โรคปอดบวมหรือ ปอดอักเสบ เป็นหนึ่งใน 6 โรคที่ สธ.ประกาศเตือนให้ระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงอากาศเย็น และยังเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นโรคที่ค่อนข้างน่ากลัวเลยทีเดียวใช่ไหมล่ะ? ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองต้องห้ามประมาทโรคนี้เลยทีเดียว มาดูกันว่า ปอดอักเสบ มีสาเหตุ อาการ วิธีรักษาอย่างไร
- แพทย์แนะ! วิธีช่วยให้เด็กไอเพื่อระบายเสมหะออก ป้องกันเสมหะลงปอด
- 4 ท่าหายใจ ฟื้นฟูสมรรถภาพปอด สู้โควิด-19 !
- PM2.5 ทำให้เกิด มะเร็งปอด ได้อย่างไร? พร้อมชี้! 8 อาการเตือนมะเร็งปอด
ปอดอักเสบ คืออะไร?
โรคปอดอักเสบ หรือ โรคปอดบวม (pneumonia) คือ การอักเสบของเนื้อปอดซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ อาจเป็นได้ทั้งจากเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุมักอยู่ในน้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย โรคปอดอักเสบอาจเป็นโรคที่เกิดแทรกซ้อนตามหลังไข้หวัด หรือโรคอื่น ๆ ก็ได้
โรคนี้พบบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด มีโรคหัวใจ มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือมีภาวะขาดอาหาร ซึ่งพบว่าในแต่ละปีมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคนทั่วโลก
สาเหตุโรคปอดอักเสบ
สามารถเกิดได้จาก 2 สาเหตุด้วยกัน คือ 1. การติดเชื้อ 2. ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
1. ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ
เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะในหน้าฝน และหน้าหนาว พบได้ทั้งจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือแม้กระทั่งเชื้อรา และพยาธิ แต่ส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น เชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus – RSV), เชื้อไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus), เชื้อโคโรนา (Coronavirus), เชื้ออะดีโนไวรัส (Adenovirus)
ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่เด็กมีโอกาสติด ได้แก่ เชื้อสเตร็ปโตคอสคัส (Streptococcus), เชื้อเชื้อฮีโมฟิลุส (Haemophilus), เชื้อไมโครพลาสม่า (Mycoplasma)
2. ปอดอักเสบจากการไม่ติดเชื้อ
มีสาเหตุมาจาก ฝุ่นPM2.5 ควันธูป ควันบุหรี่ สารเคมีที่ระเหยได้
ปอดอักเสบ มีอาการอย่างไร?
เด็กที่เป็นโรคปอดติดเชื้อ อาจไม่ได้มีอาการไอแห้ง ๆ หรือเป็นไข้ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ และอาจมีอาการของการติดเชื้อที่รุนแรงกว่าได้ อาการที่สำคัญของโรคปอดอักเสบในเด็กส่วนใหญ่ ได้แก่
- หากสังเกตที่บริเวณชายโครงจะเห็นว่าใต้ชายโครงจะบุ๋มเข้าไปเวลาหายใจเข้า และถ้าดูที่จมูกอาจเห็นจมูกบานเวลาหายใจเข้า
- มีไข้ เหงื่อออก หนาวสั่น ระยะเฉียบพลัน
- ถ้าเป็นรุนแรงมาก ริมฝีปากอาจเขียว ซึ่งแปลว่าขาดออกซิเจนแล้ว
- ไอมีเสมหะ
- หายใจเร็ว หายใจหอบ เหนื่อย
- มีอาการท้องอืด อาเจียน ซึม ไม่ดูดนมหรือน้ำ
การรักษา
- ดื่มน้ำมาก ๆ แต่ถ้าหอบมาก จนรับประทานอาหารไม่ได้ ควรให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ป้องกันลูกสำลัก
- ควรให้ออกซิเจน เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณออกซิเจนที่เพียงพอ
- ให้ยาขยายหลอดลม สำหรับรายที่หลอดลมตีบจนเกิดเสียงหายใจวี๊ด
- รับประทาน ยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะ ในกรณีที่ให้สารน้ำเต็มที่แล้วแต่เสมหะยังเหนียวอยู่
- ไม่ควรให้ยาที่ออกฤทธิ์กดการไอ โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี เพราะยาที่กดการไอจะทำให้มีเสมหะคั่งค้างอยู่ภายในถุงลมปอดมากขึ้น ควรให้ไอเพื่อให้เสมหะออกมามากที่สุด
- ทำกายภาพทรวงอก (chest physical therapy) เพื่อช่วยระบายเสมหะให้ถูกขับออกจากปอดและหลอดลมได้ดีขึ้น
- รักษาอื่น ๆ ตามอาการ เช่น รับประทานยาลดไข้
- ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส ยังไม่มียารักษา นอกจากรักษาตามอาการ ยกเว้นเกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ สามารถใช้ยาต้านไวรัสได้
- ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาจรักษาด้วยการใช้ยาปฎิชีวนะ
วิธีป้องกันปอดอักเสบในเด็ก
- ไม่พาลูกไปสถานที่ที่มีคนมาก เช่น ศูนย์การค้า ตลาด สวนสนุก โดยเฉพาะเด็กเล็ก
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ อากาศเย็น ๆ หรือ การใช้แป้งฝุ่นกับเด็ก
- รักษาความสะอาด สุขอนามัย ให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ใช้ช้อนกลางตักอาหาร
- ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ ของเล่น ของที่ลูกต้องสัมผัสเป็นประจำ
- ระวังอากาศเย็น นอนตอนกลางคืน ไม่เปิดแอร์ หรือพัดลมจ่อที่ตัวลูก
- ถ้ามีผู้ใหญ่ป่วยในบ้าน ไม่ควรให้อยู่ใกล้ชิดเด็กเล็ก
ป้องกันปอดอักเสบได้โดยการฉีดวัคซีน
สาเหตุของการเกิดปอดบวมในเด็ก มักเกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งเราสามารถป้องกันการติดเชื้อบางชนิดได้ โดยการให้วัคซีนป้องกันการเกิดปอดอักเสบ เช่น
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่
- วัคซีน IPD
- วัคซีนพื้นฐานตามวัยที่ประกอบด้วย วัคซีนป้องกันโรคไอกรน โรคฮิบ และโรคหัด เป็นต้น
ที่มา: 1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 2. รพ. เวชศาสตร์เขตร้อน 3. รพ. วิภาวดี