เบื่อใช่ไหม เมื่อมีอาการไอ ค่อก ๆ แค่ก ๆ ตลอดทั้งวัน แล้วยิ่งมาไอช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด ใคร ๆ ก็กลัว ไม่มีคนอยากอยู่ใกล้ เหงาไปอีก! หลายคนที่มีอาการไอช่วงนี้ก็อยากจะหายไอไวไวด้วยการซื้อยามากินเองบ้าง อ่านจากอินเทอร์เน็ตแล้วซื้อตามบ้าง บางคนก็หาย บางคนกลับเป็นหนักกว่าเดิม เพราะ กินยาผิดนั่นเอง… แล้วเราจะรู้ได้ไงว่า เมื่อมีอาการไอ ควรเลือกใช้ยาแก้ไอยังไงดี ? ตามมาดูคำตอบกันเลย
- ไอมีเสมหะ สีเสมหะ เกิดจากอะไร บ่งบอกโรคอะไร? และวิธีกำจัดเสมหะอย่างได้ผล!
- อาการไอหลังกินข้าว ทั้งไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะ เกิดจากสาเหตุอะไร?
- ไอมีเสมหะ VS ไอแห้ง (ไม่มีเสมหะ) แตกต่างกันอย่างไร?
อาการไอ คืออะไร?
อาการไอ (Cough) เกิดจากการที่มีสิ่งกระตุ้น หรือสารระคายเคืองบริเวณ ทางเดินหายใจส่วนบน และล่าง ทำให้มีการส่งสัญญาณไปที่บริเวณสมองส่วนควบคุมการไอ และส่งสัญญาณมาที่กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อกระบังลม เกิดการตีบแคบของหลอดลม จึงเกิดอาการไอขึ้น ซึ่งเป็นการตอบสนองของร่างกาย เพื่อกำจัดเชื้อโรค เสมหะ และสิ่งแปลกปลอมในระบบทางเดินหายใจ
โดยอาการไอ สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายนอก สารกระตุ้นที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ อากาศแห้ง หรือการหดเกร็งของหลอดลม
อาการไอ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ตามระยะเวลาของการไอ ได้แก่
– อาการไอฉับพลัน จะมีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์ โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด คอหรือกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ การสัมผัสสารระคายเคืองในสิ่งแวดล้อม
– อาการไอเรื้อรัง จะมีระยะเวลาของอาการไอมากกว่า 3 สัปดาห์ โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก หลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหืด โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น
เมื่อที่มีอาการไอ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการไอ เช่น สารเคมี ฝุ่น ควันบุหรี่ มลภาวะทางอากาศ สารก่อความระคายเคือง อากาศเย็น ที่ทำให้หลอดลมเกิดการหดตัว และทำให้มีอาการไอมากขึ้น ควรดื่มน้ำอุ่น และอาจใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการไอ
เมื่อมีอาการไอ ควรเลือกใช้ยาแก้ไอยังไงดี ?
ยาที่ใช้ในการรักษาอาการไอ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
1. ยาลด หรือ ระงับอาการไอ (Cough suppressants or antitussives) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางของสมองที่ควบคุมอาการไอ ทำให้กลไกการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งกระตุ้นลดลง จึงช่วยบรรเทาอาการไอ
ยาชนิดนี้ควรใช้ในผู้ที่ไอแห้ง ไม่มีเสมหะ แต่ไม่ควรใช้ในเด็ก เนื่องจากไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัย และประสิทธิผลที่แน่ชัด รวมถึงไม่ควรใช้ในผู้ที่มีอาการไอแบบมีเสมหะ เนื่องจากฤทธิ์ในการระงับอาการไอ จะทำให้เสมหะเหนียวข้น สามารถเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจจนเกิดอันตรายได้
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น
– เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethophan) สามารถลดอาการไอที่รุนแรงได้ แต่มีผลข้างเคียงหากได้รับยาขนาดสูง คือ อาการง่วงซึม ประสาทหลอน และกดการหายใจ
– โคเดอีน (Codeine) และทิงเจอร์ฝิ่น ที่เป็นส่วนผสมในยาแก้ไอน้ำดำ ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากทำให้เกิดการเสพติดได้ รวมถึงมีผลข้างเคียง คือ ง่วงซึม ปวดท้อง ท้องผูก และกดการหายใจ
2. ยาขับเสมหะ (Expectorants) เป็นยาที่กระตุ้นการขับเสมหะโดยกระตุ้นการทำงานของเยื่อบุในระบบทางเดินหายใจในการกำจัดเสมหะ และเพิ่มปริมาณสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เสมหะมีความเหลวมากขึ้น จึงทำให้ไอเอาเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น ยาชนิดนี้ นิยมใช้ในผู้ที่ไอแบบมีเสมหะข้นเหนียว
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น ไกวเฟนิซิน (Guaifenesin), เทอร์พินไฮเดรต (Terpin hydrate), แอมโนเนียม คลอไรด์ (Ammonium chloride)
3. ยาละลายเสมหะ (Mucolytics) ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์โดยตรงต่อโครงสร้างของเสมหะ เป็นยาที่ออกฤทธิ์เข้าไปย่อยโปรตีน หรือเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ทำลายการรวมตัวกันของโปรตีนที่จับตัวเป็นก้อนเสมหะเหนียวข้น รวมถึงลดแรงตึงผิวของเสมหะ จึงช่วยลดความเหนียวของเสมหะ ทำให้ร่างกายกำจัด หรือขับเสมหะออกได้ง่ายขึ้น ใช้สำหรับบรรเทาอาการไอแบบมีเสมหะ และในบางครั้งมักใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับกลุ่มยาขับเสมหะ
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ที่พบในท้องตลาด เช่น
– คาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine) ออกฤทธิ์โดยการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของเสมหะ ทำให้เสมหะมีลักษณะใสขึ้น พร้อมที่จะถูกกำจัดออกไปได้ และมีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ จึงมักนิยมใช้ในผู้ที่เป็นหลอดลมอักเสบ
– อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) หรือเอ็น-อะเซทิลซิสเทอีน (N-acetylcysteine) ออกฤทธิ์โดยในโครงสร้างของอะเซทิลซิสเทอีน มีหมู่ซัลไฮดริลอิสระที่สามารถสลายพันธะไดซัลไฟด์ของมิวโคโปรตีน ของเสมหะได้ ส่งให้ความข้นหนืดของเสมหะลดลง ส่วนใหญ่พบในรูปแบบแกรนูล หรือเม็ดฟู่ละลายน้ำ
ยาในกลุ่มนี้ได้รับความนิยมมากเนื่องจากมีประสิทธิภาพในการละลายเสมหะดี มีราคาไม่แพง และผลข้างเคียงน้อย มีความปลอดภัยสูงสามารถใช้ได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ 3 แต่ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 เนื่องจากยาจะมีผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์
– บรอมเฮกซีน (Bromhexine) คุณสมบัติช่วยให้เสมหะเหลวลง ทำให้เสมหะที่เหนียวข้น และคั่งค้างอยู่ในหลอดลมถูกขับออกได้ง่าย และเนื่องจากมีความเป็นพิษต่ำ ยาตัวนี้สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์
– แอมบร็อกซอล (Ambroxol) มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับบรอมเฮกซีน ช่วยให้เสมหะเหลวลง ทำให้เสมหะที่เหนียวข้น และคั่งค้างอยู่ในหลอดลมถูกขับออกได้ง่าย ทำให้การหายใจสะดวกขึ้น นิยมใช้ละลายเสมหะในโรคของระบบทางเดินหายใจทั้งชนิดเฉียบพลัน และเรื้อรังที่มีเสมหะเหนียวข้น
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ยาแอมบรอกซอลจัดอยู่ในประเภท B แม้ว่าจะมีความปลอดภัยกับหญิงตังครรภ์ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก หากจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
วิธีดูแลตนเองเมื่อมีอาการไอ
- จิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการไอ และละลายเสมหะ
- เลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการไอมากขึ้น เช่น ฝุ่น มลภาวะ อากาศเย็น ควันบุหรี่
- หากมีอาการไม่รุนแรง สามารถใช้ ยาบรรเทาอาการไอ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 7-8 ชั่วโมง จะช่วยให้อาการไอดีขึ้น
วิธีเลือกยาแก้ไอสำหรับเด็ก
- สำหรับการเลือกใช้ยาบรรเทาอาการไอในเด็ก มักจะเลือกใช้กลุ่มยาละลายเสมหะ เพราะมีความปลอดภัยมากกว่ากลุ่มอื่น และเนื่องจากทางเดินหายใจของเด็กมีขนาดเล็ก และสั้น แตกต่างจากของผู้ใหญ่
- การคั่งค้างของเสมหะอาจทำให้ส่งผลต่อภาวะสุขภาพของเด็กได้อย่างรวดเร็ว และรุนแรงกว่าวัยผู้ใหญ่ โดยอาจมีการใช้ร่วมกับกลุ่มยาขยายหลอดลม กรณีไอจากภาวะหลอดลมหดเกร็ง หรือมีหายใจมีเสียงครืดคราด และกลุ่มยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ง่วงนอน
- กรณีการไอที่เกิดจากภูมิแพ้ โดยควรเลือกยาน้ำที่ปราศจากน้ำตาล และแอลกอฮอล์ มีรสชาติที่เด็กชอบ และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงขนาด วิธีการใช้ยาที่เหมาะสมกับวัย และน้ำหนักตัวของเด็กแต่ละคน
อาการไอไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการของโรค จึงควรมีการหาสาเหตุ เพื่อที่จะได้รับการรักษา และดูแลตามสาเหตุอย่างเหมาะสม
บทความโดย : ดร. ภก. นิติ สันแสนดี อาจารย์พิเศษ ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์สุขภาพ
เอกสารอ้างอิง :
1. Expectorants, in Drug Fact and Comparisons 2017, Wolters, Kluwer Health.:Nevada. p. 1331-1332
2. Antitussives, in Goodman & Gilman’s the Pharmacological Basis of Therapeutics, 12th edition. New York: McGraw-Hill, 2011. p.1057-1058
3. Carbocisteine, in Drug information Handbook, C.F. Lacy, et al., Editor. 24th ed., 2015-2016, Lexi-Comp Inc.: Hudson. p. 357.
4. แนวทางการดูแลรักษาโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก พ.ศ. 2562, ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย