เมื่อพูดถึง ไส้เลื่อน หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า มีแต่คุณผู้ชายเท่านั้นที่ต้องระวัง แต่ความจริงแล้ว ผู้หญิงก็เป็น ไส้เลื่อน ได้เหมือนกัน! แถมถ้าปล่อยทิ้งไว้ ก็อาจจะทำให้ไส้เน่า จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากจะแก้ได้! มารู้จักกับ โรคไส้เลื่อน และอาการเบื้องต้นของโรคนี้กันหน่อยดีว่า จะได้สามารถสังเกตตัวเองได้ ว่าร่างกายของคุณ กำลังส่งญญาณบอกถึงโรคนี้อยู่รึเปล่า
ไส้เลื่อน คืออะไร ?
ไส้เลื่อน หรือ Hernia คือ ภาวะที่ลำไส้เล็กเลื่อนออกมาจากผนังกล้ามเนื้อหน้าท้องที่บอบบาง สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นกว่าปกติ จากการยกของหนัก หรือออกกำลังกาย แรงเบ่งจากภาวะท้องผูก แรงเบ่งขณะปัสสาวะจากโรคต่อมลูกมากโต ไอเรื้อรัง หรือจากการสูบบุหรี่ โดยตำแหน่งของไส้เลื่อนที่พบบ่อย ได้แก่ ขาหนีบ สะดือ และบริเวณแผลผ่าตัด
ไส้เลื่อนมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง ต่างก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไส้เลื่อนด้วยกันทั้งคู่
ไส้เลื่อน เกิดตรงไหนได้บ้าง ?
บริเวณขาหนีบ – เกิดจากความผิดปกติที่ผนังช่องท้องแต่กำเนิด โดยลำไส้ จะเคลื่อนมาติดคาที่บริเวณขาหนีบ หรือถุงอัณฑะ มักมาพร้อมกับอาการปวดหน่วง ๆ หรือปวดแสบปวดร้อน และจะปวดมากยิ่งขึ้น หรือเห็นก้อนนูนได้ชัด หากออกกำลังกาย หรือ ไอ จาม
บริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (inguinal hernia) – เกิดขึ้นได้น้อยกว่าบริเวณขาหนีบ มักปวดบริเวณต้นขา และอาจมีอาการปวดที่ขาหนีบร่วมด้วย
บริเวณสะดือ (Umbilical hernia) – ภาวะที่ลำไส้เคลื่อนตัวออกมาตุงที่บริเวณกลางหน้าท้อง เห็นเป็นก้อนนูนบริเวณสะดือ
บริเวณแผลผ่าตัด – สามารถเกิดขึ้นได้ ในผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดบริเวณช่องท้อง และทำให้ผนังหน้าท้องบางและอ่อนแอ
บริเวณกะบังลม (Hiatal hernia) – พบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย เกิดจาก ผนังกระบังลมหย่อนยาน มีช่องเปิดในกระบังลมแต่กำเนิด ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีโอกาสเกิดภาวะไส้เลื่อนชนิดติดคา และไส้เลื่อนชนิดถูกบีบรัดได้
ไส้เลื่อนตรงหน้าท้อง เหนือสะดือ (Epigastric Hernia) – มีลักษณะเป็นก้อนที่บริเวณหน้าท้องเหนือสะดือ และประมาณ 20% ของผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนเหนือสะดือจะคลำก้อนได้หลายก้อน
อาการไส้เลื่อน เป็นอย่างไร ?
อาการของไส้เลื่อน ที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ รู้สึกมีก้อนตุงบริเวณที่มีลำไส้เคลื่อนตัวออกมา มีอาการเจ็บ โดยเฉพาะเวลาที่ก้มตัว ไอ หรือยกสิ่งของ บางรายอาจมีความผิดปกติที่ช่องท้อง รู้สึก แน่นท้อง หรือปวดแสบปวดร้อน หากมีอาการบริเวณกระบังลม อาจทำให้เกิดภาวะ กรดไหลย้อน เจ็บหน้าอก หรือมีปัญหาในการกลืน แต่ก็มีผู้ที่ไม่มีอาการแสดงใด ๆ นอกจากอาการที่เห็นภายนอกเลยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บ บริเวณที่เป็นไส้เลื่อนอย่างเฉียบพลัน หรือมีอาการหนักขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อาเจียน ท้องผูก มีแก๊สในกระเพาะอาหาร หรือบริเวณที่ไส้เลื่อนออกมาตุง ผนังหน้าท้องแข็ง จนไม่สามารถใช้มือกดบริเวณที่เป็นก้อนลงไปได้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะอาการเหล่านี้ คือสัญญาณเตือนว่า เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงลำไส้ในบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนได้ ทำให้เกิดอาการบวม เสี่ยงต่อภาวะลำไส้ตาย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดด่วนเพื่อรักษาอาการ
โรคไส้เลื่อน เกิดจากอะไร ?
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด ไส้เลื่อน สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น
- ความอ่อนแอของเยื่อบุช่องท้อง หรือกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง ที่เป็นมาแต่กำเนิด, จากอุบัติเหตุ หรือการผ่าตัด
- การยกของหนัก ที่ต้องออกแรงมาก ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น
- แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นจากการตั้งครรภ์
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย เช่น ท้องผูก
- มีของเหลวอยู่ภายในช่องท้อง ที่ก่อให้เกิดแรงดันในช่องท้องมากขึ้น
- การ ไอ หรือ จาม แรง ๆ ที่อาจเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินหายใจ
- มีน้ำหนักเกิน หรือเป็น โรคอ้วน
- มีอาการ ไอเรื้อรัง จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น สูบบุหรี่
- คนในครอบครัวมีประวัติเป็นไส้เลื่อน
การรักษาไส้เลื่อน
ไส้เลื่อนสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด โดยเฉพาะไส้เลื่อนชนิดติดค้าง ที่ควรได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ส่วนไส้เลื่อนชนิดอื่น ๆ อาจมีการใช้ยาเพื่อประคองอาการ ไม่ให้รุนแรงไปกว่าเดิม ระหว่างรอการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อน สามารถทำได้หลายวิธีตามความเหมาะสม เช่น
- การผ่าตัดแบบเปิด เป็นวิธีการผ่าตัดแบบมาตรฐาน โดยแพทย์จะทำการผ่าเปิดบริเวณหน้าท้อง แล้วดันส่วนที่เคลื่อนออกมากลับเข้าไปสู่ตำแหน่งเดิม จากนั้น ใส่วัสดุคล้ายตาข่ายเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับผนังหน้าท้อง เป็นวิธีมาตรฐานที่นิยมใช้
- การผ่าตัดผ่านกล้อง เป็นการผ่าตัดผ่านกล้องด้วยเครื่องมือเฉพาะ แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดมาก ทำให้ฟื้นตัวได้ไว แต่มีข้อเสียคือ ผู้ป่วยอาจกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำที่บริเวณเดิมได้ และมีค่าใช้จ่ายสูง
การป้องกันโรคไส้เลื่อน
ไส้เลื่อนสามารถป้องกันได้ โดยการรักษาระดับแรงดันภายในช่องท้องให้อยู่ในระดับปกติ และลดการเกร็งของกล้ามเนื้อที่บริเวณช่องท้องด้วยการ
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ยกของให้ถูกวิธี ด้วยการย่อตัวลงแล้วหยิบของ โดยพยายามให้หลังตรงอยู่เสมอ
- ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ไม่ให้อ้วนจนเกินไป
- กินอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเป็นประจำ เพื่อลดอาการท้องผูก
- ไม่สูบบุหรี่ เพื่อลดอาการไอ
- ไปพบแพทย์เมื่อมีอาการไอติดต่อกันผิดปกติ
“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี