ความเครียด คืออะไร แบบไหนถึงเรียกว่าเครียด ? วันนี้เราจะมาเจาะลึกเรื่องความเครียด พร้อมแบบประเมินความเครียด และ ความสุข ในบทความนี้กัน
ความเครียด (stress) คืออะไร?
ความเครียด (จิตวิทยา) – เป็นความรู้สึกตึง/ล้าทางใจ หรือการเสียศูนย์/ความสมดุลทางใจที่มีมาก่อน เนื่องจากการได้รับสิ่งเร้า/ปัจจัยไม่ว่าทางกายหรือใจ ไม่ว่าจะภายนอกหรือภายใน ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจริง ๆ หรือไม่
ความเครียด (ชีววิทยา) – หมายความถึงผลสืบเนื่องจากการที่สิ่งมีชีวิต (ทั้งมนุษย์ และสัตว์อื่น) ไม่สามารถตอบสนองอย่างพอเหมาะกับความต้องการทางจิต อารมณ์หรือกายได้อย่างพอเหมาะ ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือสมมติขึ้น
ผู้ที่รู้สึกเครียด มักจะหงุดหงิด ฉุนเฉียว โมโหร้ายมากกว่าปกติ ระงับอารมณ์ไม่ค่อยอยู่ หากเป็นเวลาปกติ เมื่อมีอะไรบางอย่างมากระทบจิตใจ ปกติแล้ว เรามักจะควบคุมตนเองได้ รู้จักคิดกลั่นกรองหาเหตุผล แต่ตอนที่อยู่ในภาวะเครียด ความสามารถในการควบคุมตนเองจะน้อยลง จึงทำให้บางครั้งแสดงออกรุนแรงมากกว่าที่ปกติ
ความเครียด แบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ คือ
1. เครียดระดับต่ำ (Mild Stress) เป็นความเครียดที่ไม่คุกคามต่อการดําเนินชีวิต อาจรู้สึกเพียงเบื่อหน่าย ขาดแรงกระตุ้น และมีพฤติกรรมที่เชื่องช้าลง
2. เครียดระดับปานกลาง (Moderate Stress) เป็นความเครียดในระดับปกติ ไม่ก่อให้เกิดอันตราย และไม่แสดงออกถึงความเครียดที่ชัดเจน ส่วนใหญ่สามารถปรับตัวกลับสู่ภาวะปกติได้เองจากการทํากิจกรรมที่ชื่นชอบเพื่อผ่อนคลาย ความเครียด
3. เครียดระดับสูง (High Stress) เป็นความเครียดที่เกิดจากเหตุการณ์รุนแรง หากปรับตัวไม่ได้ จะทําให้เกิดความผิดปกติทางร่างกาย อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย หงุดหงิด พฤติกรรมการนอนและการกินอาหารเปลี่ยนไป จนมีผลต่อการดําเนินชีวิต
4. เครียดระดับรุนแรง (Severe Stress) เป็นความเครียดระดับสูง และเรื้อรังต่อเนื่อง จนทําให้ผู้ที่มีความเครียดในระดับนี้ล้มเหลวในการปรับตัว และก่อให้เกิดความผิดปกติ และอาจเกิดโรคต่าง ๆ ที่รุนแรงขึ้นมาได้ เช่น อารมณ์แปรปรวน มีอาการทางจิต มีความบกพร่องในการดําาเนินชีวิตประจําวัน ควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์
หากคุณสงสัยว่าตัวเองกำลังเครียดอยู่หรือไม่ และมีความรุนแรงแค่ไหน ก็สามารถไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการทดสอบ หรือทดสอบตัวเองได้ที่เว็บของกรมสุขภาพจิตตามลิงก์ด้านล่าง
- แบบทดสอบความเครียด : https://bit.ly/3sTSatD
- แบบทดสอบความสุข : http://bit.ly/2rjJa6K
- แบบประเมินโรคซึมเศร้า : https://bit.ly/3bqq55Q
ความเครียด ก่อให้เกิดโรคอะไรบ้าง? อย่าเครียดนาน สุขภาพพัง!
ความเครียด สามารถส่งผลกระทบต่อเราได้โดยตรง ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ และฮอร์โมนสารทุกข์ที่หลั่งในขณะเกิดความเครียด ก็จะส่งผลสู่อวัยวะสำคัญ ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของการทำงานของวัยวะต่าง ๆ เช่น
– หัวใจจะเต้นเร็วขึ้นผิดปกติ
โดยทั่วไปแล้ว หัวใจของคนปกติจะเต้นอยู่ที่ประมาณ 60-70 ครั้งต่อนาที แต่เมื่อเกิด ความเครียด หัวใจจะเต้นแรงขึ้นเร็วขึ้นเป็นประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาที ผู้ที่มีความเครียด จึงมักรู้สึกว่าหัวใจตนเองเต้นแรงจนรู้สึกได้ ใจสั่น หรือรู้สึกเจ็บหน้าอก
– ถอนหายใจบ่อย
เมื่อเกิดความเครียด หลอดลมจะหดเล็กลง จนทำให้เราต้องหายใจแรง ๆ คนที่เครียดจึงชอบถอนหายใจ เพราะต้องหายใจออกโดยแรง
– หลอดเลือดทั่วร่างกายตีบตัน
ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ไม่เพียงพอ เช่น ทำให้เกิดอาการมึนงง ปวดหัว เวียนหัว เป็นโรคหัวใจ ความดันเลือดสูง ไขมันอุดตันหลอดเลือด
– กล้ามเนื้อทุกส่วนจะหดเกร็ง
ทำให้ปวดหัว ปวดต้นคอ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดไหล่ รวมถึงหน้าตาก็อาจจะเขม็งเกร็งด้วย
– ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ
ทำให้กินอาหารไม่ค่อยลง อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องผูก กระเพาะหลั่งน้ำย่อยออกมาเยอะขึ้น จนเป็นสาเหตุของลำไส้ และกระเพาะอาหารอักเสบ หรือเป็นแผล
– นอนไม่หลับ ความคิดฟุ้งซ่าน
– สมรรถภาพทางเพศลดลง
– คนที่เครียดมาก ๆ มักเป็นโรคเบาหวาน
– อาจทำให้เป็นมะเร็งได้
4 กลุ่ม สัญญาณเตือน ความเครียด
ความเครียดสามารถแบ่งออกได้ 4 กลุ่ม ตามอาการที่เกิดขึ้นกับจิตใจ และร่างกาย ดังนี้
กลุ่มที่ 1 : อาการทางด้านเชาว์ปัญญา Cognitive Symptoms
เมื่อเกิดความเครียด สิ่งที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกมักจะเป็นสมองของเรา ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองผิดปกติ เช่น มีปัญหาเรื่องความจำ ขี้หลงขี้ลืม สมาธิลดลง ขี้หงุดหงิด เอะอะโวยวาย ไม่สามารถเพ่งความสนใจไปกับการทำงานได้ วิตกกังวล แก้ไขปัญหาได้ไม่ดีเท่าที่ควร
กลุ่มที่ 2 : อาการทางด้านอารมณ์ Emotional Symptoms
เวลาที่เครียด เรามักจะมีอารมณ์ที่แปรปรวน และไม่คงที่อยู่ตลอดเวลา บางคนอาจจะอารมณ์ร้ายขึ้นกว่าเดิม หรือไม่ก็มีอาการซึมเศร้าจนเห็นได้ชัด ซึ่งอาการที่เกิดจากความเครียด และส่งผลต่ออารมณ์ ได้แก่ อารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย อารมณ์ฉุนเฉียว ซึมเศร้า และร้องไห้ รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว
กลุ่มที่ 3 : อาการทางด้านร่างกาย Physical Symptoms
สิ่งที่เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนที่สุดของ ความเครียด ก็คือการแสดงออกให้เห็นทางร่างกาย โดยจะเริ่มจากเกิดอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก่อน จะค่อย ๆ รุนแรงขึ้น จนอาจถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล โดยอาการที่พบส่วนใหญ่ คือ
- ปวดหัว ผมร่วง หนังตากระตุก กินจุบจิบไม่หยุด
- ปวดตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณ ไหล่ คอ และหลัง
- ผิวพรรณหม่นหมอง เกิดริ้วรอย และผิวพรรณหมองคล้ำก่อนวัย
- หัวใจเต้นเร็วขึ้น เหงื่อออกง่าย
- ระบบขับถ่ายมีปัญหา คลื่นไส้ เวียนหัว ซึ่งหากอาการรุนแรงขึ้นจนเครียดลงกระเพาะ ก็อาจทำให้อาเจียนได้
- ความต้องการทางเพศลดลง และอาการภูมิแพ้กำเริบ
อ่านเพิ่มเติม :
1. เมื่อมีอาการ ปวดหัวไมเกรน คลื่นไส้ อาเจียน ควรทำอย่างไรดี?
2. เครียดลงกระเพาะ โรคใกล้ตัวของมนุษย์เงินเดือน
3. โรคภูมิแพ้ คืออะไร? สาเหตุ อาการ วิธีรักษา I หมอกอล์ฟ นพ.สิทธา ลิขิตนุกูล
กลุ่มที่ 4 : อาการที่ส่งผลต่อพฤติกรรม Behavioral Symptoms
นอกจาก ความเครียด จะส่งผลต่อร่างกาย สมอง และอารมณ์แล้ว ยังส่งผลทำให้พฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างของเราด้วย ซึ่งหากปล่อยเรื้อรัง ก็อาจจะทำให้ติดกลายเป็นนิสัยได้ เมื่อเราเครียด มักจะเกิดพฤติกรรมต่อไปนี้
- กินอาหารมากขึ้น หรือน้อยลง
- นอนไม่หลับ
- ปลีกตัวออกจากสังคม
- ใช้ยาเสพติด บุหรี่ หรือแอลกอฮอล์มากขึ้น
- รู้สึกอ่อนเพลีย
- เหนื่อยล้าตลอดเวลา
- รวมถึงทำผิดพลาดแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เนื่องจากการรับรู้ของสมองไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
ความเครียด สามารถจัดการได้อย่างไร?
วิธีจัดการความเครียดแบบง่าย ๆ สามารถทำได้ด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น
- เข้าวัด ทำสมาธิ ทำจิตใจให้แจ่มใส
- ท่องเที่ยว
- ชอปปิ้ง
- ดูหนัง
- ฟังเพลง
- ออกกำลังกาย
- เล่นกีฬา
- และพักผ่อนให้เพียงพอ
- โดยควรใช้เวลากับครอบครัว หรือเพื่อนสนิทที่คอยให้กำลังใจได้ตลอดเวลา
ไบโพลาร์ – โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว
ปัจจุบัน การเจ็บป่วยจากภาวะเครียด เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราสามารถพบได้บ่อยบ่อยขึ้น รวมไปถึงความผิดปกติทางด้านอารมณ์ อย่างโรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว
โรคไบโพลาร์ เป็นโรคที่มีความผิดปกติของอารมณ์เป็นหลัก มีการเรียกโรคนี้ในอีกชื่อหนึ่งว่า โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว เนื่องจากมีอาการแสดงออก 2 ทาง คือ กลุ่มอาการแมเนีย จะมีอารมณ์ดี หรืออารมณ์รุนแรงเกินเหตุ และกลุ่มอาการซึมเศร้า
ลักษณะของกลุ่มอาการแมเนีย
- มีอารมณ์ครึกครื้น แสดงออกอย่างเต็มที่
- พูดมาก พูดเร็ว พูดไม่ยอมหยุด
- ความคิดพรั่งพรู รู้สึกว่าตนเองเก่ง มีความสามารถมาก มีความสำคัญมาก
- มีความมั่นใจในตนเองสูง
- เรี่ยวแรงเพิ่ม นอนน้อยกว่าปกติ โดยไม่มีอาการอ่อนเพลีย
- สมาธิไม่ดี วอกแวก หุนหันพลันแล่น
- การตัดสินใจไม่เหมาะสม อาจหงุดหงิดก้าวร้าวได้ง่ายเมื่อถูกขัดใจ
- คนที่มีอาการแมเนียมักจะไม่รู้สึกว่าตัวเองผิดปกติ และปฏิเสธการรักษา
ส่วนอารมณ์ซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในโรคไบโพลาร์นั้น จะมีความรุนแรงกว่าอารมณ์ซึมเศร้าในโรคซึมเศร้า ซึ่งสามารถสังเกตความแตกต่างได้ดังนี้
- เกิดอาการครั้งแรกในช่วงวัยรุ่นหรือวัยเรียน มีประวัติเป็น ๆ หาย ๆ หลายครั้ง
- เคลื่อนไหว และคิดพิจาณสิ่งต่าง ๆ ได้อ่านช้าลง
- นอนและกินอาหารมากขึ้น
- ขาดกำลังใจ มองตนเองไร้ค่า ไม่มีประโยชน์
- โลกที่เคยสดใสกลายเป็นมืดมน ไม่ร่าเริง
- มักมีอาการวิตกกังวลรุนแรงร่วมด้วย
- มีอาการหลงผิด
- มีปัญหาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น มองว่าบุคคลอื่นไม่สนใจหรือไม่เป็นมิตร
- อาจมีประวัติติดสารเสพติด หรือพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย
- อาจมีประวัติโรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์เศร้าในครอบครัว
และแม้ว่าโดยปกติแล้ว คนเราจะสามารถมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ได้ แต่ก็อยู่แค่ในระดับหนึ่งแล้วกลับมาเป็นปกติ ดำเนินชีวิต รับผิดชอบหน้าที่ต่าง ๆ ได้ แต่คนที่มีอารมณ์ผิดปกติ ทั้งอารมณ์บวก และลบ จะค้างนานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน ทำให้ไม่สามารถกลับเข้าสู่อารมณ์ปกติได้ จนกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง หรือความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้
หากสงสัยว่า ตัวเองมีอาการอยู่ในกลุ่มแมเนียหรือไม่ สามารถทดสอบตัวเองในเบื้องต้นได้ในแบบทดสอบนี้ —> https://bit.ly/3bokahx
เคล็ดลับการสร้างความสุข
- ควบคุมอารมณ์ให้เป็น ไม่โกรธ ไม่หงุดหงิดง่าย
- ฝึกให้มีอารมณ์ขัน ช่วยให้จิตใจเบิกบาน
- มองโลกในแง่ดี ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา
- รับฟังเหตุผล และความคิดเห็นของผู้อื่น
- ผ่อนคลายความเครียดลง
- ปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ ทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น
- ค้นหาจุดเด่น และ ยอมรับข้อบกพร่อง ของตนเอง
- ยอมรับผิดเมื่อทำผิด
- ปฎิบัติธรรม นั่งสมาธิ รู้จักปล่อยวาง
อ้างอิง :
1. www.dmh.go.th
2. www.thaihealth.or.th
3. www.prdmh.com
4. www.thaiheartfound.org
5. www.manarom.com
6. th.wikipedia.org
ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี