โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อากาศ หรือ โรคภูมิแพ้จมูก ประเด็นสุขภาพยอดฮิตของคนไทยที่เป็นได้ทั้งปี และถูกถามเข้ามาบ่อยในบอร์ด GED : Ask Expert โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย และมีแนวโน้มจะเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทย เพราะ อากาศที่แย่ลงทุกวัน ทั้ง PM2.5 ควัน ไรฝุ่น และอื่น ๆ ล้วนเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้จมูกได้ ฉะนั้นอย่างนิ่งนอนใจ ตามมาดูสาเหตุ อาการ และวิธีรักษาเจ้าโรคนี้กันดีกว่า
โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อากาศ คืออะไร ?
โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อากาศ (Allergic Rhinitis) หรือ “เยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้” บางคนอาจเรียก “โรคภูมิแพ้จมูก” คือ ภาวะอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก ที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เนื่องจากมีการสัมผัส หรือหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้ที่ตนเองแพ้เข้าสู่ร่างกาย เช่น ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ฝุ่นละออง เป็นต้น
เมื่อมีสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย สารอิมมูโนโกลบูลินอี (Immunoglobulin E: IgE) ที่ถูกสร้างขึ้น จะเข้าทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ที่หายใจเข้าไป แล้วก่อให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุจมูก ทำให้มีอาการต่าง ๆ ได้แก่ คัดจมูก มีน้ำมูกไหล คันจมูก และจาม เป็นต้น
โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อากาศ เป็นโรคที่มีอาการเรื้อรัง และมักจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ โรคหืด เป็นต้น การหาโรคภูมิแพ้อื่นที่อาจเป็นอยู่ด้วยมีความสำคัญมาก เพราะถ้ารักษาโรคภูมิแพ้เพียงโรคเดียว แต่โรคภูมิแพ้อื่นที่เป็นอยู่ไม่ได้รับการรักษา ก็จะทำให้ไม่สามารถคุมอาการโรคภูมิแพ้ทั้งหมดได้
สาเหตุที่ทำให้เกิด โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อากาศ
- พันธุกรรม หรือ กรรมพันธุ์ ที่ถ่ายทอดมาจาก พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย (แต่กรรมพันธุ์อย่างเดียวก็อาจจะไม่แสดงอาการให้เห็น ต้องประกอบด้วยปัจจัยอื่นร่วมด้วย)
- ฝุ่นละออง มลภาวะเป็นพิษ pm2.5
- ไรฝุ่นในบ้าน เช่น ในห้องนอน ห้องนั่งเล่น
- แมลงสาบ
- อากาศเย็น อากาศร้อน อากาศแปรปรวนบ่อย
- เกสรดอกไม้
- ขนสัตว์เลี้ยง เช่น ขนหมา ขนแมว และรังแคจากสัตว์
- ควันบุหรี่ ควันรถ ควันธูป
- สารเคมี น้ำหอม
รู้หรือไม่? จากการศึกษารวบรวมประวัติการแพ้ของเด็กไทย ตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2013 พบว่าอันดับ 1 ที่คนไทยแพ้มากที่สุด คือ ไรฝุ่น (พบมากถึง 82.4% รองลงมาคือ แมลงสาบ และรังแคจากสัตว์ (สุนัข และแมว) ตามลำดับ
อาการของ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อากาศ มีอะไรบ้าง?
แม้ว่าอาการของโรคนี้มักไม่รุนแรง แต่มีผลต่อการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมของผู้ป่วย ทั้งการเรียน การทำงาน และประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง โดยอาการของผู้ที่เป็นภูมิแพ้จมูก มีดังนี้
– อาการคัน เช่น คันในจมูก หรืออาจคันไปถึงในคอ เพดาน อาจคันที่หัวตา หรืออาจคันไปถึงหูก็ได้
– อาการจาม ติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง
– เจ็บคอ แสบจมูกมาก
– มีน้ำมูกใส ๆ ตามมาหลังจากอาการจาม
– แน่นจมูก หรือหายใจทางจมูกไม่สะดวก เพราะเนื้อเยื่อในจมูกบวมขึ้น มีน้ำมูกไหลลงคอ
– หูอื้อ หรือมีเสียงดังในหู
– ขอบตาดำคล้ำ เป็นปัญหาที่พบบ่อยในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้จมูกเรื้อรัง สาเหตุเกิดจาก เยื่อจมูกบวมเรื้อรัง ทำให้เกิดเลือดคั่งที่ขอบตาล่าง มักบวมบ่อยเวลาตื่นนอน เมื่อทิ้งไว้นาน ๆ ก็จะกลายเป็นสีคล้ำดำได้
– ผู้ที่เป็นมากอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ เส้นเสียงอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ภูมิแพ้ลามขึ้นท่อน้ำตา คันหัวตาอย่างรุนแรง มีเลือดไหลออกทางจมูก และปาก (เกิดจากเส้นเลือดฝอยเปราะ-แตก เพราะเป็นภูมิแพ้หนัก หรือ ไปแคะจมูกบ่อยครั้ง)
– ผู้ป่วยโรคหอบหืด มักพบว่ามีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วยถึงร้อยละ 50-85 เมื่อผู้ป่วยมีอาการทางจมูกมากขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบมากขึ้นได้ และในทางตรงกันข้าม ถ้าได้ควบคุมอาการของโรคจมูกได้ดี ก็จะทำให้อาการหอบหืดน้อยลงด้วย
รู้หรือไม่? – จากสถิติของคลินิกโรคภูมิแพ้ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา โรงพยาบาลศิริราช พบว่า ในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อากาศ ทั้งหมด 217 ราย
- ผู้ป่วยมี อาการคัดจมูก มากที่สุด ร้อยละ 77.3
- รองลงมาคือ อาการน้ำมูกไหล ร้อยละ 63.2
- อาการจาม ร้อยละ 56.2
- และอาการคันจมูก ร้อยละ 54.7
ไข้หวัดทั่วไป vs โรคภูมิแพ้อากาศ แตกต่างกันอย่างไร?
อาการของไข้หวัดทั่วไป (common cold) กับ โรคภูมิแพ้อากาศ (allergic rhinitis) อาจมีอาการคล้ายกันจนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสับสนได้ว่าเรากำลังป่วยเป็นอะไรกันแน่ งั้นมาดูความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ระหว่าง ไข้หวัดทั่วไป กับ โรคภูมิแพ้อากาศ กัน
ไข้หวัด – เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้ผู้ป่วยมีไข้ขึ้นสูงเกินกว่า 36.5 องศาเซลเซียส อ่อนเพลีย ปวด หรือมึนศีรษะ คัดจมูก น้ำมูกไหล (ใส หรือขุ่น) ไอมีเสมหะ อาการจะดีขึ้นเมื่อรับประทานยาลดไข้ และนอนพักผ่อนให้มาก ๆ
โรคภูมิแพ้อากาศ – หรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อากาศ มีต้นเหตุของโรคที่แตกต่างจากไข้หวัด คือ ร่างกายได้รับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ฝุ่น ควัน pm 2.5 ขนสัตว์ เป็นต้น และไม่มีอาการไข้ขึ้นสูงแบบไข้หวัด นอกนั้นอาการอาจจะคล้าย ๆ กับไข้หวัดได้ อาการจะดีขึ้นได้เมื่อรับประทาน ยาแก้แพ้ และ ไม่รับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้
กล่าวโดยสรุปแล้ว อาการที่แตกต่างกันชัดเจนระหว่างไข้หวัดทั่วไป กับ โรคภูมิแพ้อากาศ ก็คือ
- ไข้หวัดจะมีไข้ขึ้นสูง // ภูมิแพ้อากาศจะไม่มีไข้
- ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส // โรคภูมิแพ้อากาศ เกิดจากสารกระตุ้นที่ทำให้ร่างกายเกิดอาการแพ้ขึ้นมา
วิธีดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อากาศ
1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ ข้อนี้สำคัญที่สุดสำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้ โดยสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย เช่น ฝุ่นละออง PM2.5 ควันรถยนต์ เกสรดอกไม้ ไรฝุ่น ขนสัตว์ เป็นต้น
2. การนอนหลับพักผ่อน ไม่ควรเข้านอนดึกจนเกินไป เพราะในช่วงหลังจาก 5 ทุ่มเป็นต้นไป จะเป็นช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการซ่อมแซม และฟื้นฟูปรับสมดุล การนอนดึกจะไปทำลายระบบการฟื้นฟูของภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดภูมิแพ้ขึ้น
อ่านเพิ่มเติม —> ฮาวทูนอน “นอนเพื่อสุขภาพ” ควรนอนอย่างไรดี?
3. ป้องกันความเย็น รักษาความอุ่น ไม่ควรเปิดเครื่องปรับอากาศในอุณหภูมิที่ต่ำเกินไป ควรใส่เสื้อนอนที่มิดชิดเพื่อป้องกันความเย็นที่อาจกระทบต่อร่างกายได้ มีการทดสอบกับผู้ป่วยในหลายราย พบว่าสามารถค่อย ๆ ลดอาการจาม น้ำมูกไหลได้
4. รักษาความอบอุ่นบริเวณแผ่นหลัง ผู้ป่วยที่เป็นภูมิแพ้จมูกมักจะมีอาการเย็นบริเวณแผ่นหลัง ดังนั้นควรป้องกันให้แผ่นหลังอบอุ่นตลอดเวลา
5. ล้างจมูก ฉีด หรือเทน้ำเกลือจากรูจมูกข้างหนึ่งให้ไหลผ่านโพรงจมูกแล้วไปออกรูจมูกอีกข้างหนึ่ง โดยการล้างด้วยน้ำเกลือนี้จะช่วยลดอาการคัดจมูกจากน้ำมูก หรือระคายเคืองจากสารก่อภูมิแพ้ทั้งหลาย และเป็นวิธีที่มีการยืนยันแล้วว่าใช้ได้ผลจริง (ถ้ายังไม่เคยทำการฉีดน้ำเกลือเข้าโพรงจมูก ควรได้รับคำแนะนำจากเภสัชกร หรือ ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ)
6. กินยาแก้แพ้ ยาแก้แพ้ลอราทาดีน เป็นยาต้านฮิสตามีน (anti-histamine) ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคภูมิแพ้ได้ดี และไม่ทำให้ง่วงซึมระหว่างวัน (บางรายอาจง่วงซึมได้) กินเพียงวันละ 1 เม็ด และควรพักผ่อน นอนหลับให้มาก ๆ จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้
อ่านบทความเพิ่มเติม —> รู้มั้ย ลอราทาดีน คือยาอะไร ทำอะไรได้บ้าง?
7. สวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ ถ้ารู้ตัวว่าต้องเผชิญกับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เราแพ้ เช่น ออกไปนอกบ้าน ต้องเจอกับควัน ฝุ่น pm2.5 ก็ให้สวมหน้ากากอนามัยไว้ก่อนเสมอ เพื่อลดการรับสารกระตุ้นเข้าทางจมูก
8. ออกกำลังกายให้แข็งแรง เพื่อเสริมภูมิต้านทานโรค เมื่อร่างกายมีภูมิต้านทานที่ดี ก็จะลดโอกาสการเป็นภูมิแพ้ได้มากขึ้น
9. ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ปัจจุบันมลพิษทางอากาศเยอะมาก การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศไว้ใช้ภายในบ้าน เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น เป็นต้น จึงเป็นตัวเลือกสำคัญที่จะช่วยให้สุขภาพ และอาการภูมิแพ้ของเราดีขึ้นได้นั่นเอง
อ้างอิง : 1. ccmed.up.ac.th 2. rcot.org 3. mgronline.com 4. si.mahidol.ac.th 1 / 2