เมื่อมีอาการไอค่อก ๆ แค่ก ๆ ทนไม่ไหวต้องเข้าร้านยา ก็มักจะเจอคำถามจากเภสัชกรผู้จ่ายยาว่า อาการไอของเราเป็นแบบไหน เช่น ไอแห้ง ๆ หรือ ไอมีเสมหะ? เจอคำถามนี้เข้าไป คนไข้ถึงกับตอบไม่ถูกเลยทีเดียว ว่าอาการไอของเราเป็นแบบไหนกันแน่นะ งั้นมาเคลียร์กันชัด ๆ กับ GedGoodLife ไปเลยว่า ไอมีเสมหะ VS ไอแห้ง ๆ แตกต่างกันอย่างไร? จะได้เข้าใจกันถูกต้อง ตามมาดูกันเลย!
อาการไอ คืออะไร?
อาการไอ (Cough) เป็นการตอบสนองของร่างกายเมื่อมีสิ่งแปลกปลอม หรือมีการระคายเคืองเกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจ ร่างกายจะมีการส่งกระแสประสาทไปยังสมอง และกระตุ้นให้เกิดการไอขึ้น อาการไอยังเป็นกลไกป้องกันสำคัญของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค เสมหะ ออกมาภายนอกนั่นเอง (ถ้าเสมหะค้างในปอด จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาอย่างมาก)
โดยปกติแล้ว อาการไอ เกิดจากสาเหตุที่ไม่รุนแรงนัก และหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ สิ่งที่สำคัญ คือถ้าเกิดอาการไอ เราควรพิจารณาหาสาเหตุการไอ และให้การรักษาที่เหมาะสม และถ้ามี อาการไอเรื้อรัง รุนแรง อาจเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยต่อไป
สาเหตุของอาการไอที่พบได้บ่อย ได้แก่
- การสูบบุหรี่ กินของทอด ของเย็นจัด
- ภาวะโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหืด หรือภูมิแพ้โพรงจมูก (ที่มีน้ำมูกไหลลงคอ)
- การติดเชื้อเรื้อรังในปอด เช่น วัณโรค ภาวะเนื้องอกของระบบทางเดินหายใจ
- ยาบางชนิด ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดอาการไอได้เช่นกัน
- กรดไหลย้อน
อาการไอที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ และเป็นเหตุให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่ดี อยากหายไวไว จนต้องเดินเข้าร้านขายยา หรือ ไปพบแพทย์ ก็มักจะเป็น อาการไอมีเสมหะ และ ไอแห้ง ซึ่งอาการไอทั้งสองอย่างนี้มีความแตกต่างกัน ดังนี้
ไอมีเสมหะ คืออะไร ?
ไอมีเสมหะ (Wet cough) คือ อาการไอร่วมกับของเหลวเป็นเมือกเหนียวข้นออกมาขณะไอด้วย โดยเมือกเหนียว ๆ ที่ออกมาพร้อมตอนไอ ก็คือ เสมหะ นั่นเอง ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก กลืนลำบาก ตามหลักแพทย์แผนไทย คนธาตุน้ำมักไอมีเสมหะ (แพทย์แผนไทยเรียก ไอเปียก) และมักจะเกิดขึ้นช่วงอากาศเย็น
เสมหะ หรือ เสลด (Phlegm) เป็นสารคัดหลั่งที่ถูกสร้างขึ้นจากต่อมสร้างสารคัดหลั่ง ที่อยู่ในเยื่อบุทางเดินหายใจ เสมหะประกอบด้วยน้ำร้อยละ 95 และอีกร้อยละ 1 ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และสารอินทรีย์
สีของเสมหะอาจช่วยบอกโรคได้นะ
สีของเสมหะอาจนำมาใช้วินิจฉัยโรคในเบื้องต้น ดังนี้
เสมหะสีใส – โรคภูมิแพ้ โรคปอดบวม และโรคหลอดลมอักเสบ
เสมหะสีขาว – โรคหลอดลมอักเสบ โรคกรดไหลย้อน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และภาวะหัวใจล้มเหลว
เสมหะสีเขียวหรือเหลือง – โรคปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบ โรคไซนัสอักเสบ
เสมหะสีแดง – เป็นสัญญาณของภาวะเลือดออกภายในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว โรคมะเร็งปอด โรคฝีในปอด โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด และวัณโรค
* นอกจากนี้ หากมีเสมหะสีน้ำตาล นั่นอาจหมายถึง มีเลือดเก่าที่ค้างอยู่ภายในร่างกาย ได้ปะปนออกมาพร้อมกับเสมหะ อาจเป็นอาการที่เกิดจากโรคปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบ โรคพยาธิในปอด โรคฝีในปอด และโรคฝุ่นจับปอด (Pneumoconiosis) ที่เกิดจากการหายใจนำเอาฝุ่นเข้าไปในปอดเป็นจำนวนมาก
เสมหะสีดำ – โรคฝีในปอด โรคฝุ่นจับปอด โรคที่เกิดจากการติดเชื้อรา รวมถึงการสูบบุหรี่
นอกจากนี้
ควรพบแพทย์ หากมีไอมีเสมหะที่รุนแรงกว่าปกติ มีเสมหะมากขึ้น หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
สาเหตุของอาการไอมีเสมหะ ได้แก่
- โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ภูมิแพ้ หรือโรคหืด
- สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าเป็นประจำ
- อยู่ในที่เย็น ที่ชื้นเป็นประจำ หรือเข้าฤดูหนาวอากาศเย็นตัวลง
- การระคายเคือง หรือ ติดเชื้อเรื้อรังบริเวณลำคอ
- โรคหลอดลมอักเสบ
- ปอดบวม หรือปอดอักเสบ
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- ไซนัสอักเสบ
การดูแลตนเองจากอาการไอมีเสมหะ
1. พยายามขับน้ำมูก และเสมหะออกมา – การขับเสมหะออกมาเป็นวิธีการกำจัดเสมหะที่ดีที่สุด สิ่งที่ไม่ควรทำคือ อย่ากลืนเสมหะลงคอ
2. ดื่มน้ำให้มากขึ้น – การดื่มน้ำสะอาด หรือดื่มน้ำอุ่น (ไม่ควรดื่มน้ำเย็นในช่วงที่ไอมีเสมหะ) ทุกชั่วโมง จะช่วยละลายเสมหะ ทำให้ร่างกายขับเสมหะออกมา และยังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไปด้วย
3. ใช้ไอน้ำช่วย – การใช้ไอน้ำจะช่วยทำให้น้ำมูก และเสมหะในช่วงอก จมูก และคอแตกตัวออก ซึ่งจะทำให้เสมหะถูกขับออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น สำหรับวิธีทำคือ ต้มน้ำ 1 หม้อ ผสมกับน้ำมันยูคาลิปตัส 2-3 หยด จากนั้นก้มหน้าลงไปเหนือชามน้ำร้อน สูดหายใจเข้าเอาไอน้ำเข้าไปหลาย ๆ นาที
4. หายใจเข้าออกลึก ๆ – การหายใจเข้าและออกลึก ๆ ติดต่อกันสัก 5-7 ครั้ง จะช่วยให้ถุงลมขยายใหญ่ขึ้น และฟีบลงสลับกัน วิธีนี้จะทำให้เสมหะหลุดออกจากถุงลม และระบายสู่หลอดลมใหญ่ได้ง่าย
5. ทานยาละลายเสมหะ – ยาละลายเสมหะ เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยตรงต่อโครงสร้างของเสมหะ โดยการลดแรงตึงผิวของเสมหะ จึงช่วยลดความเหนียวของเสมหะ ทำให้ร่างกายกำจัด หรือขับเสมหะออกได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างยาคือ คาร์โบซิสเทอีน (Carbocisteine) เป็นต้น
ตัวยาในกลุ่มนี้ได้แก่ คาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine), บรอมเฮกซีน (Bromhexine), อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine), แอมบร็อกซอล (Ambroxol)
ไอแห้ง คืออะไร และมีอาการอย่างไร?
อาการไอแห้ง หรือ ไอไม่มีเสมหะ (Dry Cough) เป็นอาการไอจากอาการคัน และระคายเคืองภายในลำคอ ไม่มีเสมหะ หรือมูกเมือกข้นออกมา มีลักษณะเหมือนคอแห้ง ไม่มีน้ำลาย อาจมีอาการไอรุนแรงขึ้นในเวลากลางคืน เวลาไอจะรู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างติดที่ลำคอ รู้สึกคัน หรือระคายคอ, คอแห้ง, เสียงอาจแหบ, รู้สึกอยากจะกลืนบ่อย ๆ ตามหลักแพทย์แผนไทย คนธาตุไฟมักจะมีอาการไอแห้ง และจะเกิดขึ้นช่วงอากาศร้อน ๆ
สาเหตุของอาการไอแห้ง ไม่มีเสมหะ ได้แก่
- การระคายเคืองจาก ไรฝุ่น หรือ เชื้อไวรัสจากไข้หวัดลงคอ เป็นต้น
- โรคภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- โรคหอบ หืด
- ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต (อาจทำให้เกิดอาการไอกลางคืนได้)
- โรคกรดไหลย้อน โดยเฉพาะตอนกลางคืน
- ไซนัสอักเสบ
- มะเร็งปอดระยะแรก
ในบางกรณีการไอแห้งอาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคร้ายได้ ดังนั้น หากมีอาการไออย่างต่อเนื่อง หรือรุนแรงควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ
วิธีรักษาอาการไอแห้ง หรือ ไอไม่มีเสมหะ แบบไม่ต้องไปพบแพทย์
1. ดื่มน้ำให้เพียงพอ – การดื่มน้ำจะช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายสามารถทำงานได้อย่างปกติ
2. ผสมน้ำผึ้งกับน้ำมะนาวอุ่น ๆ – การจิบน้ำผึ้งก่อนนอนในปริมาณ 2 ช้อนชาอาจช่วยบรรเทาอาการไอในเวลากลางคืนและยังช่วยให้นอนหลับสนิทมากขึ้นด้วย
3. บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ – เชื่อกันว่าเกลือมีสรรพคุณต้านการอักเสบ ต้านเชื้อโรค และช่วยสมานแผล ซึ่งการบ้วนปากและกลั้วคอด้วยน้ำเกลือจึงอาจช่วยบรรเทาอาการไอแบบไม่มีเสมหะได้
4. สมุนไพร – สมุนไพรบางชนิดก็มีฤทธิ์ในการต้านอาการอักเสบ เช่น มะข้ามป้อม มะแว้ง รากชะเอมเทศ ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น
5. หลีกเลี่ยงสารก่อระคายเคือง – การสัมผัสกับสารก่อระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ควันธูป สารเคมี ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์ เป็นต้น เป็นอีกสาเหตุของการระคายเคืองในลำคอ
6. พักผ่อนให้เพียงพอ – การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการฟื้นฟูร่างกาย และช่วยให้อาการไอแห้งดีขึ้นได้ในไม่กี่วัน
สรุปแล้ว ไอมีเสมหะ VS ไอแห้ง แตกต่างกันอย่างไร?
อาการที่แตกต่างกันชัดเจนระหว่างไอมีเสมหะ กับ ไอแห้ง ก็คือ
- อาการไอมีเสมหะ จะมีเสมหะร่วมกับอาการไอด้วย
- แต่อาการไอแห้ง จะมีลักษณะเหมือนคอแห้ง ไม่มีน้ำลาย ไม่มีเสมหะ
ข้อแตกต่างอื่น ๆ ตามหลักแพทย์แผนไทยได้กล่าวไว้ ได้แก่
- อาการไอมีเสมหะ มักเกิดเวลาอากาศเย็น // อาการไอแห้ง มักเกิดในเวลาอากาศร้อน
- คนธาตุน้ำ มักไอมีเสมหะ // คนธาตุไฟ มักไอแห้ง
- คนชอบของขมของเย็น น้ำเย็น มักจะไอมีเสมหะ // คนชอบกินเผ็ดของร้อน จะไอแห้ง
ส่วนสาเหตุของอาการไอทั้ง 2 ประเภทนี้ ค่อนข้างจะไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอาการภูมิแพ้กำเริบ การระคายเคืองในคอ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น สามารถทำให้เกิดได้ทั้งอาการไอมีเสมหะ และ ไอแห้ง ๆ ได้
ไม่ว่าจะอาการไอแบบนี้ ก็อย่าชะล่าใจปล่อยให้กลายเป็นอาการไอเรื้อรัง เพราะ จะยิ่งทำให้สุขภาพแย่ลง และอาจนำไปสู่โรคมะเร็งได้นั่นเอง
อ้างอิง :
1. www.posttoday.com 2. www.pobpad.com 3. www.pobpad.com 4. hd.co.th 5. books.google.co.th
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife