปรรูป หรือหมักดอง เช่น ผักดอง เต้าหู้ยี้ ไส้กรอก เบคอน แหนม กุนเชียง ไข่เค็ม ปลาเค็ม
- อาหารที่มีน้ำตาล และไขมันสูง เช่น อาหารที่มีรสหวานจัด ของทอด แกงกะทิต่าง ๆ เป็นต้น เนื่องจากจะเป็นการทำให้ร่างกาย ได้รับพลังงานส่วนเกิน มากกว่าที่ต้องการ และจะสะสมเป็นน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น จนนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูงได้
- ขนม และ ของหวานต่าง ๆ เช่น เค้ก คุกกี้ โดนัท ไอศกรีม ขนมหวาน เช่น เค้ก คุกกี้ โดนัท ไอศกรีม
- ไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ และพืชบางชนิด เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู รวมถึงเนื้อสัตว์ติดมัน
- เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกฮอล์ในปริมาณมาก ส่งผลให้ระดับความดันโลหิตที่เพิ่มสูงขึ้นได้
นอกจากการกินอาหารอย่างถูกต้องจะเป็นสิ่งสำคัญแล้ว การควบคุมปริมาณอาหารให้เหมาะสม ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน โดยอาจใช้หลักการ 2 : 1 : 1 คือ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่แบ่งออกเป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน โดยเป็นผัก อย่างน้อย 2 ชนิด 2 ส่วน เป็นอาการประเภทแป้ง เช่น ข้าวไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือ เส้นก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น หรือ อาหารที่ทำจากแป้ง จากธัญพืช 1 ส่วน และเป็นโปรตีน จากเนื้อสัตว์ เช่น หมูไม่ติดมัน ไก่ ปลา เต้าหู้ หรือ ไข่ อีก 1 ส่วน
ตัวอย่าง อาหารลดความดัน ในปริมาณที่ควรกินต่อวัน
✓ ข้าว-แป้ง
ปริมาณส่วน/วัน : 6 – 11 ส่วน
ปริมาณต่อ 1 ส่วน : ขนมปัง 1 แผ่น ข้าวสวย 1 ทัพพี
✓ ผัก
ปริมาณส่วน/วัน : 3 – 5 ส่วน
ปริมาณต่อ 1 ส่วน : ผักสด 2 ทัพพี ผักสุก 1 ทัพพี
✓ ผลไม้
ปริมาณส่วน/วัน : 2 – 4 ส่วน
ปริมาณต่อ 1 ส่วน : ผลไม้สด ½ ถ้วยตวง
✓ เนื้อสัตว์
ปริมาณส่วน/วัน : 2 – 3 ส่วน
ปริมาณต่อ 1 ส่วน : เนื้อสัตว์สุก 30 กรัม / เนื้อสัตว์สุก 2 ช้อนกินข้าว
✓ นม
ปริมาณส่วน/วัน : 2 – 3 ส่วน
ปริมาณต่อ 1 ส่วน : นม 240 ซีซี / โยเกิร์ต 1 ถ้วย
✓ ไขมัน–น้ำมัน
ปริมาณส่วน/วัน : 2 – 3 ส่วน
ปริมาณต่อ 1 ส่วน : น้ำมันพืช, เนย 1 ช้อนชา / กะทิ 1 ช้อนโต๊ะ
✓ น้ำตาล
ปริมาณส่วน/วัน : ไม่เกิน 6 ส่วน
ปริมาณต่อ 1 ส่วน : น้ำตาลทราย, น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา / แยม 1 ช้อนโต๊ะ
สุดท้ายนี้ การบริโภค อาหารสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง อาจต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ด้วย เพราะ ผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีโรคแทรกซ้อน หรือมีความเหมาะสมในเรื่องการทานอาหารแตกต่างกันไปนั่นเอง แล้วอย่าลืมออกกำลังกาย นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสุขภาพองค์รวมที่ดีด้วยนะ
อ้างอิง:
1. thaihypertension.org
2. med.mahidol.ac.th
3. bangkokpattayahospital.com
4. raipoong.com
5. http://theworldmedicalcenter.com
ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี