เป็นหวัดมีไข้ ควรกินยาอะไรดี? คำถามที่ดูเหมือนจะง่าย แต่หลายคนยังเลือกกินไม่ถูก บางคนเป็นหวัดก็ไปซื้อยาปฏิชีวนะมากิน ซึ่งเป็นการรักษาที่ผิด และอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้! มาดูคำตอบที่ถูกต้องกันดีกว่าว่าควรกินยาอะไรเมื่อเป็นไข้หวัด และข้อควรรู้เรื่อง ยาแก้ไข้หวัดสูตรผสม
- ยาแก้หวัดสูตรผสม พาราเซตามอล+คลอร์เฟนิรามีน มีสรรพคุณ วิธีใช้อย่างไร?
- โรคไข้หวัด สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และข้อควรรู้เรื่องหวัดกับ หมออ้อม
- ไข้สูง มีสาเหตุจากอะไร ต้องกี่องศาขึ้นไป อันตรายแค่ไหน รับมือยังไงดี?
รู้จักกับ “ไข้หวัด” กันก่อน ว่ามีอาการยังไง? จะได้รู้วิธีเลือกซื้อยาอย่างถูกต้อง
ไข้หวัด คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น จมูก คอ และหลอดลม เป็นต้น และสาเหตุที่ทำให้เป็นไข้หวัดกันได้บ่อย คือ “เชื้อไวรัส” ซึ่งมีมากกว่า 200 ชนิด แต่ไวรัสตัวแสบสุด ทำให้คนเป็นหวัดบ่อย คือ “ไรโนไวรัส” (Rhinovirus)
โรคไข้หวัดสามารถเป็นได้ทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูฝนคนจะป่วยด้วยโรคนี้บ่อย เพราะมีเชื้อโรคแพร่ระบาดมากกว่าฤดูอื่น สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย โดยอาการของ “ไข้” และ “หวัด” มีความแตกต่างกันดังนี้
- ไข้ คืออาการปวดหัว ตัวร้อน และมีไข้ (อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ คือ 37.5 °C ขึ้นไป)
- หวัด คืออาการน้ำมูลไหล คัดจมูก เป็นต้น
โดยปกติแล้วไข้หวัด ไม่ถึงกับเป็นโรคที่อันตรายอะไร สามารถหายไปได้เองในระยะเวลาไม่กี่วัน แต่ในปัจจุบันเมื่อเป็นไข้หวัดก็มักจะหายยากกว่าเดิม เพราะ สภาวะอากาศที่ย่ำแย่ลง เชื้อโรคที่มีมากขึ้น แถมบางคนไม่สามารถลางานได้ จำเป็นต้องทำงานต่อเนื่องแม้เป็นหวัด ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ อาการก็ไม่หายสักที ดีไม่ดีอาจเจอ ภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัด ยิ่งทำให้ป่วยหนักมากขึ้น!
เป็นหวัดมีไข้ ควรกินยาอะไรดี?
ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่า ไข้หวัดส่วนมากแล้วเกิดจากไวรัส ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียาใดที่จะฆ่าเชื้อไวรัสได้ ยาที่ใช้รักษาไข้หวัดจึงเป็นเพียงยาบรรเทาตามอาการที่เป็น เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก เป็นต้น
บทความนี้จะขอแนะนำ ยาแก้หวัดสูตรผสม ซึ่งสามารถลดอาการไข้และอาการน้ำมูกไหลได้ในเม็ดเดียว ประกอบด้วยยาจำนวน 2-3 ชนิดใน 1 เม็ด ได้แก่ ยาแก้ปวด ลดไข้, ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก และอาจผสมยาแก้คัดจมูกในสูตรยาด้วย สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้
1. ยาสูตรผสม ชนิดที่มีตัวยา 2 ชนิด ใน 1 เม็ด (สูตรที่นิยมใช้บรรเทาหวัดลดไข้ที่สุด) ประกอบด้วย
- ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ปริมาณ 500 มิลลิกรัม สำหรับบรรเทาอาการปวด ลดไข้
- ผสมกับยาคลอเฟนิรามีน มาลีเอต (Chlopheniramine maleate – CPM) ปริมาณ 2 มิลลิกรัม เป็นยาแก้แพ้ บรรเทาอาการหวัด น้ำมูกไหล เป็นต้น
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยากลุ่มนี้ คือ ดีคอลเจน ชนิดเม็ด (Decolgen) เหมาะกับผู้เป็นไข้หวัดที่มีอาการแพ้ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ปวด น้ำมูกไหล จาม เป็นต้น
* ยาชนิดนี้ไม่จัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย สามารถโฆษณา และซื้อขายได้ตามร้านขายยาทั่วไป
ขนาดรับประทานสำหรับยากลุ่มนี้คือ
- ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 6-8 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 6-8 ชั่วโมง
ผลข้างเคียงที่สามารถพบได้บ่อย คือ อาการง่วงนอนจากฤทธิ์ยาคลอร์เฟนิรามีน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเรียน และการทำงาน จึงอาจเปลี่ยนชนิดการใช้ยาเป็นยาแก้แพ้กลุ่มที่ไม่ง่วงนอนในช่วงเวลากลางวัน และใช้ยาแก้หวัดสูตรผสมในเวลากลางคืนแทน
2. ยาสูตรผสมที่มีตัวยา 3 ชนิด ใน 1 เม็ด ประกอบด้วย
- ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ปริมาณ 500 มิลลิกรัม สำหรับบรรเทาอาการปวด ลดไข้
- ผสมกับยาคลอเฟนิรามีน มาลีเอต (Chlopheniramine maleate) ปริมาณ 2 มิลลิกรัม สำหรับบรรเทาอาการแพ้ และช่วยลดน้ำมูก เช่นเดียวกับยาสูตรแรก
- โดยจะเพิ่มตัวยา ฟีนิลเอฟรีน ไฮโดรคลอไรด์ (Phenylephrine HCl) ปริมาณ 10 มิลลิกรัม
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เช่น ดีคอลเจน พริน ชนิดเม็ด (Decolgen Prin Tablet) เหมาะกับผู้ที่เป็นไข้หวัดที่มีอาการคัดจมูกร่วมด้วย เช่น ไข้ ปวด น้ำมูกไหล จาม ร่วมกับอาการคัดจมูก
*ยาสูตรนี้ถือเป็นยาอันตราย ไม่สามารถโฆษณาโดยตรงต่อประชาชนได้ สามารถหาซื้อได้ในร้านขายยาแผนปัจจุบันเท่านั้น
ขนาดรับประทานสำหรับยากลุ่มนี้ คือ
- ผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง
คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ ยาแก้หวัดสูตรผสม ได้แก่
1. ควรใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยา หรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ ควรระมัดระวังการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ระยะ 3 เดือนแรก) และหญิงให้นมบุตร ซึ่งการใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยห้ามหาซื้อยามารับประทานด้วยตัวเอง
2. ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในเด็ก และผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี การใช้ยาจะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ เนื่องจากเด็ก และผู้สูงอายุจะมีการตอบสนองต่อยาที่ไวมากขึ้น ทำให้อาจจะมีอาการง่วงนอน วิงเวียน ประสาทหลอน ความดันโลหิตต่ำ นอนไม่หลับ ปากแห้ง ปัสสาวะคั่ง และบางรายอาจมีอาการชักได้
3. ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอน วิงเวียน สับสน ปากแห้ง ตาพร่า เสมหะเหนียวข้น ปัสสาวะขัด และเม็ดเลือดผิดปกติได้ หลังการรับประทานยาจึงควรหลีกเลี่ยง หรือเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง โดยหากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อการเลือกใช้ยาที่ถูกต้อง และเหมาะสม
ข้อควรรู้ : ยาลดไข้บรรเทาหวัดควรกินเมื่อมีอาการเท่านั้น ห้ามกินก่อนมีอาการ และเมื่ออาการหวัดหรือไข้หมดไป ก็ไม่จำเป็นต้องกินต่อ สามารถหยุดกินได้เลยทันที
นอกจากการเลือกใช้ยาแก้หวัดสูตรผสมเพื่อรักษาอาการไข้หวัดแล้ว ก็อย่าลืมรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สำคัญที่สุดเลยคือ พักผ่อนให้มาก ๆ หลังกินยาไปแล้ว ส่วนวิธีป้องกันหวัดง่าย ๆ คือ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด ไม่ไปสถานที่ที่ผู้คนแออัด และหากเราเป็นหวัดจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยเสมอ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
อ้างอิง : 1. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2. หมอชาวบ้าน