ด้วยปัญหามลภาวะ ฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยที่รุนแรงอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะทางภาคเหนือในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีค่า ฝุ่น PM 2.5 สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก สาเหตุจากการลักลอบเผาป่าบนพื้นที่สูงในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และคุณภาพการใช้ชีวิตของประชาชน
เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เล็กขนาดที่ว่าขนจมูกของเราไม่สามารถทำหน้าที่กรองฝุ่นได้ เปรียบเสมือนภัยคุกคามร่างกาย ที่ค่อย ๆ ทำลายระบบทางเดินหายใจ ปอด กระแสเลือด และอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายเรา เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำให้หายใจลำบากบางรายเกิดอาการภูมิแพ้กำเริบ น้ำมูกไหล ไอ จาม ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้อาจทำให้คนรอบข้างรู้สึกไม่สบายใจเมื่อได้อยู่ใกล้ชิด
ดังนั้นเราทุกคนจำเป็นต้องตื่นตัวกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 พร้อมรับมือด้วยการป้องกันตามวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. สวมหน้ากากอนามัยป้องกัน ฝุ่น PM 2.5
การสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะหน้ากาก N95 ที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM 2.5 ได้นั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำเมื่อต้องออกจากบ้าน หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง แต่หากใครไม่มีหน้ากาก N95 ก็ให้ใช้หน้ากากอนามัยธรรมดา พร้อมกับใช้กระดาษทิชชู่ซ้อน 2 ชั้นไว้ด้านในหน้ากาก เพื่อป้องกันฝุ่นอีกชั้นก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ก่อนใส่หน้ากากอนามัยต้องล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด พร้อมดึงสายรัดให้แน่น และกดโครงลวดให้แนบสันจมูกด้วย
2. หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง
หากไม่มีความจำเป็นในการเดินทาง ก็ควรอยู่แต่ในบ้านจะดีกว่า โดยเฉพาะเด็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา และผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งด้วย เนื่องจากการใส่หน้ากากอนามัยออกกำลังกายกลางแจ้ง จะยิ่งเพิ่มอันตรายแก่ชีวิต เนื่องจากจะทำให้หายใจลำบากและอาจหมดสติขณะออกกำลังกายได้นั่นเอง
3. ดูแลรักษาความสะอาดของบ้าน
หมั่นดูแลรักษาความสะอาดภายในบ้านอยู่เสมอ พร้อมปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 และหลีกเลี่ยงการเปิด – ปิดประตูบ้านบ่อย ๆ ด้วย นอกจากนี้ควรมีเครื่องฟอกอากาศ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไว้เพื่อตรวจเช็คค่าฝุ่น PM 2.5 เป็นประจำ
อ่านบทความเพิ่มเติม—> 4 แอปพลิเคชั่นวัดค่าฝุ่นละออง
4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินซี และวิตามินอีสูง มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงจากภายใน นอกจากนี้การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็มีส่วนช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ป่วยง่ายได้เช่นกัน
อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่องวิตามินซี ได้ที่—> ผักผลไม้วิตามินซีสูง เพื่อสุขภาพดีๆ ห่างไกลหวัด
5. ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
เมื่อปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องติดตามข้อมูลข่าวอยู่เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่สุ่มเสี่ยง และการป้องกันตนเองอย่างรัดกุม โดยเราสามารถตรวจสอบค่าฝุ่น PM 2.5 ผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันที่มีผู้ให้บริการจำนวนมากในขณะนี้ได้
6. พบแพทย์เมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติ
เมื่อใดที่รู้สึกไม่สบาย เกิดความผิดปกติทางร่างกายเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจลำบาก เหนื่อย หอบ ซื้อยารับประทานเองแล้วไม่หาย จำเป็นจะต้องพบแพทย์อย่างเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการลุกลามในอนาคตนั่นเอง
แม้เพลิงจากการเผาป่าในพื้นที่หลายส่วนของจังหวัดเชียงใหม่จะเริ่มสงบลงบ้างแล้ว แต่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง บริษัท เกร๊ต อีสเทอร์น ดรั๊ก จำกัด หรือ จีอีดี หนึ่งในบริษัทผู้นำธุรกิจดูแลระบบทางเดินหายใจ ได้ตระหนัก และให้ความสำคัญต่อสุขภาพของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าในครั้งนี้
โดยนายเจริญ วงศ์อริยะกวี ผู้อำนวยการฝ่ายขายของบริษัทฯ ได้เป็นตัวแทนในการมอบยาบรรเทาอาการภูมิแพ้, หน้ากากอนามัย N95, น้ำดื่ม, น้ำเกลือ, ข้าวสาร, ยาทาแผล ฯลฯ ผ่านสำนักป้องกัน ปราบราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยนายศักดิ์ชัย จงกิจวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักฯ เป็นตัวแทนรับมอบ เพื่อส่งต่อไปยังสถานีควบคุมไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ รวมไปถึงมอบสิ่งของเพื่อช่วยเหลือให้กับทีมงานดับไฟป่าที่ อำเภอทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี อีกด้วย
อ้างอิง :
1. ประมวลภาพ พิธีมอบสิ่งของให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
2. ประมวลภาพ พิธีมอบสิ่งของเป็นกำลังใจให้ เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ณ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1
อย่างที่กล่าวไปเมื่อตอนต้นว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 เปรียบเสมือนภัยคุกคามร่างกาย ที่ค่อย ๆ ทำลายร่างกายของเรา ดังนั้นจะดีกว่าไหมหากเราทุกคนช่วยกันรักษาธรรมชาติด้วยการไม่เผาป่า ตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์ และท่อไอเสียอยู่เสมอ ฯลฯ เพื่อยกระดับคุณภาพอากาศให้ดีขึ้นเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของเราเอง