จากกรณีที่มีการพูดถึงกันอย่างแตกตื่น และชาวโซเชียลแห่แชร์กันในโลกออนไลน์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ว่า โรงพยาบาลรามาธิบดี พบผู้ป่วยคนไทยที่กลับมาจากเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับอมิเรตส์ และพ้นระยะการกักตัว 14 วันแล้ว พบว่ามีอาการป่วย และเมื่อเข้ารับการตรวจ กลับพบการติดเชื้อโควิด-19 นั้น ทางด้านกระทรวงสาธารณสุข จึงได้รายงานไว้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ว่าการพบเชื้อในกรณีดังกล่าวเป็นเพียงแค่ ซากเชื้อโควิด-19 เท่านั้น
ประชาชนจึงเกิดการตั้งคำถามว่า ซากเชื้อโควิด-19 คืออะไร? และการพบ ซากเชื้อโควิด-19 นี้ จะสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น ๆ ได้หรือไม่? ไม่ต้องตื่นตระหนกไป มาไขข้อข้องใจนี้ไปพร้อม ๆ กันเลย!
ซากเชื้อโควิด-19 คืออะไร?
อ้างอิงจาก ศ.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ได้กล่าวไว้ว่า
“ไวรัสเป็นทั้งสิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิต ซึ่งมีสารพันธุกรรมแบบสายเดียว หรือ RNA ไม่มีเยื่อบุผนัง หากไวรัสยังไม่ตายก็สามารถทะลุทะลวงเข้าสู่เซลล์ในร่างกายของมนุษย์ และแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ประมาณ 3 วัน
หลังจากนั้นร่างกายมนุษย์จะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาต่อสู้ ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณ 7 วัน กว่าที่ไวรัสจะตาย รวมถึงต้องมีภูมิต้านทานของร่างกายที่มากพอจะต่อสู้กับไวรัส
ทางการแพทย์จึงใช้ยาในการช่วยระงับการเติบโตของไวรัส เพื่อไม่ให้ไวรัสทำลายปอด ซึ่งยาจะสามารถทำลายไวรัสได้ แต่สารพันธุกรรม หรือ RNA นั้น อาจยังตกค้างอยู่ในร่างกายได้ถึง 26–27 วัน ทำให้เกิดการตรวจพบ “ซากเชื้อ” ซึ่งไม่สามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้”
อธิบายง่าย ๆ แบบหมอแล็บแพนด้า
หมอแล็บแพนด้า หรือ นายภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “หมอแล็บแพนด้า” ได้อธิบายถึง ซากเชื้อโควิด-19 ไว้แบบเข้าใจง่าย ๆ ดังนี้…
“ซากเชื้อก็เหมือนซากอ้อยที่เราเคี้ยว แล้วคายทิ้ง เอามาตรวจทางห้องแล็บยังไงก็รู้ว่าเป็นซากอ้อยซึ่งมันเคยเป็นอ้อยมาก่อน แต่จะเอาซากนั้นไปปลูกหรือขยายพันธุ์เพิ่มก็คงไม่ได้ซาก
เชื้อโควิดก็เหมือนกัน ตรวจในห้องแล็บก็รู้ว่าเป็นเชื้อก่อโรคโควิด เพราะเราตรวจเจอชิ้นส่วนดีเอ็นเอของมันแต่มันก่อโรคไม่ได้แล้ว เพราะเหลือแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของร่างกาย มันไม่มีชีวิตแล้ว แต่เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เราก็เลยสามารถตรวจเจอซากของมันได้นั่นเอง
ก่อนจะเป็นซาก มันเคยติดเชื้อในคนนั้น ๆ มาก่อนครับ แต่ร่างกายกำจัดหมดแล้ว คือหายแล้วนั่นแหละ ก็เลยเหลือแต่ซากไวรัสที่คงค้างอยู่ สักพักก็หมดไปจนตรวจไม่เจอ”
เปิด 4 เหตุผล “หมอยง” วิเคราะห์สาเหตุพบ ซากเชื้อโควิด-19 หลังกักตัวครบ 14 วัน
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจพบซากเชื้อโควิด-19 ในผู้ที่พ้นการกักกันโรคแล้ว 14 วัน โดยระบุเป็น 4 ข้อใหญ่ ดังนี้
1. ระยะฟักตัวของโรคส่วนใหญ่จะเป็น 2 ถึง 7 วัน อาจพบได้ถึง 14 วัน และอาจจะเป็นไปได้ น้อยมาก ถึง 21 วัน ดังนั้นในทางปฏิบัติผู้ที่พ้นระยะการกักกันโรคและ 14 วัน มักจะแนะนำให้ไปกักกันที่บ้านต่ออีก 14 วันเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการป้องกัน การกระจายโรค
2. การตรวจพบเชื้อหลังจาก 14 วันไปแล้ว ก็เป็นไปได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อเกิดขึ้นในช่วง 14 วัน ที่อยู่ในสถานที่กักกัน ในอดีตเช่นในเรือสำราญ ดังนั้นในสถานที่กักกัน เราจึงเคร่งครัด ไม่ให้มีการพบปะกัน ระหว่าง ผู้ที่กักกันด้วยกัน หรือบุคคลภายนอก
3 ผู้ป่วยนั้นมาติดเชื้อในประเทศไทย โอกาสนี้เป็นไปได้น้อยมาก ขณะนี้ไม่พบการติดต่อเกิดขึ้นในประเทศไทยมากว่า 80 วันแล้ว
4 มีความเป็นไปได้ที่ผู้นั้นติดเชื้อมาจากต่างประเทศ หรือป่วยอยู่ต่างประเทศแล้ว และเมื่อมาถึงเมืองไทย เชื้อมีปริมาณน้อย ในบางช่วงก็ตรวจไม่พบ และต่อมา หรือบางช่วง ก็ตรวจพบ
อย่างเช่นการระบาดในรอบแรกของเรา เราได้ทำการศึกษาร่วมกับ สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย กทม พบว่า ก่อนกลับจากโรงพยาบาลตรวจไม่พบเชื้อแล้ว หลังจากนั้นเราติดตาม ก็ยังมีการพบเชื้อ แต่เชื้อมีปริมาณน้อยมาก
ในการติดตามระยะยาวที่เราทำการศึกษา จำนวน 212 ราย พบว่าในช่วง 4-12 สัปดาห์ หลังจากที่มีอาการ และผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว เรายังตรวจพบเชื้อได้ประมาณร้อยละ 6.6 ของผู้ป่วย เราได้เผยแพร่ในวารสาร https://www.biorxiv.org/…/10.1…/2020.07.17.208439v1.full.pdf
เราพบไวรัสได้หลังจากมีอาการ 36– 105 วัน แต่ปริมาณไวรัสที่พบน้อยมาก
ดังนั้นการพบเชื้อดังกล่าว ผู้ป่วยไม่มีอาการ รวมทั้งการตรวจปริมาณไวรัส ถ้ามีเป็นจำนวนน้อย โอกาสที่จะแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นก็น้อยมาก ๆ ดังข้อมูลในการระบาดรอบแรก ที่เราได้ทำการศึกษาถึงแม้จะตรวจพบเชื้อ ก็ไม่พบว่าแพร่กระจายไปสู่ผู้ใดเลย
อ่านบทความเพิ่มเติมของหมอยง ได้ที่ —>
ตอบประเด็นร้อน COVID-19 โดย ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ
สรุปแล้ว ซากเชื้อโควิด-19 สามารถแพร่กระจายไปสู่คนอื่นได้หรือไม่?
จากคำตอบของศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ได้แถลงข่าวไว้ว่า เศษซากเชื้อโควิด-19 นั้น มีโอกาสแพร่เชื้อน้อยมาก ๆ และมีโอกาสแบ่งตัวให้เป็นรูปร่างได้ยาก และได้ทำการตรวจผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายล่าสุด (ผู้หญิงที่เป็นกรณี พบซากเชื้อโควิด-19) พบว่า ไม่มีใครติดเชื้อโควิด-19 เลย
จึงขอให้ประชาชนได้สบายใจ และยังไม่ถือว่าเป็นการระบาดระลอกสอง ไม่ต้องตื่นตระหนกใดใด และขอให้ประชาชน และหน่วยงานรัฐ ช่วยกันในเรื่องระเบียบวินัย เช่น
- ล้างมือให้นาน 20 วินาทีเป็นอย่างน้อย หรือใช้แอลกอฮอล์เจลในการล้างมือ
- ป้องกันตนเองด้วยการใช้หน้ากากอนามัย (ได้ทั้งหน้ากากผ้า หรือ หน้ากากอนามัย) อยู่เสมอ
- การกำหนดระยะห่าง หรือ Social Distancing
บทเรียนออนไลน์สำหรับนักเรียน และประชาชน ที่สนใจเรื่องโควิด-19
โครงการนี้จัดทำโดยสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
โรคโควิด-19 เป็นโรคใหม่ จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ และทำความเข้าใจ การเรียนออนไลน์ เป็นรูปแบบการเรียนรู้อย่างหนึ่ง เข้ากับสถานะการณ์การระบาด จึงอยากใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาส เพื่อเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด 19 และองค์ความรู้ในการดูแล ปกป้อง ป้องกันโรค และการระบาดของโรค
บทเรียนนี้ มี 8 บท หนึ่งบทมี 4-6 ตอน ถ่ายทอดความรู้เป็นตอน ๆ โดยทำในรูปแบบคลิปวิดีโอสั้น ผสมกับ เนื้อหาความรู้ และมีแบบทดสอบ เพื่อเรียนรู้ด้วยตนเองแบบออนไลน์
เรียนออนไลน์ได้ที่นี่ —> https://learningcovid.ku.ac.th
สุดท้ายนี้ อย่าลืมสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ แยกของใช้ เว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันโรค covid-19 และหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
อ้างอิง :
- https://www.thaigov.go.th/
- https://www.facebook.com/MTlikesara
- https://www.facebook.com/yong.poovorawan
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife