โรคอันตรายที่มาพร้อมกับสายฝน ทำให้พ่อแม่หลายคนกังวล ไม่เพียงแค่ไข้หวัดทั่วไปเท่านั้น แต่บางโรคก็อาจจะอันตราย เสี่ยงถึงชีวิตได้เลย โรคจากไวรัสหน้าฝน สำหรับเด็ก มีโรคอะไรบ้าง แล้วควรดูแล ป้องกันอย่างไร
3 โรคจากไวรัสหน้าฝน
1. ไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี มี “ยุงลาย” เป็นพาหะ บางคนที่ติดเชื้อ อาจมีอาการรุนแรง จนกลายเป็นไข้เลือดออกเดงกี (Dengue hemorrhagic fever) ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
อาการของไข้เลือดออก
อาการไข้เลือดออก แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะแรก (ระยะไข้สูง)
- อาจยังไม่รู้ว่าเป็นไข้เลือดออก เพราะมีอาการแค่เป็นไข้
- มีไข้สูง และเป็นหลายวัน (ประมาณ 5-6 วัน)
- ปวดเมื่อยตัว
- อาจคลื่นไส้อาเจียนด้วย
- ถ้ามีอาการในช่วงฤดูฝน หรือ ช่วงไข้เลือดออกระบาด ควรไปพบแพทย์
- ระวัง ถ้ามีไข้ ให้ใช้ ยาพาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน และไอบูโพรเฟน ซึ่งอาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร และเกิดปัญหาเลือดออกในกระเพาะอาหาร รวมถึงเลือดไม่แข็งตัว
ระยะวิกฤติ
- มักมีไข้มาแล้วหลายวัน
- ลูกจะเริ่มเพลียมากขึ้น อาจมีอาการปวดเมื่อยตัวมากขึ้น
- มีอาการปวดท้อง ท้องอืด เบื่ออาหาร
- ผิวหน้า-ฝ่ามือ-ฝ่าเท้า ดูแดง ๆ
- ในช่วงนี้เด็กบางคนอาจพูดคุยได้ดี
- หากเด็กมีอาการกระสับกระส่าย อาเจียนมาก ปวดท้องมาก ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวเย็นผิดปกติ ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด อาจกำลังเข้าสู่ระยะช็อก
ระยะฟื้นตัว
- เป็นระยะหลังไข้ลงโดยไม่มีอาการช็อก โดยเกล็ดเลือดจะเริ่มกลับสูงขึ้น
- ชีพจร และความดันโลหิตเริ่มคงที่ดีขึ้น
- ปัสสาวะเริ่มออกมากขึ้น
- อาการปวดท้อง และท้องอืดจะดีขึ้น
- รู้สึกมีแรงมากขึ้น
- มักพบผื่นแดง และคันตามฝ่ามือ และฝ่าเท้าโดยไม่มีการลอกตัวของผิวหนัง
การรักษาโรคไข้เลือดออก
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออกโดยเฉพาะ ดังนั้นการรักษาหลักจึงเป็นการรักษาตามอาการเพื่อประคับประคองให้ร่างกายของผู้ป่วยกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เช่น
- ให้ยาลดไข้แก้ปวด
- เช็ดตัวลดไข้
- ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ
- กินยาพาราเซตามอลลดไข้
- ห้ามให้ยาลดไข้ที่มีส่วนผสมของแอสไพริน
- ในรายที่อาการไม่รุนแรงอาจหายได้เองภายใน 2-7 วัน
- เฝ้าระวังไม่ให้เกิดอาการช็อค
ดูแล ป้องกันไข้เลือดออกอย่างไรดี ?
- วิธีที่ดีที่สุด คือ ป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด
- สวมใส่เสื้อผ้าให้ลูกปกปิดมิดชิด
- ติดมุ้งลวด ปิดบ้านให้มิดชิด ไม่เปิดบ้านทิ้งไว้
- ใช้สารไล่ยุงชนิดต่าง ๆ เช่น DEET
- ใช้สติ๊กเกอร์กันยุงติดตามเสื้อผ้าของลูก
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน เช่น ท่อระบายน้ำ แจกัน อ่างน้ำ ฯลฯ
2. ไวรัส RSV
ไวรัส RSV เป็น โรคจากไวรัสหน้าฝน ที่เกิดจากเชื้อ RSV – Respiratory Syncytial Virus มี 2 สายพันธุ์ คือ RSV-A และ RSV-B เป็นไวรัสทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และมีการระบาดเกือบทุกปีที่เด็ก ๆ เป็นกันเยอะ โดยเฉพาะในช่วงอากาศชื้น ในหน้าฝน
มีอาการที่ดูเหมือนคล้ายเป็นหวัด แต่ไวรัส RSV ส่งผลกับหลอดลม หากมีอาการรุนแรง หรืออาการแทรกซ้อน อาจทำให้เสียชีวิตได้เนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ติดต่อกันได้โดยการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ
อาการของไวรัส RSV
- อาการเริ่มแรก อาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล
- ถ้าอาการรุนแรงอาจ มีไข้สูง คือไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส
- กินอาหาร หรือกินนมไม่ได้ มีอาการซึมลง
- หายใจลำบาก หอบ
- ปากเขียว ตัวเขียว
- มีอาการไอหอบรุนแรงจนชายโครงหรือหน้าอกบุ๋ม
- หายใจสั้น ๆ เร็ว ๆ เวลาหายใจมีเสียงวี๊ด
ไวรัส RSV รักษาอย่างไรดี ?
ไวรัส RSV เป็นโรคจากเชื้อไวรัส ซึ่งคล้าย ๆ กับไข้หวัดซึ่งยังไม่มีรักษาได้ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ
- มีไข้ เช็ดตัวลดไข้ ให้ยาลดไข้
- มีอาการไอ มีเสมหะ ให้กินยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ
- ถ้าเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมหรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอด และดูดเสมหะออก
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- กินอาหารอ่อน ๆ กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำเยอะ ๆ
วิธีป้องกัน ไวรัส RSV
- ล้างมือ ฟอกสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ ให้ลูกล้างมืออย่างน้อย 20 วินาที
- ให้เด็ก ๆ พกเจลแอลกอฮอล์ 70% ติดตัวไว้ เมื่อต้องออกนอกบ้าน
- หลีกเลี่ยงการไปที่ที่แออัด
- สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปที่ที่คนเยอะ ๆ
- ระวังไม่ให้ผู้ใหญ่จูบ หอมแก้มเด็ก อาจทำให้ลูกติดเชื้อไวรัส RSV ได้
- ทำความสะอาดข้าวของ เครื่องใช้ ของเล่นที่ลูก ๆ ให้สะอาดเสมอ
- พ่อแม่ คนในบ้านควรงดสูบบุหรี่
- ถ้าที่โรงเรียนมีเด็กป่วยจากไวรัส RSV ควรให้ลูกหยุดเรียนเพื่อป้องกันการติดต่อ
3. โรคมือเท้าปาก
มือเท้าปาก หรือ มือเปื่อยปากเปื่อย เป็นอีกหนึ่งโรคจากเชื้อไวรัสที่เด็ก ๆ เป็นกันมาก และมักระบาดช่วงฤดูฝน สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส (Enterovirus) มีหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง แต่หากเกิดจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) หรือ อีวี 71 (EV71) อาจทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
อาการของ โรคมือเท้าปาก
- มีอาการไข้
- เจ็บปาก น้ำลายไหล กินอาหารได้น้อย
- มีแผลที่กระพุงแก้ม เพดานปาก
- มีผื่นเป็นจุดแดง หรือตุ่มน้ำใสบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้น และอวัยวะเพศ
- อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขาได้
มักมีอาการประมาณ 2-3 วันและดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง
หากมีไข้สูง ซึม กินอาหารไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก ต้องรีบพาลูกไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดอาการแทรกซ้อน ภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือนํ้าท่วมปอด ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
อ่านเพิ่มเติม —> โรคมือเท้าปาก โรคร้ายที่มากับหน้าฝน!
โรคมือเท้าปาก รักษาอย่างไร ?
- โรคมือเท้าปาก ยังไม่มียารักษา และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
- ถ้าอาการไม่รุนแรง ให้รักษาตามอาการ
- กินยาลดไข้ ยาแก้หวัด เมื่อมีอาการไข้ ปวดเมื่อย
- ให้ยาทาแก้ปวด ในรายมีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม
- รับประทานอาหารอ่อน ๆ
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- ดูแลไม่ลูกแกะเกา สัมผัส ตุ่มน้ำ ผื่นที่ขึ้นตามตัว
การป้องกันโรคมือเท้าปาก
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะตอนก่อนและหลังรับประทานอาหาร หรือว่าหลังจากเข้าห้องน้ำ
- ทำความสะอาดของเล่น ข้าวของเครื่องใช้ที่ลูกต้องสัมผัส
- ไม่ให้ลูกใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกันกับคนอื่น
- ให้ลูกหยุดเรียน ถ้าที่โรงเรียนมีเด็กป่วยจากมือเท้าปาก อาจใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน
- ดูแลร่างกายให้แข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อน และออกกำลังสม่ำเสมอ
หลาย ๆ โรคอันตรายของเด็ก โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส มักแพร่ระบาดในช่วงเปิดเทอม ที่เด็ก ๆ มาอยู่รวมกันมาก ๆ ดังนั้นต้องป้องกัน ดูแลสุขอนามัย ความสะอาด และดูแลลูกให้แข็งแรง คอยหมั่นสังเกตร่างกายของลูก ถ้าลูกมีอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น เช่น มีไข้ มีอาการไอ ต้องรีบรักษา
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife